คอลัมนิสต์

De-Talk : ล้างพิษรัฐประหาร คืนอำนาจประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   เกศินี แตงเขียว

 

 

 

          จากผลของการรัฐประหาร โดย คสช. เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ต่างๆ ตามมา ทั้งการอ้างถึงการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ทั้งภาคการเมือง กระบวนการยุติธรรม สังคม สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนและความพยายามทำให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้ง แต่ระหว่างทางช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบันกว่า 5 ปีแล้ว สังคมยังไม่ได้เห็นภาพการปฏิรูป ประชาธิปไตยที่ชัดเจน โดยประชาชนยังคงมีความสงสัยกับผลพวงรัฐประหารคสช. และตั้งคำถามมาตลอดว่าปฏิรูปนี้เพื่อใคร..?เพื่อสืบทอดอำนาจต่อ?? หรือคืนอำนาจอธิปไตยแท้จริงให้ประชาชนผ่านกระบวนการประชาธิปไตยต่างๆ อย่างที่ควรมี ซึ่งระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นประชาชนยังต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางความคิด การกระทำเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยภาคประชาชน

 

 

          ในเวที “De-Talk : ล้างพิษรัฐประหาร ทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน” ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “สุณัย ผาสุข” จากฮิวแมนไรท์ วอทช์  ได้สะท้อนถึงข้อกังวลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากความเห็นต่างทางการเมืองกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยและลี้ภัยออกนอกประเทศอย่างเต็มตัวหลังการรัฐประหารเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนักหนากว่าเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะครั้งนั้นในที่สุดยังมีทางออกที่ทำให้คนไทยที่เคยเป็นผู้ลี้ภัยกลับบ้านได้ แต่ครั้งนี้หลังรัฐประหาร คสช.มา 5 ปีแล้ว ก็มีข้อกังวลว่า..


          1.เรายังไม่เห็นทางออกเลยว่าประเทศจะกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้อีกครั้งเมื่อไร
          2.เรื่องของการกดขี่บั่นทอนสิทธิเสรีภาพ คิดได้แต่พูดไม่ได้ หรือคิดได้ พูดแล้ว ทำแล้ว กลายเป็นอาชญากรรมถูกดำเนินคดี ซึ่งยังไม่มีวี่แววจะสิ้นสุดเมื่อใด คำสั่งต่างๆ ที่ออกภายใต้มาตรา 44 จนถึงทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะมีคำสั่งใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะถูกถอนบ้าง แล้วถ้าจะถอน จะถอนในลักษณะไหน สิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการต่อยอด’–‘เผด็จการแปลงร่าง’ ยังสืบทอดต่อไป โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ มองว่านี่คือสถานการณ์วิกฤติของสิทธิมนุษยชนที่หาทางออกไม่เจอ เราจึงไม่รู้คนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยจะกลับบ้านได้อีกเมื่อไร

 


             3.เมื่อออกไปนอกประเทศแล้วก็ยังไม่ปลอดภัย นี่เป็นความแตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ครั้งนี้ออกนอกประเทศแล้วยังถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ในลาว 5 กรณี ในเวียดนามอีก 3 กรณี ทั้งหมดไม่มีคำตอบว่าใครเป็นผู้กระทำ เมื่อไม่มีคำตอบเราจึงไม่สามารถหาทางป้องกันได้ ตอนนี้เป็นว่าถ้าหนีลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ รอบบ้านไทย ไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับว่าตอนนี้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการที่จะทำให้คนเห็นต่างทางการเมืองไม่สามารถลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกต่อไป มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนกันว่าถ้ามีฝ่ายต่อต้านของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเข้าในไทย ไทยก็จะส่งกลับให้


          และในทางกลับกันหากคนไทยลี้ภัยไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่สามารถหาความคุ้มครองในประเทศเหล่านั้นได้ต้องลี้ภัยไปในประเทศที่ไกลกว่านั้น เช่น ประเทศตะวันตกซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา นี่ก็จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อไปว่าสิ่งที่บอกว่าไทยเป็นประธานอาเซียนในวาระหมุนเวียนปีนี้ กลายเป็นว่าไทยเป็นประธานอาเซียนในยุคที่อาเซียนไม่ให้ความคุ้มครองกับคนเห็นต่างทางการเมือง คนที่เป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลแต่ละประเทศในอาเซียนอีกต่อไป จึงเป็นสภาวะของการเป็นผู้นำอาเซียนที่ไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจในเชิงสิทธิมนุษยชนในเชิงการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศเลย แล้วนานาชาติจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งนานาชาติรวมทั้งประเทศไทยมีพันธกรณีในการห้ามไม่ให้ส่งตัวบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าไทยกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ไม่ได้เคารพกติกาข้อนี้เลยมีการกักตัวแลกเปลี่ยนคนเห็นต่างที่มาลี้ภัยโดยตลอด


          “ดังนั้นสิ่งที่เหลืออยู่เราหวังว่ามิตรประเทศที่เขาเคารพกติกาสิทธิมนุษยชนจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคนไทยที่พยายามจะขอลี้ภัยให้เขาสามารถออกจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยไปยังประเทศอื่นที่ไกลกว่า มีความปลอดภัยมากกว่าได้ กลไกของสหประชาชาติไม่ว่าจะเป็นสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ UNOHCHR จะยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการนำพาคนไทยให้รอดพ้นการประหัตประหาร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคนไทยซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยเราอยากให้เขาสามารถกลับเมืองไทยได้ นี่จึงเป็นที่มาของ De-Talk ถอนพิษ ล้างพิษจากปกครองที่ริดลอดสิทธิเสรีภาพ การปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการไล่ล่าคนเห็นต่างเราต้องล้างพิษนี้ให้ได้เพื่อจะนำพาผู้ลี้ภัยกลับมาประเทศไทย และทำให้คนไทยแสดงออกซึ่งสิ่งที่เขาคิด ออกมาเป็นการกระทำได้โดยที่ไม่ถูกหาว่าเป็นอาชญากรรมอีกต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ของการเกิดผู้ลี้ภัยซ้ำแล้วซ้ำอีก”
  

          ขณะที่ “เก่งกิจ กิติเรียงลาภ” อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้พูดถึงนายสยาม ธีรวุฒิ อดีตนักกิจกรรมการเมืองที่ลี้ภัยไปใช้ชีวิตประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2557 หลังรัฐประหาร จนปัจจุบันสูญหายยังไม่ทราบชะตากรรม ว่าทราบว่านายสยามหนีไปแบบที่หลายคนหนีไปช่วงหลังการรัฐประหาร และมารู้เรื่องราวอีกทีก็เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า เขาถูกจับระหว่างเดินทางเข้าประเทศเวียดนาม และถูกส่งกลับไทยในวันที่ 8 พฤษภาคม แต่จนบัดนี้เราทุกคนก็ไม่รู้ว่าเขาหายไปไหน


          “แน่นอนว่า สยามไม่ได้อยากจะหายไป ไม่ได้อยากจะหนี แต่เพราะผู้มีอำนาจในประเทศนี้ตัดสินไปแล้วว่าเขาเป็นภัย ผมนึกสงสัยมากๆ ว่าเพราะเหตุใดลูกชายของช่างแอร์ที่มีความตลก มีความรักมีความฝันต้องจบชีวิตลงแบบนี้ หรือสังคมนี้ไม่ต้องการคนที่มีความฝันและคนที่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับผมสังคมที่ดี คือสังคมที่ทำให้เรามีความฝันได้ แต่สังคมที่จะทำให้เรามีความฝันได้ก็ต้องเป็นสังคมที่อยู่บนเสรีภาพ โดยการมีชีวิตอยู่กับการมีเสรีภาพ ในทางรัฐศาสตร์หากสังคมหรือระบอบการเมืองใดไม่สามารถอดทนหรือปรับตัว ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากข้อเรียกร้องของสมาชิกในสังคมได้ก็สะท้อนว่าสังคมการเมืองนั้นเจ็บป่วย ผู้ลี้ภัย การอุ้มหาย และการจับกุมด้วยคดีทางการเมือง รวมถึงการทำร้ายร่างกายของ “จ่านิว” ช่วงที่ผ่านมา คืออาการป่วยไข้ของสังคม ก็ต้องหาความจริงกันว่า “สยาม” อยู่ที่ไหนและใครทำให้เขาหายไป แล้วทำไมพวกเขาถึงต้องทำให้ “สยาม” หายไป ก็คือจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งของการแก้อาการป่วยไข้ของสังคมที่มีพิษ"


          "ยิ่งชีพ อัฌชานนท์” ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า เรื่องคนหายมีเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมี 8 คนที่ยังไม่ทราบชะตากรรม คือ เบียร์ ดีเจนักจัดรายการวิทยุ, โกตี๋, สุรชัย แซ่ด่าน, สหายพงษ์ชนะ, สหายกาสลอง ซึ่งสหาย 2 คนสุดท้ายพบศพที่แม่น้ำโขงยืนยันเป็นทางการแล้ว, ชูชีพ ลุงสนามหลวง, สหายบังบลัด และสยาม ทั้ง 3 คนนี้ก็ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการจากประเทศไหนเลยว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ก็ยังต้องเรียกร้องต่อไป ขั้นต่ำที่สุด คือให้รู้ก่อนว่าชะตากรรมเป็นอย่างไร ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่


          ด้าน “อนุสรณ์ อุณโณ” อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้กล่าวถึง มหาวิทยาลัยหรือค่ายทหารว่า ทางทฤษฎีสังคมศาสตร์ ลักษณะความเป็นระเบียบมหาวิทยาลัยกับค่ายทหารอาจคล้ายกัน ส่วนสังคมไทยในความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยกับค่ายทหาร มีความสัมพันธ์เรื่องที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิต มากกว่านั้น เพราะหากย้อนไปดูหลังรัฐประหารปี 2557 จะเห็นสภาวะการสิ้นสุดลงของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน สิ้นสุดขบวนการมวลชนจัดตั้ง บรรดาแกนนำทั้งหลายก็ถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติ บางส่วนก็ถอยร่น บางส่วนก็อพยพลี้ภัยไปต่างประเทศ ในแง่นี้มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นพื้นที่สุดท้ายในสังคมที่ผู้คนสามารถมารวมตัวกันแสดงถึงสภาวะใดที่คับข้อง ขุ่นเคือง การแสดงออกทางความคิดที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมือง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงเป็นที่ถูกจับตาของฝ่ายทหารพยายามจะเข้ามาจัดการคล้ายๆ กับค่ายทหารมากขึ้น เมื่อตกเป็นเป้าสายตาของทหาร หรือ คสช. ในการกดปราบ ไม่ให้กระด้างกระเดื่อง จนนักวิชาการจำนวนหนึ่งถูกเรียกไปปรับทัศนคติ และการแทรกแซงการสัมมนาทางวิชาการ โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจะถูกส่งสัญญาณมาจนสุดท้ายต้องยกเลิกสัมมนาไป
   

          “ใน ม.ธรรมศาสตร์เอง ก็ต้องมีขออนุญาต สกรีนตั้งแต่หัวข้อ เราถูกขีดเส้นภายใต้กองทัพจนเราผ่าทางตันในการตั้งหัวข้อ กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่รัฐประหาร แต่แม้มหาวิทยาลัยจะถูกมองเป็นเหมือนหอกข้างแคร่แต่ก็ไม่สามารถปิดสถานบันการศึกษาได้ แต่ก็มีความพยายามแทรกหลักสูตรการศึกษากดดัน หรือการขอความร่วมมือแกมบังคับในการจัดกิจกรรม และเขายังพยายามจะกำกับ ควบคุมการผลิตความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย”
  

          ขณะที่ “สฤณี อาชวานันทกุล” นักเขียนอิสระ ก็ร่วมพูดถึงอำนาจนิยม รัฐราชการกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการทำวิจัยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าประเทศไทยพบความท้าทายหลายด้าน โดยความเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนจะรับมือได้ต้องเป็นสังคมที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ และในสังคมไทยที่เป็นพหุนิยม ก็ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนความกังวล
   

          ด้านภาคประชาชน “สุภาภรณ์ มาลัยลอย” มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้พูดถึงสิทธิชุมชนกับการแย่งชิงทรัพยากร ประเด็นสิทธิในทรัพยากรถ้าประชาชนสามารถกำหนดเองได้คงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาคือทุกสิ่งล้วนกำหนดโดยรัฐบาลส่วนกลาง และเราอยู่ในรัฐบาลที่มองเห็นเม็ดเงินที่เพิ่มพูนของประเทศนี้สำคัญกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นทรัพยากรส่วนใหญ่จึงมักถูกจัดสรรให้เกิดการลงทุนและเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งอุตสาหกรรม หรือเกษตรก็จะเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งก็ต้องใช้น้ำ-ที่ดินจำนวนมากและอาจเสี่ยงต่อการก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เสมือน คสช. แย่งชิงที่ดินประชาชนไปให้นายทุน ที่มีนโยบายให้รัฐนำที่ดินให้เอกชนลงทุนเช่าได้ถึง 99 ปี


          ส่วน ณัชปกร นามเมือง จาก iLaw ยังมองเห็นถึงพิษกลายพันธุ์ในประเด็นการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งและสิทธิเสรีภาพที่ถูกลิดรอนด้วย
  

          ขณะที่ “พูนสุข พูนสุขเจริญ” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่รับผิดชอบคดีการเมือง ได้กล่าวถึงประเด็นทำไมต้องจัดการกับผลพวงรัฐประหาร ฟื้นฟูศักดิ์ศรีประชาชนว่า 5 ปีที่แล้วเมื่อประกาศยึดอำนาจ แล้วมีคนออกมาชุมนุมหน้าหอศิลป์ มีคนถูกจับ 5 คน เราได้ช่วยเหลือเป็นทนายความ แต่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการควบคุมตัวได้ในช่วงแรก ที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ ขณะที่ช่วงที่มี สนช. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคสช. ก็มีการออกกฎหมาย 444 ฉบับทั้งผังเมือง-สิ่งแวดล้อม ในเวลา 5 ปี เทียบเฉลี่ยเวลา 1 ปีออกกว่า 100 ฉบับ แล้วเวลาเฉลี่ยพิจารณาออกกฎหมายก็ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น ถึงแม้จะอ้างความหวังดีแต่การออกกฎหมายควรต้องพิจารณารอบคอบใช้เวลาที่มากกว่าส่วนเฉลี่ยนี้ เพราะกฎหมายที่ออกมายังอาจต้องใช้กันไปอีกยาวนานกว่า 10, 20 ปี หรือเหมือนพ.ร.บ.กฎอัยการศึกที่ออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2457 ใช้นานสูงถึง 105 ปี มาแล้ว ดังนั้นถ้าเราไม่จัดการกับกฎหมายที่ออกมาโดยไม่รอบคอบก็จะฝังอยู่ในสังคมต่อไป โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรามีข้อเสนอ 5 ประเด็นในการจัดผลพวงการรัฐประหาร 5 ประเด็น คือ เรื่องการจำกัดอำนาจกองทัพ, เสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การลบล้างผลพวงคำพิพากษาที่ละเมิดสิทธิประชาชน, การจัดการกฎหมายและประกาศคำสั่ง คสช., การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการลิดรอนสิทธิ 5 ปีที่ผ่านมา
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ