คอลัมนิสต์

แกะรอยเงื่อนงำตั้ง "ส.ว.คนกันเอง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          อีกหนึ่งประเด็นการเมืองที่กลายเป็นเรื่องขึ้นมา ก็คือข้อกล่าวหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการพิจารณาแต่งตั้ง ส.ว. หรือสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งก็คือ “ส.ว.ชุดรอโหวต” ที่ตั้งขึ้นมาแบบ “เฉพาะกาล” เพื่อร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ไม่จำกัดครั้งในรอบ 5 ปี

 

 

          ส.ว.ชุดรอโหวตนี้มาจาก 3 ส่วน คือ
          1.กกต.จัดให้มีการเลือกกันเองของผู้เสนอตัวและได้รับการเสนอใน 10 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศ ได้มา 200 คน คสช.เคาะเหลือ 50 คน และสำรอง 50 คน
          2.คสช.ตั้งคณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อผู้เหมาะสม 400 ชื่อ ให้ คสช.เคาะเหลือ 194 ชื่อ และสำรอง 50 ชื่อ
          รายชื่อว่าที่ ส.ว. ทั้งจาก กกต. และคณะกรรมการสรรหาส่งให้คสช.ก่อนวันเลือกตั้งราวๆ 15 วัน และคสช.เคาะรอบสุดท้ายหลังประกาศผลเลือกตั้งแล้ว 3 วัน
          3.ส.ว.ที่เป็นโดยตำแหน่งคือผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพรวมทั้งตำรวจ 6 คน
          ปัญหามาเกิดเพราะเมื่อดูไทม์ไลน์การได้มาซึ่งส.ว.เฉพาะกาลจะพบข้อเท็จจริงแบบนี้

 

 

 

แกะรอยเงื่อนงำตั้ง "ส.ว.คนกันเอง"

 


          วันที่ 7 พฤษภาคม กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขต วันที่ 8 พฤษภาคม กกต.ประกาศรับรองส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นับจากนั้นไม่เกิน 3 วัน คสช.ต้องทูลเกล้าฯ รายชื่อ ส.ว. ซึ่งก็คือราวๆ วันที่ 10 พฤษภาคม จากนั้นก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งส.ว.ลงมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 14 พฤษภาคม


          ไฮไลท์อยู่ตรงที่รายชื่อส.ว.สำรอง ตามบัญชีกลุ่มอาชีพที่เลือกกันเอง ประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 14 พฤษภาคม วันเดียวกับที่ประกาศรายชื่อ ส.ว.ทั้ง 250 คน แต่รายชื่อ ส.ว.สำรองอีก 50 คน ที่มาจากการเลือกของคณะกรรมการสรรหา ที่ตั้งโดยคสช.กลับไม่มีการประกาศ และล่าสุดเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ห่างจากส.ว.สำรอง บัญชีแรกเกือบ 1 เดือน แถมยังมีชื่อรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. และมีชื่อ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ด้วย


 

 

 

แกะรอยเงื่อนงำตั้ง "ส.ว.คนกันเอง"

 


          บัญชี ส.ว.สำรอง รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี 2 บัญชี จากกลุ่มอาชีพที่เลือกกันเอง และกลุ่มที่คสช.เลือกมา บัญชีละ 50 คน เพื่อแต่งตั้งทดแทนกรณี ส.ว.250 คนแรก ต้องหลุดจากตำแหน่งด้วยเหตุผลต่างๆ ส.ว.คนที่หลุดเก้าอี้มาจากกลุ่มไหน ก็ตั้งส.ว.สำรองกลุ่มนั้นเข้าไปแทน เหล่านี้กลายเป็นคำถามที่แหลมคมอย่างยิ่ง


          1.ทำไมประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรองกลุ่มหลังล่าช้า
          มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีขบวนการวิ่งเต้นหรือเปล่า เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าส.ว.สำรอง มาจาก 400 ชื่อที่คณะกรรมการสรรหา เสนอคสช.จริงหรือเปล่า หรือตั้งใครก็ได้เข้ามาในตอนหลัง เพื่อรอตอบแทนทางการเมือง เพราะส.ว.ที่ตั้งเข้าไปรอบแรก มีหลายคนที่น่าจะมีปัญหาคุณสมบัติจนต้องหลุดเก้าอี้ เมื่อตั้งแล้วเป็นแล้วต้องหลุดตำแหน่งไปเพราะปัญหาคุณสมบัติ ก็ถือว่าตอบแทนทางการเมืองจบแล้วก็เลื่อนลำดับคนที่ต้องการตอบแทนชุดต่อไปขึ้นมาแทน


          2.ไม่มีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาทั้งที่การใช้อำนาจคสช. ต้องประกาศ “คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ออกมา ซึ่งปีนี้มีคำสั่ง คสช.ออกมา 5-6 ฉบับแล้ว แต่กลับไม่มีฉบับที่ 1 และ 2 ข้ามไป 3-4-5 เลย ซึ่งเป็นเรื่องการตั้งบอร์ดกองสลากอะไรแนวๆ นี้


          ทำให้เกิดคำถามว่าฉบับที่ 1 กับ 2 ไปไหน ทำไมไม่ประกาศ หรือว่ามีคณะกรรมการสรรหาได้เป็นส.ว.เสียเอง จนอาจกลายเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ถูกถอดถอนได้เหมือนกัน


          และหากส.ว.ได้รับแต่งตั้งมาโดยมิชอบ ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า มติโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นไปโดยชอบ หรือกลายเป็นโมฆะ


          นี่คือคำถามและเงื่อนงำที่น่าสนใจ ซึ่งล่าสุด อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ออกมาชี้แจงแล้ว


          เรื่องแรก ประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรอง 50 คนหลังล่าช้า อาจารย์วิษณุ บอกว่าช้าได้...ไม่ผิดกฎหมาย

 

 

 

แกะรอยเงื่อนงำตั้ง "ส.ว.คนกันเอง"

 


          ส่วนคณะกรรมการสรรหา อาจารย์วิษณุ อ้างว่า คสช.ตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 (ฉะนั้นจะไปดูคำสั่งคสช.ปี 2562 ไม่ได้) โดยมีคณะกรรมการสรรหาทั้งสิ้น 10 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และอาจารย์วิษณุเอง ซึ่งก็คือแผงรองนายกฯ ในรัฐบาล คสช.นั่นเอง


          ส่วนอีก 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นสมาชิก คสช. และนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สนช.


          เมื่อลองตรวจสอบสถานะของกรรมการสรรหาทั้ง 10 คน ปรากฏว่าปัจจุบันหากไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็มีชื่อเป็นส.ว. ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร นายสมคิด และอาจารย์วิษณุ มีชื่อเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ มีชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีก 1 สมัย


          ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย พล.อ.อ.ประจิน พล.อ.ธนะศักดิ์ พล.ร.อ.ณรงค์ พล.ต.อ.อดุลย์ และนายพรเพชร มีชื่อเป็น ส.ว.


          อาจารย์วิษณุยังบอกด้วยว่า กรรมการสรรหาประชุมกัน 6 ครั้ง แบ่งสายกันไปเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ตนเองรับผิดชอบ เช่น สายเศรษฐกิจ ก็ให้รองนายกฯ สมคิดไปสรรหา สายความมั่นคงก็ให้ พล.อ.ประวิตร เป็นต้น แต่ยืนยันว่าไม่มีกรรมการสรรหาเสนอชื่อตัวเอง แต่มี “เสนอรายชื่อกันเอง”


          งานนี้ต้องบอกว่าไม่จบง่าย เพราะโฆษกพรรคเพื่อไทย ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ยืนยันว่า 7 พรรคพันธมิตรขั้วเพื่อไทยเตรียมหารือกันในสัปดาห์หน้าเพื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภาให้ตรวจสอบ “ที่มา” ของสมาชิกวุฒิสภา ว่ากระบวนการคัดเลือกหรือสรรหาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงจะยื่นเรื่องผ่านประธานสภาให้องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 หลายข้อ


          ขณะที่หัวหน้าพรรคเสรรีรวมไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส กล่าวภายหลังร่วมประชุมแกนนำ 7 พรรคพันธมิตรว่า จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติและที่มาของ ส.ว.250 คน ภายหลังรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาส.ว. และพบว่ากรรมการสรรหาส่วนใหญ่มีชื่อเป็น ส.ว.เสียเอง

 

          ต้องรอลุ้นว่า “ส.ว.ชุดคนกันเอง” จะมีบทจบอย่างไร?!?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ