คอลัมนิสต์

'เรือโดยสาร' ฟรีทางเลือกใหม่ชาวกรุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน [email protected]

 

 

 นโยบายใหม่ต้องสนับสนุน
 เรียน คุณอ๊อด เทอร์โบ (ผ่านไปยังรัฐบาลชุดใหม่)

          ผมเป็นคนบางกอกใหญ่ มีความดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ทราบข่าวว่า กทม.จับมือกับกรมเจ้าท่า เปิดสายการเดินเรือตามนโยบายเชื่อมโยงการเดินทางให้ครบวงจรโดยจะเปิดให้โดยสาร  ‘ฟรี’ 6 เดือน ซึ่งขอสนับสนุนอย่างเต็มที่และแจ้งข่าวดีนี้มาให้ทราบว่า

 

 

          กทม.ร่วมกับกรมเจ้าท่าจะเปิดทดลองเดินเรือเส้นทางใหม่  ท่าเรือบางหว้า (คลองภาษีเจริญถึงท่าเรือท่าช้าง แม่น้ำเจ้าพระยา) โดยไม่เก็บค่าโดยสาร 6 เดือน เพื่อเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่ง ‘ล้อ ราง เรือ’
  
          ทางเลือกการเดินทางของประชาชนใหม่ตามนโยบายรัฐบาลในจุดที่ไม่มีเอกชนให้บริการ 4 เส้นทาง คือ 1.ท่าเรือบางหว้า-ท่าช้าง 2.ท่าเรือหัวลำโพง-วัดเทวราชกุญชร 3.ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง-ห้างพาเซโอ 4.ท่าเรือบางหว้า-วัดกำแพง โดยเส้นทางใหม่ท่าเรือบางหว้า-ท่าช้าง เริ่มจากท่าเรือบางหว้าจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางหว้าไปตามคลองภาษีเจริญ แยกขวาเข้าคลองบางกอกใหญ่ออกแม่น้ำเจ้าพระยา
  
          จอดรับที่ท่าเรือ 5 แห่ง คือ ท่าเรือวัดอินทราราม ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือราชินี และท่าเรือท่าช้าง

          เวลานี้การจัดครม.ยังไม่นิ่งแต่ผมขอฝากถึงผู้จะมาเป็นรัฐมนตรีคมนาคมว่าอย่าปล่อยให้โครงการนี้ล้มเลิกเพราะประชาชนจะได้ประโยชน์มากและทางกรมเจ้าท่ากับกทม.ก็สำรวจแผนการเดินเรือไว้แล้ว
  
          ผมเชื่อว่าจะมีผู้โดยสารมากมายและต่อไปจะได้รับความนิยมเพราะไปมาสะดวกไม่ต้องเจอรถติดแบบทางบกและได้ชมวิวทิวทัศน์สวยงามอีกด้วย
มานะ (บางกอกใหญ่)


 

 

เรียนคุณ ‘มานะ’ บางกอกใหญ่
          ผมเองก็ได้ทราบข่าวนี้มาเช่นกันและขอบคุณในรายละเอียดที่กรุณาเขียนจดหมายแจ้งมาซึ่งหากทำได้จะเป็นทางเลือกใหม่ทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น


 

          แต่สิ่งที่ห่วงใยมากที่สุดคือ ‘ความปลอดภัย’ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและฤดูน้ำหลากต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ รวมถึงท่าเทียบเรือต้องมีมาตรฐาน มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแล รวมถึงหน่วยรักษาความปลอดภัย

          ผมไม่ทราบเรือโดยสารจะเป็นแบบใดและใครจะเป็นพนักงานขับเรือและคนประจำเรือ ซึ่งต้องได้รับการอบรมเป็นพิเศษและกำหนดเวลาทำงานให้ดีอย่าให้ทำเกินเวลาร่างกายรับไม่ไหวเกิดง่วง เพลีย จะเกิดความประมาทหรือหลับในเกิดอุบัติเหตุได้

          โครงการนี้จะเปิดให้ใช้ฟรี 6 เดือน และต่อไปหากจะเก็บค่าโดยสารก็ขอให้ราคาถูกเป็นพิเศษเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนด้วย
อ๊อด เทอร์โบ


 


 อย่าประมาท ‘น้ำท่วมฉับพลัน’
 ต้องมีสติวางแผนล่วงหน้า

          ‘ดับเครื่องชน’ วันนี้ขอเป็นสื่อกลางนำข้อแนะนำจาก ‘นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน’ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ซึ่งมีประโยชน์มาก

          เวลานี้เข้าสู่ฤดูฝนมีฝนตกหนักและพายุลมแรง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและภัยพิบัติอันตรายต่างๆ จึงขอให้ศึกษาแผนการรับมือไว้จะลดความเสียหายได้
อ๊อด เทอร์โบ


 


 เตรียมรับมือน้ำท่วม
 เพื่อความปลอดภัยและเอาชีวิตรอด

          การเตรียมรับมือภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยและพบได้ทุกปี เช่น น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ประชาชนควรมีความรู้ ความเข้าใจและควรฝึกฝนวิธีการรับมือไว้ เช่นกรณีเมื่อเกิดน้ำท่วมรุนแรง พบว่าหลายครอบครัวต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำ มักจะเกิดความโกลาหล วุ่นวาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

          การรับมือที่ดีที่สุดคือการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน หมู่บ้าน ทั้งพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหาก็ตาม ทั้งนี้เพื่อการเอาชีวิตรอดและอยู่อย่างปลอดภัย การเตรียมแผนไว้ล่วงหน้าหากไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นถือว่าเป็นการซักซ้อม แต่หากมีเกิดขึ้นจริงก็จะลดการสูญเสีย ลดความสับสน กระวนกระวาย ความวิตกกังวล ความเครียดลงได้มาก ประการสำคัญจะทำให้ประชาชนเกิดประสบการณ์เรียนรู้และการจัดการที่ดียิ่งๆ ขึ้น

          วิธีฝึกการเตรียมพร้อมระดับครอบครัว มีข้อแนะนำ 6 ประการ ดังนี้ 1.ให้ฝึกการเตรียมแผนเผชิญน้ำท่วมไว้ ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว หาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย โดยเน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ และเรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงมา 2.สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด ใช้การได้อย่างน้อย 3 วัน 3.เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นเช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ไว้ในที่ปลอดภัย 4.ในกรณีที่มีโรคประจำตัวทั้งทางกายและทางจิต ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันยาสูญหาย 5.จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่นไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น และ 6.เตรียมเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนเช่นเบอร์ญาติสนิท

          เบอร์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เบอร์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784

          เมื่อเกิดน้ำท่วมจริงและน้ำท่วมถึงบ้าน ขอให้ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ การมีสติจะช่วยให้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น โดยต้องนึกถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นอันดับแรก เช่นระมัดระวังเรื่องไฟฟ้า ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊ส ติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นระยะๆ

          สิ่งที่ต้องคำนึงไว้ 3 ประการ คือ ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหลแม้ระดับน้ำจะไม่สูงเช่นเพียงครึ่งฟุตก็ตาม ความเชี่ยวของกระแสน้ำอาจทำให้เสียหลักและล้มได้ ห้ามขับรถในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วมเพื่อลดความเสี่ยงในการจมน้ำ และห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ เนื่องจากกระแสไฟสามารถวิ่งผ่านได้

          ระดับชุมชนมีข้อแนะนำการเตรียมพร้อมล่วงหน้า 4 ประการ คือ 1.จัดเตรียมแผนการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน เช่น ดูแลความปลอดภัยกลุ่มที่เปราะบาง ได้แก่เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ช่วยกันเฝ้าระวังทรัพย์สินในชุมชน 2.ระดมความช่วยเหลือร่วมมือกันซ่อมแซมเขื่อนกั้นน้ำหากมีในชุมชน 3.จัดเวรยามเฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น และคอยประกาศเตือนคนในชุมชนให้ทราบอย่างต่อเนื่อง 4.จัดเตรียมศูนย์กลางให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นศูนย์กลางในการประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกและประสานกับประชาชนในพื้นที่

          จึงขอแจ้งมาเพื่อความไม่ประมาทเพราะน้ำท่วมฉับพลันอาจเกิดได้ทุกเวลา


logoline

ข่าวที่น่าสนใจ