คอลัมนิสต์

เร่งสร้างวินัยสังคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562

 

 

          มีความเห็นเรื่องการเพิ่มโทษทางอาญา กับผู้ทำผิดกฎหมายจราจรโดยเฉพาะคดีเมาแล้วขับ จากนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อันน่าจะเป็นอีกแนวคิดหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาเสาะหามาตรการต่างๆ เพื่อลดคดีเมาแล้วขับ หรือคดีจราจรอื่นๆ หลังจากที่มีข้อเสนอจากสังคมมาอย่างต่อเนื่องให้ลงโทษสถานหนัก ไม่รอการลงโทษ และลุกลามไปถึงคำชี้แนะให้พนักงานสอบสวนเพิ่มโทษฐานฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่น สืบเนื่องจากกรณี “เสี่ยเบนซ์” ขับรถชนประสานงากับรถของนายตำรวจกองปราบปราม เป็นเหตุให้ฝ่ายหลังเสียชีวิตพร้อมภรรยา สร้างความสูญเสียให้แก่ครอบครัวของนายตำรวจอย่างใหญ่หลวง ขณะที่กระแสสังคมก็เรียกร้องให้ทบทวนกฎหมายจราจรในคดีเมาขับ

 

 

          เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมองว่า การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แก้ด้วยการเพิ่มโทษ เพราะไม่ใช่ทางออกทางอาชญาวิทยา แต่ต้องสร้างการรับรู้ของสังคมให้ช่วยกันรณรงค์ป้องกัน ต้องทำแบบบูรณาการ ตั้งแต่ครอบครัว สถานศึกษา ทุกองคาพยพในสังคมต้องช่วยกัน ต้องสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติตามกฎหมายที่ดี ซึ่งดีกว่าการลงโทษที่รุนแรง สำหรับข้อเสนอไม่ให้ใช้การรอลงอาญากับคดีเมาแล้วขับนั้น นายสราวุธเห็นว่า การรอลงอาญาเป็นช่องทางหนึ่งซึ่งเห็นว่า การจำคุกระยะสั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร แทนที่จะให้เขากลับตัวเป็นคนดีและเยียวยาชดใช้ให้สังคม กับการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี กลไกกฎหมายเรื่องการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 มีไว้เพื่อสร้างความสมดุลในการพิจารณาแต่ละเรื่อง ไม่สามารถลงโทษตามกระแสหรือความสะใจของแต่ละคน

 

          คำว่า กระแสกับความสะใจของแต่ละคนนั้น จะสังเกตได้ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในยุคสังคมออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล และแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวางไร้ขีดจำกัด บ่อยครั้งเมื่อเกิดคดีขึ้น ก็จะเกิดกระแสถาโถมโหมใส่ ถึงระดับที่เรียกว่าไวรัลเลยก็มี ไม่เฉพาะแต่กรณีเมาแล้วขับเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงคดีอาญาอื่นๆ ที่สังคมสะเทือนใจ ก็จะเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง เช่นคดีข่มขืน ที่มีผู้เสนอให้ลงโทษประหารชีวิต คดีอาญาบางคดี สังคมรู้สึกว่า ศาลตัดสินเบาเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของ “อารมณ์” มากกว่าหลักการและเหตุผลทางกฎหมายอาญาทั้งสิ้น ตัวอย่างที่มีให้เห็นว่า การลงโทษรุนแรงไม่ได้ทำให้คนจะทำผิดหวาดกลัวก็คือคดียาเสพติด ที่แม้จะมีโทษประหาร การลงโทษจะไม่ได้รับลดหย่อนใดๆ แต่สถิติทางคดีก็ไม่ได้ลดลง

 

          ความผิดเมาแล้วขับ และปัญหาวินัยจราจรของคนไทย เป็นเรื่องเรื้อรังทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน เหตุผลก็คือ สังคมไม่ได้ฝึกฝนผู้คนให้เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา และแม้กระทั่งกฎหมายที่มีบทลงโทษ การเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีอย่างเช่นที่เลขาธิการศาลฯ ว่าไว้ แต่อย่างไร สังคมไทยก็ต้องเอาชนะปัญหานี้ให้ได้ จึงขึ้นกับว่า จะเริ่มต้นอย่างไรมากกว่า การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการแก้แค้นเอาคืน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ผู้มีหน้าที่ “ชำระแค้น” ให้แก่ผู้เสียหายก็คือ การลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แต่ก็เป็นไปตามหลักกฎหมายและความเหมาะสมกับความผิด ไม่ใช่สนองหรือเอนเอียงไปตามกระแส เมื่อชัดเจนว่า การเพิ่มโทษไม่ได้ช่วยอะไร จึงควรพิจารณาว่า จะสร้างวัฒนธรรมและกระบวนการเรียนรู้เพื่อไปสู่ชาติที่มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดได้อย่างไร นี่คือโจทย์ยากอีกข้อหนึ่งของการปฏิรูปด้านสังคม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ