คอลัมนิสต์

การอ่านกับการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 


           ผ่านพ้นเหตุการณ์หนังสือ “แอนิมอล ฟาร์ม” ที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพิ่งแนะนำไปไม่ถึงสัปดาห์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ออกจดหมายขอความร่วมมือสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมให้ส่งหนังสือเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แนะนำประชาชนภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน "หนังสือแนะนำจากนายกฯ ประจำสัปดาห์นี้”

 

 

           จดหมายฉบับดังกล่าวมีการระบุว่าขอความร่วมมือให้สำนักพิมพ์จัดทำข้อมูลรายละเอียดของหนังสือและหนังสือจริง โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดกรอบเนื้อหาหนังสือไว้ 6 ข้อ ได้แก่


           ส่งหนังสือได้ทุกหมวด ทุกประเภทที่เหมาะกับทุกช่วงวัย


           ควรมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถานการณ์สังคมปัจจุบันแต่ไม่เสียดสีการเมือง


           เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และความประพฤติที่เหมาะสม มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความหวังในการดำเนินชีวิต เป็นหนังสือที่ก่อให้เกิดความมานะบากบั่นไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาให้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ


           ต่อมามีรายงานข่าวว่าสำนักพิมพ์หลายแห่งมีท่าทีไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย และขอไม่เข้าร่วมโครงการนี้ จนทำให้ล่าสุดมีรายงานว่าสมาคมผู้จัดพิมพ์แจ้งเลื่อนการส่งหนังสือเพื่อโครงการประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการอ่านจนกว่าจะมีการหารือและได้ข้อสรุปในการดำเนินการที่เหมาะสม
  

           ในกรณีนี้ รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ รองคณบดีและอาจารย์จากภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าโดยหลักการแล้วการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมต้องการให้สำนักพิมพ์แนะนำหนังสือนับว่ามีเจตนารมณ์ที่ดี เพราะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวกับการอ่าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การคิดวิเคราะห์รวมถึงการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นผ่านมิติทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ในหนังสือ


           “การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญทำให้คนมีคุณภาพ มีวิจารณญาณ เข้าใจบริบทปัญหาต่าง เคารพความหลากหลายของคน เมื่อเราอ่านนวนิยายเล่มหนึ่ง เช่น นวนิยายของเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ เราก็จะเห็นการใช้ชีวิตของคนอเมริกัน เข้าใจบริบททางการเมืองและสังคมของคนยุคนั้น และเห็นว่าตัวผู้เขียนเขามองสังคมเขาอย่างไรผ่านวรรณกรรม”




           รศ.ดร.สุรเดช ยังกล่าวอีกว่า สำนักข่าวบีบีซีของประเทศอังกฤษเคยจัดโครงการรณรงค์ให้คนรักการอ่านในปี 2003 โดยให้คนอังกฤษเลือกนวนิยายที่ตนชอบมากที่สุด และมีรายการโทรทัศน์นำเสนอผลการคัดเลือกโดยเรียงตั้งแต่ลำดับท้ายสุดมายังวรรณกรรมยอดนิยมอันดับหนึ่งซึ่งก็คือเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ส่วนของประเทศไทยเคยมีจัดทำรายชื่อหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านโดย ดร.วิทยากร เชียงกูล ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อช่วงปี 2540-2541


           นอกจากนี้การให้รางวัลต่างๆ ด้านหนังสือ เช่น รางวัลซีไรต์ รางวัลเซเว่นบุ๊ก อวอร์ดส์ นายอินทร์ อวอร์ดส์ ฯลฯ ต่างก็มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการอ่านของคนไทย ช่วยคนให้เลือกหนังสืออีกทางหนึ่ง


           “ผมเห็นด้วยเวลาหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ตามจัดโครงการรณรงค์ให้เกิดการอ่าน แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่เห็นว่ามีสำนักพิมพ์บางแห่งขอไม่ส่งหนังสือเข้าร่วมในโครงการของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้”


           เนื่องจากการรณรงค์โดยให้สำนักพิมพ์แต่ละแห่งส่งหนังสือพร้อมทั้งรายละเอียดอาจเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ท่าทีของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเองที่เป็นการเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการแบบ Top-down เลยเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อคนในวงการหนังสือ โดยเฉพาะคนทำหนังสือที่มีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน


           “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมควรตั้งคณะทำงานทำหน้าที่เฟ้นหาและคัดสรรหนังสือในตลาดที่สอดคล้องกับนโยบายที่ตนเองตั้งขึ้นมานำเสนอ เช่น มีคณะทำงานที่เป็นนักวิจารณ์หนังสือหรือนักเขียนที่เป็นตัวแทนของคนหลายกลุ่มก็อาจเป็นทางเลือกทางหนึ่ง หรือมิเช่นนั้น ก็อาจให้คนไทยช่วยกันเลือกหนังสือดีๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ และมีการทำสกู๊ปรายงานผลทางโทรทัศน์เผยแพร่ให้คนทั้งประเทศชมว่าหนึ่งร้อยเล่มที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นหนังสืออะไรบ้างก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน”


           รศ.ดร.สุรเดช ชี้ว่า เนื่องจากสภาพสังคมไทยปัจจุบันมีความขัดแย้งทางความคิดเห็นและทัศนคติทางการเมืองค่อนข้างสูง ทำให้การแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งๆ ย่อมประสบกับปัญหาในการตีความ แม้ว่าจะไม่ได้มีเนื้อหาจำเพาะเจาะจงไปทางการเมือง แต่ผู้อ่านหรือผู้ที่ฟังคำแนะนำเมื่ออ่านแล้วก็สามารถตีความได้หลากหลาย


           “การเลือกหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งอาจถูกต่อต้านหรือเป็นชนวนให้เกิดข้อพิพาททางการเมืองก็ได้ เพราะคนอ่านหลากหลาย การตีความของแต่ละบุคคลไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ จินตนาการ จุดยืนที่แตกต่างกัน”


           รศ.ดร.สุรเดช เห็นว่าในการกระตุ้นให้สังคมไทยเป็นสังคมรักการอ่าน หน่วยงานต่างๆ ควรนำเสนอหนังสือแนะนำภายในองค์กรตัวเองได้ ไม่เฉพาะแต่รัฐบาลเท่านั้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ เช่น กรมสุขภาพจิต กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มูลนิธิเด็ก มหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยงานเอกชน สามารถนำเสนอรายชื่อหนังสือแนะนำเพื่อให้เห็นความแตกต่างหลากหลายของวงการหนังสือในประเทศไทย


           “กลุ่มคนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยช่วงวัย ศาสนา หรือชาติพันธุ์ ย่อมต้องการอ่านหนังสือที่ไม่เหมือนกัน การอ่านยังเป็นกิจกรรมที่เป็นที่นิยมอยู่ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนไปตามสื่อใหม่ๆ ที่เข้ามาเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรคนก็ยังต้องการอ่านหนังสือดีๆ อยู่เสมอ” รศ.ดร.สุรเดช ทิ้งท้ายไว้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ