คอลัมนิสต์

ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  รู้ลึกกับจุฬาฯ   โดย...  อาจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ

 

 

 

          ความรุนแรงในสังคมไทยอันสืบเนื่องจากความเกลียดชังเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบริบททางการเมืองที่นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างประสบกับการถูกคุกคามทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนบนพื้นที่ออนไลน์

 

 

          ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมทางการเมืองที่ตรวจสอบ คสช. และเรียกร้องการเลือกตั้ง ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เป็นข่าวใหญ่ที่กระตุกให้สังคมต้องกลับมาฉุกคิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่คนเห็นต่างต้องมาเป็นเหยื่อของการประทุษร้ายที่ไร้มนุษยธรรม


          จากข้อมูลของ ILaw ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนเคลื่อนไหวด้านสิทธิเสรีภาพ กรณีของจ่านิวเป็นการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองครั้งที่ 15 ในรอบ 18 เดือน ก่อนหน้านี้ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมอีกคนก็ถูกทำร้าย คุกคาม และทรัพย์สินถูกทำลาย รวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง


          ทว่าสาธารณชนจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาที่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ประสบ เพราะสื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่งละเลยที่จะไม่นำเสนอข่าวเนื่องจากอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมือง ซ้ำร้ายสื่อบางสำนักกลับเสี้ยมให้เกิดความเกลียดชังผู้ที่เป็นตัวแทนขั้วตรงข้ามมากขึ้นด้วยข้อมูลที่มีอคติและไม่ได้ยึดโยงกับข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัดแทบจะไม่ได้ต่างจากการแลกเปลี่ยนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้คนในกลุ่มต่างขั้วบางคนแสดงความเห็นกันอย่างรุนแรงสุดโต่ง


          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดเวทีเสวนา “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย” โดยเชิญนักสิทธิมนุษยชน นักวิชาชีพและวิชาการสื่อสารมวลชนและนักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี มาร่วมวิเคราะห์ปมความเกลียดชังและความรุนแรงทางการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญและเสนอแนะแนวทางคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง




          ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ความเกลียดชังแทรกซึมและแผ่ขยายไปยังทุกอณูของสังคมไทยจนสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการกับความเห็นต่างทางการเมืองว่าสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ยืดเยื้อและตั้งอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียม


          ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเหมือนติดกับดัก เมื่อมองไม่เห็นทางออกและไม่สามารถคลี่คลายบางกรณีก็ลุกลามไปจนถึงขั้นแสดง “ความป่าเถื่อน” ด้วยการข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง และหลายครั้งสื่อมวลชนก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการโหมกระพือไฟแห่งความเกลียดชังจนสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง


          “ปรากฏการณ์แบบนี้ทำให้ดูเสมือนว่าสถาบันต่างๆ ในสังคมโดยเฉพาะสื่อและสมาชิกของสังคมบางกลุ่มกำลัง “เทยาพิษใส่บ้านตัวเอง” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
  

          ขณะเดียวกัน รศ.ดร.ฉันทนา บรรพสิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และกรรมการผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนมุมมองว่า การทำร้ายผู้เห็นต่างและการมี “ใบอนุญาตให้ทำร้าย” คนที่น่ารังเกียจในสังคมเป็นเพราะทนไม่ได้กับมุมมองที่ต่างจากตนหรือต่างจากมาตรฐานในสังคม


          “มันเป็นผลจากมายาคติหรือจินตนาการที่ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคงและกำลังสูญเสียสิ่งที่คุ้นเคยหรือสถาบันที่เชื่อถือ จนรู้สึกถูกคุกคาม หวาดระแวง วิตก และนำไปสู่ความโกรธและความเกลียดชังจนถึงขั้นต้องปะทะคารมหรือลงไม้ลงมือกัน” รศ.ดร. ฉันทนา ตั้งข้อสังเกต


          ในอีกมุมมอง วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักสื่อสารมวลชนมากประสบการณ์ อดีตผู้บริหารฝ่ายข่าวขององค์กรสื่อสาธารณะและสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ชี้ว่าในความขัดแย้ง ถ้าสื่อมวลชนไม่ “พูดความจริง” ก็จะ “ฆ่าความจริง”


          ทว่าท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมืองและธุรกิจสื่อที่ซบเซา แม้นักสื่อสารมวลชนจะพยายาม “พูดความจริง” ด้วยการแสวงหาและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฝ่ายต่างๆ แต่หลายครั้งก็เผชิญกับเงื่อนไขและอุปสรรคในระดับองค์กร นักวิชาชีพจึงไม่สามารถทำความจริงให้ปรากฏอย่างที่ตั้งใจได้ ขณะที่สื่อบางสำนักก็เลือกที่จะ “ฆ่า” ความจริงเนื่องจากมีวาระทางการเมืองและผลประโยชน์ที่ต้องการผลักดัน


          “ข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอส่วนใหญ่เน้นความหวือหวา ขาดการตั้งคำถาม และเป็นเรื่องผิวเผิน สังคมจึงขาดแคลนข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจกับปัญหาที่ซับซ้อน หรือไม่สามารถสร้างกระบวนการที่โปร่งใสและยุติธรรมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดรับชอบได้” คุณวันชัย กล่าว


          ขณะเดียวกันโลกออนไลน์ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สะท้อนว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างยึดมั่นในชุดข้อมูลและความเชื่อของตนจนหลายครั้งก็ไม่สามารถสื่อสารอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ โดยเฉพาะกับคนที่มีมุมมองต่างกัน


          ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าถึงประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นที่สังคมยังคงโกรธแค้น หวาดกลัว หรือเข้าใจว่าคุกคามความปลอดภัยของตน เช่น การยกเลิกโทษประหาร การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา หรือการยุติการใช้ความรุนแรงกับนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างทางการเมือง ว่าองค์กรมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงถูกข่มขู่คุกคามโดยเฉพาะบนพื้นที่ออนไลน์ด้วยถ้อยคำและท่าทีที่รุนแรง แม้เรื่องเหล่านี้จะตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องมนุษยธรรมและเสรีภาพการแสดงออกซึ่งเป็นหลักการสากลและควรได้รับการปกป้องคุ้มครองก็ตาม


          นอกจากนี้พื้นที่ออนไลน์ยังเอื้อให้ผู้คนแสดงออกด้วยความรุนแรงและรังแกกันได้ง่ายเพราะไม่ต้องเจอกันซึ่งหน้า เมื่อไม่ได้มองหน้าจ้องตากัน ก็ไม่จำเป็นต้องเห็น “ความเป็นมนุษย์” ของคนที่สื่อสารด้วยหรือผู้ที่ถูกพูดถึง เมื่อไม่ได้สัมผัสถึงความซับซ้อนของมนุษย์และมิติอื่นๆ ของคนเหล่านั้นว่าเป็นลูกหลานของใครหรือเขามีพฤติกรรมอย่างไรในบริบทอื่น ก็สามารถตัดสินว่า “เกลียด” ได้ทันที ทั้งยังส่งความเกลียดต่อผ่านกันได้ หากคนเหล่านั้นถูกเหมาว่าเป็นพวกเดียวกับผู้ที่ตนไม่ชอบอยู่แล้ว


          แล้วเราจะช่วยให้สังคมก้าวออกจากกับดักของความขัดแย้งแบบแบ่งขั้วได้อย่างไร


          นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยกตัวอย่างการพัฒนาแนวทางคุ้มครองป้องกันพลเรือนโดยปราศจากการใช้อาวุธและความรุนแรงเพื่อรับรองความปลอดภัยของประชาชนในภาวะความขัดแย้งและวิกฤติ ซึ่งรัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนอาจเป็นเจ้าภาพด้วยการเป็นพื้นที่กลางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆ ได้สร้างฉันทามติว่าความรุนแรงเป็นสิ่งสังคมที่รับไม่ได้ โดยเฉพาะต่อผู้ที่เคลื่อนไหวอย่างสันติ และสนทนาหาจุดร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้งต่อไป


          นอกจากการมีพื้นที่ในการสื่อสารข้อเท็จจริงที่รอบด้านและความเห็นต่างโดยไม่ถูกปิดกั้น ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังชี้ว่า “การปฏิบัติต่อกันอย่างมีมารยาทในฐานะที่เป็นมนุษย์” (decency) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการคำนึงถึงทุกอย่างในกรอบของการใช้สิทธิเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เปราะบางและซับซ้อน โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เผชิญกับความขัดแย้งยืดเยื้อ


          ขณะที่ รศ.ดร.ฉันทนา ย้ำถึงบทบาทของผู้นำในการสร้างความไว้วางใจในระบบและกลไกของรัฐ เมื่อมีการทำร้ายอันเป็นเหตุจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ต้องทำให้เห็นว่ามีกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในกลไกการรักษาความปลอดภัยของรัฐ ไม่ใช่ระแวงสงสัยและรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม จนนำไปสู่การตั้งศาลเตี้ยเพื่อจัดการกับสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง


          คนในสังคมต้องฝึกความอดทนอดกลั้นต่อความเชื่อและความเห็นต่างด้วยการให้คุณค่ากับเสรีภาพในการแสดงออกและมนุษยธรรมกับทุกฝ่าย โดยมีพื้นที่ในการแสดงออกเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ติดตามสถานการณ์และแสวงหาองค์ความรู้ในการคลี่คลายความขัดแย้ง


          สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของวันชัยต่อสถาบันสื่อที่ว่า ควรขยายพื้นที่สื่อให้ “คนกลางๆ” หรือผู้ที่ไม่เห็นพ้องกับจุดยืนของขั้วใดขั้วหนึ่งไปทุกประเด็นได้ส่งเสียงบ้าง ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมทั้งย้ำว่าความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ตรวจสอบและแสวงหาความจริงจะเป็นภูมิคุ้มกันให้สื่อมวลชน เมื่อองค์กรสื่อที่ยึดในอุดมการณ์วิชาชีพได้รับความน่าเชื่อถือก็จะส่งผลให้ “สื่อปลอม” หรือสื่อที่นำเสนอข่าวลวงเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรหรือกลุ่มอิทธิพล ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณะและค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปทั้งในจำนวนและผลกระทบ


          ขณะที่ปิยนุช ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ สรุปว่า เสรีภาพในการแสดงออกจำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจกับความขัดแย้ง เมื่อผู้คนเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่นก็จะมองเห็นเขาเป็นเพื่อนมนุษย์และตระหนักว่าต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกัน


          ประเด็นสำคัญที่วิทยากรมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน คือการป้องกันไม่ให้เกิด “ใบอนุญาตในการทำร้าย” รวมถึงการสร้างบรรยากาศที่คนในสังคมไม่รู้สึกถูกคุกคาม สามารถแสดงความเห็นและวิจารณ์กันได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ