คอลัมนิสต์

ถูกสั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านเพราะข่มขู่พยาน-ไม่บริการปชช.!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง โดย... นายปกครอง

 

 

          เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง เป็นกรณีที่ราษฎรได้ร้องเรียนผู้ใหญ่บ้านต่อนายอำเภอว่า “มีพฤติกรรมในการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนจากราษฎรซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ผู้ที่ได้ขอเพิ่มชื่อในรายการทะเบียนราษฎร (ท.ร.14) เพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนและทำร้ายร่างกายลูกบ้าน” 

 

 

          ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบเรื่องจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และขณะเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการสอบสวน ก็ได้มีกลุ่มพยานและผู้เสียหายไปร้องเรียนที่กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดว่า ผู้ใหญ่บ้านได้ข่มขู่พยานและผู้มาร้องเรียน เพื่อให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้ใหญ่บ้านในกรณีดังกล่าว และยังมีพฤติกรรมที่ไม่บริการประชาชนผู้มาติดต่อราชการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ร้องเรียนผู้ใหญ่บ้าน


          นายอำเภอจึงออกคำสั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านเพื่อรอผลการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เพราะหากยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจะเป็นอุปสรรคในการสอบสวนได้ และได้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งให้เป็นผู้รักษาราชการแทน ผู้ใหญ่บ้านจึงร้องทุกข์ต่อนายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วยืนตามความเห็นของนายอำเภอ


          ผู้ใหญ่บ้านไม่เห็นด้วยกับคำสั่งและคำวินิจฉัยร้องทุกข์ดังกล่าว เนื่องจากทำให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านได้ งานต่างๆ ที่ค้างอยู่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ และก่อนออกคำสั่งดังกล่าวนายอำเภอก็ไม่ให้โอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน รวมทั้งเห็นว่านายอำเภอไม่มีอำนาจออกคำสั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน จึงยื่นฟ้องนายอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านและคำวินิจฉัยร้องทุกข์

 

 


          คดีจึงมีประเด็นว่า คำสั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านอันเนื่องมาจากผู้ใหญ่บ้านมีพฤติการณ์ข่มขู่พยานและไม่บริการประชาชน เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 มาตรา 61 ทวิ วรรคสาม (2) กำหนดให้นายอำเภอมีอำนาจลงโทษกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล ดังนี้ ...เมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านคนใดถูกฟ้องในคดีอาญา เว้นแต่คดีความผิดในลักษณะฐานลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือมีกรณีที่ต้องหาว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงถูกสอบสวนเพื่อไล่ออกหรือปลดออก ถ้านายอำเภอเห็นว่า จะคงให้อยู่ในตำแหน่งจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ จะสั่งให้พักหน้าที่ก็ได้ แล้วรายงานให้ข้าหลวงประจำจังหวัดทราบ... 


          เมื่อผู้ใหญ่บ้านซึ่งถูกผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ได้ข่มขู่พยานและผู้มาร้องเรียนทำให้ได้รับความเดือดร้อนและเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย รวมทั้งยังไม่ให้บริการประชาชนผู้มาติดต่อราชการโดยเฉพาะกลุ่มผู้มาร้องเรียน 


          จากการตรวจสอบของนายอำเภอ พบว่ามีมูลความจริง กรณีจึงเห็นได้ว่าพฤติการณ์ของผู้ใหญ่บ้านดังกล่าว หากให้คงอยู่ในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านต่อไป จะเป็นการเสียหายแก่ทางราชการ นายอำเภอจึงมีอำนาจสั่งให้พักหน้าที่ได้ ตามมาตรา 61 ทวิ วรรคสาม (2) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ประกอบกับคำสั่งพักงานเป็นคำสั่งทางปกครองที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดังนั้น คำสั่งของนายอำเภอที่สั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านและคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 14/2562)


          จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การสั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านเป็นอำนาจของนายอำเภอ โดยสามารถสั่งได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้ใหญ่บ้านแล้ว และหากให้ผู้ใหญ่บ้านคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ทางราชการ เช่นมีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน หรือไม่ให้บริการกลุ่มผู้ร้องเรียน ซึ่งการสั่งพักหน้าที่ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่งชั่วคราวและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านได้ในระหว่างการสอบสวนพิจารณาทางวินัย และคำสั่งพักหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นการสั่งพักงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องให้โอกาสคู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่งแต่อย่างใด... ครับ !!! 


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ