คอลัมนิสต์

ความอ่อนแอของ"ฝ่ายค้าน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  โอภาส บุญล้อม

 

 

   

          แม้ว่ารัฐบาลพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี หรือ “รัฐบาลประยุทธ์ ภาค 2” จะมีจุดอ่อนจากการที่เป็น “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” มี 254 เสียงเกินครึ่งเพียง 4 เสียง และเป็นรัฐบาลผสมถึง 19 พรรคการเมือง ซึ่งต้องเผชิญกับการต่อรองสูงของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งโครงสร้างในพรรคพลังประชารัฐที่ประกอบด้วยกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่พร้อมที่จะขัดแย้งกันเอง  
   

 

 

          แต่ในขณะเดียวกันหากเรามองไปที่ “ฝ่ายค้าน” ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ เป็นแกนหลัก ก็จะพบว่าในส่วนของฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด
   

          “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งอยู่ในสภาพ “ไร้หัว” เนื่องจากแกนนำพรรค ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์เลือกตั้งและขุนพลฝีปากกล้าของพรรค นักปราศรัย นักอภิปราย นักพูด รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง  “สอบตก” หมด เนื่องจากลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ “ปาร์ตี้ลิสต์” แม้แต่ที่นั่งเดียว อันเป็นผลมาจากสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญปี 2560 

 

 

ความอ่อนแอของ"ฝ่ายค้าน"


    

          อีกทั้ง “พรรคไทยรักษาชาติ” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย ที่มีนักอภิปรายฝีมือดีหลายคนก็หายไปเพราะพรรคถูกยุบเสียก่อนเลือกตั้ง ทำให้บรรยากาศของการอภิปรายมีน้ำหนักน้อยกว่าสภาในยุคก่อนหน้าอย่างมาก ไม่ร้อนแรง เผ็ดร้อน น่าสนใจเหมือนเมื่อก่อน จืดไปถนัดใจ เห็นได้ชัดอย่างวันที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาแท้ๆ กลับไม่ได้เข้มข้นเหมือนกับการเมืองนอกสภาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงลาออกจากการเป็นส.ส. และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงวิสัยทัศน์

 

 

 

          ทั้งนี้ก็เพราะขาด “ดาวสภา” ที่เป็นชั้นแนวหน้าเกรดเอ ที่ทำให้การอภิปรายสนุกเร้าใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงอารมณ์ของคนฟังได้ เพราะว่าคำพูดที่มีเสน่ห์ในการดึงและตรึงใจคนและมีพลังในการส่งไปยังประชาชนและประชาชนส่งกลับมาไม่ใช่จะมีได้กันทุกคน  และแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงอารมณ์ของผู้คนจะไม่สามารถเปลี่ยนจำนวนเสียงในสภาได้ แต่จะมีผลทางการเมืองที่เห็นว่าพอเป็น “ดาวสภา” เหลืออยู่บ้างในส่วนของพรรคเพื่อไทยขณะนี้ก็มี “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” และ “จิรายุ ห่วงทรัพย์”  
    


          แม้กระทั่งตอนนี้การหาตัวผู้มาทำหน้าที่เป็น “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”  ซึ่งตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และมีความสำคัญในการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เพราะจะเป็นผู้นำในการตรวจสอบรัฐบาล และเวลายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี โดยประเพณีมักให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้อภิปรายสรุปญัตติทั้งหมด ก็ยังมีปัญหา เพราะว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่ใครเป็นก็ได้แต่มีบทบัญญัติขั้นตอนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 อย่างชัดแจ้ง ระบุว่า “ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”
   

 

ความอ่อนแอของ"ฝ่ายค้าน"

 

 

 

          ปัญหาก็คือเมื่อไล่ดูคุณสมบัติของว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านจะพบว่า พรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.มากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็คือพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ 136 ที่นั่ง แต่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คือ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ “สอบตก” ไม่ได้เป็นส.ส. จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยต้องตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่จากคนที่เป็นส.ส.เพื่อมารับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” โดยพรรคเพื่อไทยไม่สามารถส่งต่อไปให้พรรคที่มีจำนวนเสียงรองลงไปคือพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคเสรีรวมไทยได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.มากที่สุดที่ไม่ใช่ฝั่งรัฐบาล เท่านั้น ไม่เหมือนกับกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา ที่พรรคเพื่อไทยไม่เสนอชื่อผู้มีชื่อในบัญชีชื่อนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 คน ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ  โดยให้พรรคอนาคตใหม่เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแข่งกับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ  


          นอกจากนี้สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ต้องยอมรับว่าถดถอยลงอย่างมาก ได้จำนวนส.ส.ต่ำกว่าเป้าหลายสิบคน   ที่สำคัญหัวหน้าพรรคอย่าง พล.ต.ท.วิโรจน์ ก็ถูกมองว่าไม่ใช่ตัวจริง แม้จะเคยมีการพยายามตั้งหัวหน้าพรรคตัวจริงมาแล้วหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ สถานการณ์แบบนี้กลายเป็นแรงกดดันให้ต้องเร่งหาตัวหัวหน้าพรรคมาดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านให้ได้ ซึ่งอาจได้ขุนพลที่ไม่มีบารมีมากพอ หรือไม่ค่อยเก่งงานสภา จนมีผลทำให้งานในสภาของฝ่ายค้านอ่อนแอลงได้ 
  

 

ความอ่อนแอของ"ฝ่ายค้าน"

 

 

          สำหรับพรรคเพื่อไทยจะนัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคในสัปดาห์นี้เพื่อตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยมีชื่อของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค เพราะมีอาวุโสสูงสุด และยังมีชื่อของ น.อ.อนุดิษฐ์  นาครทรรพ  แกนนำภาค กทม. และส.ส.กทม. เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคอีกคน 
   

          และก่อนหน้านี้ “พรรคเพื่อไทย” ยังออกอาการ “เนือย” ให้เห็น  คือ หากมองย้อนไปนับตั้งเแต่  6 พรรคการเมือง  ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยและอีก 5 พรรคการเมืองจับมือกันลงสัตยาบันเพื่อประกาศจุดยืนในการร่วมกันต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และประกาศตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคพลังประชารัฐที่โรงแรมแลงคาสเตอร์  ถนนเพชรบุรีตัดใหม่แล้ว ในช่วงนั้นก็แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ไม่เคยมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วพรรคเพื่อไทยออกมาให้เห็น  ในขณะที่ขั้วของพรรคพลังประชารัฐมีความเคลื่อนไหวโดยตลอด ครั้นถึงเวลาที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้สมาชิกรัฐสภาเลือก พรรคเพื่อไทยก็ไม่เสนอชื่อแคนดิเคตนายกฯ ของพรรคแม้แต่คนเดียว  ปล่อยให้พรรรคอนาคตใหม่ “แย่งซีน” เสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอนาคตใหม่ ทั้งที่ในอนาคตอันใกล้นี้พรรคอนาคตใหม่อาจเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย เพราะตอนนี้มีข่าวว่าฐานเสียงที่เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทยเริ่มย้ายไปอยู่กับพรรคอนาคตใหม่แล้ว 

 

 

ความอ่อนแอของ"ฝ่ายค้าน"

 


          ส่วน “พรรคอนาคตใหม่” พรรคฝ่ายค้านที่สำคัญอีกพรรคการเมืองหนึ่งก็ประสบปัญหากับการที่นายธนาธร  ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะเป็นคนที่มีบทบาทในสภาคนหนึ่ง ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากการถูกร้องเกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. และอาจไม่มีโอกาสทำหน้าที่ส.ส.อีกเลยหากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าผิดจริง


          ส่วน ส.ส.ที่เหลือ ส่วนมากก็เป็นส.ส.สมัยแรก “มือใหม่หัดขับ” แทบทั้งนั้น ที่โดดเด่นพอเป็นที่จดจำของผู้คนก็มี “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช  โฆษกพรรคอนาคตใหม่ และ “รังสิมันต์ โรม” นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง
  

 

 

ความอ่อนแอของ"ฝ่ายค้าน"

 

          และหาก “กะเทาะ” ในส่วนพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายค้านจำนวน 7 พรรคการเมือง  จะพบว่าเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ถึง 6 พรรค โดยบางพรรคเพิ่งตั้งขึ้นแค่ 1 ปีเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายว่า “ฝ่ายค้านชุดนี้” จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุล “รัฐบาลประยุทธ์ภาค 2” และแสดงผลงานออกมาให้ประชาชนเห็นได้มากน้อยเพียงใด  ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่ว่า “ฝ่ายค้าน” ยังต้อง “ฝึกหัด” อีกมากในการตรวจสอบรัฐบาล
  

          อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า “ฝ่ายค้าน” ชุดนี้จะอ่อนปวกเปียกเพียงใด ประชาชนก็ยังหวังพึ่งพาในการตรวจสอบรัฐบาลมากกว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แบบชนิดที่ไม่มีแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว  


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ