คอลัมนิสต์

การโอนสิทธิเรียกร้องมีผลสมบูรณ์... เมื่อ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง โดย... นายปกครอง

 

 

          ถ้าพูดถึงคำว่า “หนี้” เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยเป็นทั้ง “เจ้าหนี้” และ “ลูกหนี้” เมื่อมี “หนี้” เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดจากนิติกรรม เช่น สัญญา หรือเกิดจากนิติเหตุ เช่น ละเมิด เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 

 

 

          และท่านทราบหรือไม่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ผู้เป็นเจ้าหนี้สามารถโอนให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ (โอนความเป็นเจ้าหนี้) อันจะมีผลให้ผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้คนเดิม!


          ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ”


          ประเด็นที่น่าสนใจในวันนี้มีว่า ...
          1.กรณีการโอนสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จะใช้หลักการเช่นเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายทั่วไปกำหนดไว้หรือไม่?

 

          2.การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะมีผลสมบูรณ์ หน่วยงานของรัฐในฐานะลูกหนี้ (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จำต้องแจ้งความยินยอมในการโอนด้วยหรือไม่?


          เหตุของคดีเกิดจากองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด A ก่อสร้างวางท่อเมนประปา โดยระหว่างการปฏิบัติงานตามสัญญา ห้างหุ้นส่วนจำกัด A ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด A โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด A และผู้ฟ้องคดีต่างได้ทำหนังสือแจ้ง อบต. เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างและเจ้าหน้าที่ของอบต.ได้ลงชื่อรับหนังสือดังกล่าวแล้ว

 



          ต่อมาเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด A ขอส่งมอบงานและขอรับเงินค่าจ้าง โดย อบต.กลับจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด A ไป ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือทวงถามเพื่อให้อบต.ชำระหนี้เงินค่าจ้างจากการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ อบต.เพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้อบต.ชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด A โอนให้แก่ตน


          คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่ทำขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด A เป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์และใช้บังคับได้หรือไม่?


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า เมื่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดแบบในการโอนสิทธิเรียกร้องและแบบในการบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือกรณีลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่มิได้บัญญัติว่าภายหลังได้รับบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วลูกหนี้จะต้องให้ความยินยอมด้วย กรณีจึงถือว่าการบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เพียงประการเดียวก็เป็นการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามแบบที่สมบูรณ์แล้ว


          ประกอบกับตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 3632 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2541 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกรณีเจ้าหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างทำของให้แก่บุคคลอื่นไว้ว่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งสำเนาหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้สรรพากรจังหวัดเพื่อทราบ แต่ไม่ต้องแจ้งความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับโอนทราบ และให้จ่ายเงินแก่ผู้รับโอนโดยตรง


          วิธีปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าการโอนหนี้จะยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้แล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีและห้างหุ้นส่วนจำกัด A ตกลงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือ โดยคู่สัญญาลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนพร้อมตราประทับของห้างหุ้นส่วนจำกัด A และของผู้ฟ้องคดีครบถ้วน และผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว 


          การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด A รวมทั้งการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งได้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นไปโดยชอบด้วยแบบตามที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์และหนังสือเวียนของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้และมีผลสมบูรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้าง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 76/2562)


          จึงได้คำตอบจากคำถามที่ตั้งเป็นประเด็นไว้ข้างต้นว่า 1.การโอนสิทธิเรียกร้องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลูกหนี้หรือคู่สัญญานั้น ใช้หลักการเช่นเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ และ 2.เมื่อได้ทำหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่จำต้องแจ้งความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังเจ้าหนี้ เนื่องจากมีผลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ได้รับแจ้ง


          จากอุทาหรณ์คดีปกครองข้างต้นสามารถสรุปหลักเกณฑ์ในการโอนสิทธิเรียกร้อง (โอนหนี้) ระหว่างผู้โอน (เจ้าหนี้รายเดิม) กับผู้รับโอน (เจ้าหนี้รายใหม่) ได้ดังนี้ (1) สัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน (2) จะต้องทำหนังสือบอกกล่าวถึงการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง หรือถ้ามิได้ทำหนังสือบอกกล่าวก็จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องก่อน (3) หากได้ดำเนินการตาม (1) และ (2) ครบถ้วนแล้ว ถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ