คอลัมนิสต์

"โซเชียล"มาแรง แทนที่"หัวคะแนน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  ร่วมเย็น 

 

 

  

          ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้สั่งกำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าให้เกาะติด “ข่าวบิดเบือนในโซเชียลมีเดีย” โดยให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ระวังอย่าให้มีการปลุกระดม และให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ให้ดีๆ รวมทั้งการตอบโต้ ชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับข่าวที่มีการบิดเบือนให้ทันการณ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์อยากทำให้เร็วกว่าที่ผ่านมา ทำทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีกลุ่มคนที่ต้องการสร้างสถานการณ์ภายในประเทศ

 

 

          เมื่อวันก่อนได้แวะไปฟังเวทีสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


          บนเวทีสัมมนา มีการพูดถึงว่า หลังการเลือกตั้ง “โซเชียลมีเดีย” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีและขยายความขัดแย้งปลุกเร้าอารมณ์  


          และที่เป็นอันตราย คือ Fake News หรือ “ข่าวปลอม”  รัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องหาทางต่อสู้กับข่าวปลอม เพราะการตลาดของโซเชียลมีเดียจะคำนวณความสนใจของผู้ใช้ แล้วเลือกป้อนข้อมูลด้านเดียว ดังนั้นในทางการเมืองที่มีแบ่งแยก เราจะเจอแต่ข่าวสารที่เราสนใจ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำให้เราเชื่อ และกลายเป็นปิดกั้นไม่ให้เรารับฟังความเห็นอื่นๆ


          อย่างไรก็ตาม “การเซ็นเซอร์” เป็นความคิดที่ผิด เพราะหลายคนอ่านคอมเมนต์มากกว่าคลิกเข้าไปอ่านในเนื้อหาข่าว และสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่า Fake News คือ การมีชุดข้อมูลชุดเดียว ใครควบคุมได้ก็สามารถเขียนประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงใหม่ได้


          การต่อสู้กับ Fake News หรือข่าวปลอม ควรเป็นการให้ความรู้เพื่อให้คนรุ่นใหม่เท่าทัน สามารถวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณตัดสินได้สำหรับผู้เสพสื่อ และให้เลือกไลค์เพจที่นำเสนอข่าวทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านที่เราชอบ เราเชื่อ และด้านที่เราไม่ชอบ เพื่อให้หน้าฟีดข่าวของเรามีข้อมูลที่หลากหลายเพียงพอ


          ที่กล่าวมา เป็นการใช้ “โซเชียลมีเดีย” ในด้านลบ ใช้ในการขยายความขัดแย้งและสร้าง “Fake News”


          นอกจากนี้ในเวทีสัมมนาดังกล่าวซึ่งมีนักการเมืองคนรุ่นใหม่จากพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมแสดงความเห็น ได้มีการพูดถึง “โซเชียลมีเดีย” ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ บทบาทของ “โซเชียลมีเดีย” ต่อการเลือกตั้ง ว่าได้เข้ามาแทนที่ “ระบบหัวคะแนน”




          ในมุมมองของทีมส้มหวาน “สิริกัญญา ตันสกุล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ บอกว่า  พรรคอนาคตใหม่ ไม่ใช้หัวคะแนนในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเลย  โดยเลือกใช้อาสาสมัครเป็นผู้ช่วยหาเสียงหลักโดยจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้พรรคใช้เงินในการเลือกตั้งน้อยที่สุดทั้งที่พรรคก่อตั้งมาได้เพียงปีเดียว แต่ได้คะแนนมาอย่างท่วมท้น 6.3 ล้านเสียง โดยเฉพาะฐานคนเมือง ถือว่าได้เปรียบจากโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่ง ส.ส.เขตยังกวาดที่นั่งมาได้ ไม่เพียงในกรุงเทพฯ แต่จันทบุรีก็กวาด ส.ส. มายกจังหวัดเช่นกัน แม้ยังไม่มีข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า ผู้ที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ มีเส้นแบ่งอายุอย่างไร แต่เชื่อว่าคนที่ตัดสินใจเลือกพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่ อาจไม่ใช่เรื่องวัยเรื่องเดียวแต่เป็นเรื่องของคนที่มีความคิดก้าวหน้าสมัยใหม่ และอยากลองอะไรใหม่ๆ


          “กรวีร์ ปริศนานันทกุล” จากพรรคภูมิใจไทย แสดงความเห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ที่บอกว่าไม่ใช้หัวคะแนน แต่ในความเป็นจริงมีหัวคะแนนเป็นแอดมินอยู่ในโซเชียลใช้การสื่อสารช่องทางใหม่ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอดีตพ่อแม่จะบอกลูกให้ไปเลือกตั้งและต้องเลือกใคร แต่ปัจจุบันลูกบอกพ่อแม่ให้เลือกพรรคอนาคตใหม่  เลือกทั้งที่ไม่รู้ว่าผู้สมัครเป็นใคร เพราะลูกบอกให้กาในช่องที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยม นี่คือการพลิกโฉมการเมือง เป็นการรณรงค์หาเสียงคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคอนาคตใหม่ สร้างกระแสที่ผลกระทบแรงกว่า ทำให้ความตื่นเต้นแปลกใหม่เกิดขึ้นทั่วประเทศซึ่งผู้สมัคร ส.ส.และทุกพรรคการเมืองต้องเอามาเป็นบทเรียน และเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปทุกพรรคจะนำต้องเสนอนโยบายและหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียเต็มรูปแบบ


          “พรรคภูมิใจไทย จึงต้องปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ใหม่ในช่วงของการเชื่อมต่อระหว่างคน 2 รุ่น โซเชียลมีเดียเปิดพื้นที่ให้คนได้ระบายความคิดเห็นหลากหลาย สิ่งที่กังวลไม่ใช่ความต่าง แต่คือจะทำอย่างไรให้คนที่เห็นต่างอยู่ในบ้านเดียวกันได้ระหว่างคนที่ไม่เอาทหารเลย กับคนที่เห็นความสำคัญของทหารในด้านการปกป้องประเทศ  เราจะทำอย่างไรให้คนที่เห็นต่างแบบสุดขั้วอยู่ร่วมกันได้”


          ขณะที่ "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า โซเชียลมีเดียเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน โดยเปรียบพรรคการเมืองเป็นร้านค้าที่อยากนำเสนอขายนโยบาย อุดมการณ์ และบุคลากร จึงขึ้นอยู่กับทีมงานผู้มีประสบการณ์ว่าจะเลือกสื่อสารอย่างไร หลายคนบอกให้ทำเหมือนเดิม เดินไปเคาะประตูบ้าน เราเคาะทุกบ้าน ข้อดีคือได้เจอ “ไอติม” ตัวเป็นๆ มายืนหน้าบ้าน แต่ข้อเสียคือได้เจอไม่เกินคนละ 5 นาที ขณะที่การนำเสนอนโยบายต้องใช้เวลา ซึ่งสามารถทำได้ดีในช่องทางโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงประชาชนได้ 


          “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย  มองว่า การสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้ประชาธิปไตยเป็นทางตรงมากขึ้น เดิมประชาชนตัดสินใจเลือกตามการชี้นำในสังคม แต่เทคโนโลยีทำให้ตัวบุคคลและตัวแทนสำคัญน้อยลง อุดมการณ์ของพรรคมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งพรรคอนาคตใหม่สามารถแสดงความเป็นพรรคและจุดยืนของพรรคได้ชัดเจนมากกว่าพรรคอื่น เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคการเมืองต่างๆ จะใช้โซเชียลมีเดียแสดงออกถึงรูปแบบที่แตกต่าง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ