คอลัมนิสต์

ขนส่งเพื่อมวลชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2562

 

 

          มีงานวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯเฉลี่ยต่อเที่ยว 67 บาท และเมื่อเทียบกับต่างประเทศยังพบว่าแพงกว่าสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอัตรา 25.73 บาท ขณะที่ราคาที่ฮ่องกงอยู่ที่ 46.50 บาท โดยมีข้อเสนอแนะว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรจะเฉลี่ยไม่เกินเที่ยวละ 30-40 บาท จึงจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนได้ นอกจากนี้ แนวทางควบคุมค่าโดยสารที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การยกเลิกค่าแรกเข้าเมื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ระบบตั๋วร่วมยังไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับทุกการเดินทางได้

 

 


          ผลงานวิชาการและข้อเสนอแนะดังกล่าวมานี้จะถูกส่งไปกรมการขนส่งทางบก เพื่อพิจารณาในระดับนโยบายต่อไป แต่จะทำได้มากน้อยขนาดไหนนั้น ก็ต้องรอดูแนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานระบบรางแล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าในเขตเมืองและปริมณฑล รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็งสูง ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการขนส่งมวลชนในศตวรรษต่อไป แต่ถึงกระนั้น การกำหนดราคาค่าโดยสารก็ยังเป็นปมปัญหาที่หลายฝ่ายท้วงติงกันเสมอมาว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็ไม่น่าจะใช่การขนส่งมวลชน และเมื่อพิจารณาร่วมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าครองชีพแล้วจะพบว่า ประชาชนต้องจ่าย “ต้นทุน” ค่าเดินทางมากเกินไป

 


          ในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ มีการขนส่งมวลชนที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่จักรยานยนต์ในตรอกซอกซอย รถสามล้อเครื่อง รถสองแถว เรือโดยสาร รถโดยสารประจำทางทั้งขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และเอกชนร่วมบริการอีกหลากหลายสัมปทาน ในแต่ละวันคนเมืองจำนวนไม่น้อยต้องจ่ายเงินไปกับการขนส่งที่ใช้สารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะคนที่เดินทางประจำ เมื่อต้องจ่ายค่าโดยสารอย่างน้อย 2 รูปแบบ ก็ต้องจ่ายเพิ่มจากค่ารถไฟฟ้าที่แพงอยู่แล้วขึ้นไปอีก ซึ่งนับเป็นภาระอย่างมาก แม้ว่า การคิดคำนวณการเดินทางประจำแบบจ่ายเหมาเป็นเที่ยวจะจ่ายน้อยลงในอัตราแปรผันกับความถี่ของการใช้ แต่ก็ยังแพงอยู่ดี ปัจจัยนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเมืองจำนวนมากยังต้องพึ่งพิงรถโดยสารประจำทางราคาถูก ซึ่งต้องอาศัยการอุดหนุนจากรัฐบาลเพราะขาดทุนมหาศาล

 


          อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าขึ้นกับหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นก็คือ การลงทุนก่อสร้างที่ค่อนข้างแพง เช่นรถไฟฟ้าใต้ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งต้องอาศัยผู้ใช้บริการจำนวนมากจึงจะคุ้มค่า ซึ่งถ้าหากรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่จะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป ยังใช้โครงสร้างราคาแบบเดิมก็อาจจะไม่จูงใจให้ประชาชนย่านชานเมืองหันมาใช้บริการเท่าที่ควร อย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะต่างไปจากรถไฟฟ้าในย่านกลางเมืองที่มีประชาชนและย่านธุรกิจหนาแน่น ดังนั้น การพิจารณาเรื่องราคาจึงควรตั้งอยู่บนหลักการของระบบขนส่งมวลชนที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งก็จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาการจราจร และลดการพึ่งพิงรถโดยสารประจำทางที่รัฐต้องจ่ายอุดหนุนซึ่งก็ไม่เพียงพอลงได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ