คอลัมนิสต์

ดูแลแหล่งน้ำ แก้ปัญหา "ผักตบชวา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 


          วลี “เก็บผักตบคนละ 3 ต้น” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏขึ้นเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ระหว่างเป็นประธานเปิดงาน “สร้างรู้สื่อสาร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562”

 

 

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ฤดูร้อนปีนี้เขื่อนมีปริมาณน้ำน้อยอยู่ในขั้นวิกฤติ ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนฤดูน้ำหลากก็ต้องเตรียมตัวก่อนที่น้ำจะมาทำลายสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่นผักตบชวาควรกำจัดออกเสีย ประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งควรช่วยกันเก็บคนละ 3 ต้น ไม่ต้องรอเงินจากภาครัฐ


          ต่อประเด็นนี้ อาจารย์ ดร.กัลยา สุนทรวงศ์สกุล จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าการดึงผักตบชวาออก 3 ต้น ไม่น่าจะกระทำได้โดยง่าย เพราะผักตบชวามีลักษณะเป็นแพพืชขนาดใหญ่ รากเกาะเกี่ยวกัน และดูดน้ำไว้ภายใน มีน้ำหนักมาก โดยปกติจะใช้เครื่องจักรในการกำจัด


          “ที่นายกฯ พูดให้ดึงออกคนละ 3 ต้น ไม่น่าจะดึงได้หรอก ผักตบมันหนักเป็นสิบๆ ตัน แถมรากดูดน้ำมาก ต้องใช้เครื่องจักร รถแม็คโครตักขึ้นมา ที่นายกฯ พูดถูกคือในแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่นเขื่อน จะมีผักตบชวาเยอะมาก”


          ทั้งนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของผักตบชวาเป็นปัญหาที่มีมาในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนาน ตามประวัติดั้งเดิมของผักตบชวาระบุว่า ถูกนำเข้าจากเกาะชวาเมื่อปี 2444 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการแพร่พันธุ์จนต้องเอาไปปล่อยในแม่น้ำลำคลองต่างๆ

 



          ปัญหาผักตบชวามีระบุไว้ชัดเจนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 แสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีมามากว่าหนึ่งร้อยปี สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2520


          อย่างไรก็ดี ปัญหาผักตบชวาไปไกลกว่าแค่เรื่องทัศนียภาพ เมื่อสังคมเมืองเริ่มพบกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งสันนิษฐานว่าผักตบชวาเป็นตัวการในการกีดขวางลำน้ำ


          “ที่เราจะเห็นกันชัดคือลำน้ำไหนที่มีความนิ่ง น้ำไม่ไหล ไม่มีคนใช้เส้นทางน้ำนั้นสัญจรไปมา ก็จะเห็นผักตบชวาเยอะ คลองแสนแสบที่มีเรือเยอะแทบไม่มีผักตบชวาเลย แสดงว่าถ้าลำน้ำเส้นไหนมีการใช้งาน ก็จะมีการดูแลรักษา ไม่มีผักตบชวา”


          อาจารย์กัลยาอธิบายว่า ปัญหาน้ำท่วมโดยมีสาเหตุมาจากผักตบชวาเข้าไปอุดตันทางไหลของน้ำ หรือทางระบายน้ำในเส้นทางน้ำเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพื้นที่รองรับน้ำตื้นเขิน ขยะที่อุดตันท่อระบายน้ำ ฯลฯ


          มิหนำซ้ำ สภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้การใช้เส้นทางจราจรทางน้ำลดน้อยลง คนไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองไม่ได้มีความผูกพันกับการใช้แหล่งน้ำเช่นในอดีต ก็มีส่วนทำให้การอนุรักษ์แหล่งน้ำหายไปด้วย


          “ถ้าเราตั้งวัตถุประสงค์การใช้แหล่งน้ำใหม่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น ชาวบ้านในชนบทเขามีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ผักตบชวาก็จะไม่ได้เป็นปัญหาเลย เพราะชาวบ้านเขาก็จะกำจัดกันเองอยู่แล้ว อาจารย์อยากเปรียบเทียบว่าผักตบชวามันก็เหมือนหญ้า เป็นวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำ ถ้ามีก็ถอนหญ้าออก”


          ทั้งนี้ อาจารย์กัลยาชี้ว่าการกำจัดผักตบชวาแบบรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประหยัดและไม่ก่อให้เกิดสารพิษคือการเก็บผักขึ้นมาจากน้ำแล้วนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบต่างๆ เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก หรือแปรรูปเป็นภาชนะ วัสดุต่างๆ เป็นต้น


          การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าคือการสร้างทัศนคติและจิตสำนึกให้ชาวบ้าน คนในชุมชนใกล้แหล่งน้ำนั้นๆ มีจิตสำนึกรักและร่วมมือกันดูแลแหล่งน้ำ จะช่วยลดปัญหาผักตบชวาได้


          เนื่องจากจิตสำนึกและวิถีชีวิตของคนไทยยุคปัจจุบันแยกระหว่างน้ำและบกชัดเจน ส่งผลให้การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำลำคลอง ของคนในเมืองเลือนหายไป กลายเป็นการโยนภาระให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาจัดการ


          “เรื่องแหล่งน้ำ ถ้าเราส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากคลอง เช่น ให้ชาวบ้านร่วมมือกันช่วยกันเอาผักตบออกตั้งแต่แรกๆ สร้างความร่วมมือ หมั่นดูแล เกิดจิตสำนึกอนุรักษ์น้ำ มันก็จะเป็นฟังก์ชั่นนี้ไปเองว่าทุกคนต้องดูแลแหล่งน้ำ แต่ปัจจุบันเรากลายเป็นสังคมตัวใครตัวมัน ให้เป็นหน้าที่หน่วยงานเข้ามาดูแลจัดการเพียงอย่างเดียว หากเปลี่ยนทัศนคติได้ คนจะดูแลน้ำกันเอง ไม่มีปัญหาผักตบชวาเกิดขึ้น”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ