คอลัมนิสต์

ปัญหาอยู่ที่คนหรือเครื่องมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2562

 

 


          บ่ายถึงค่ำวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ต้องประสบชะตากรรมติดค้างอยู่บนท้องถนนยาวนานหลายชั่วโมง เพราะรถติดวินาศสันตะโรอันเนื่องมาจากฝนที่กระหน่ำเทลงมาอย่างหนัก ขณะที่การระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ไม่สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพราะกระแสไฟฟ้าดับ เดินเครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์ 6,600 วัตต์ของอุโมงค์บางซื่อไม่ได้ ท้องถนนหลายสายกลายเป็นคลอง น้ำท่วมกินเป็นบริเวณกว้าง แม้ถึงขณะนี้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วหลายวันแต่ประชาชนก็ยังขวัญผวากับเหตุการณ์วันนั้นไม่วาย นั่นก็็เพราะว่าไม่มีหลักประกันอันใดที่จะยืนยันได้ว่าการระบายน้ำจะทำได้อย่างเต็็มประสิทธิภาพ เพราะถ้าหากไฟฟ้าดับอีกก็สูบน้ำไม่ได้เหมือนเคย และผู้บริหาร กทม.ก็บอกเพียงว่า ได้ประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) แล้ว

 

 


          ปัญหาฝนตกรถติดในกรุงเทพฯ นับเป็นเรื่องซ้ำซากของเมืองหลวงมาอย่างยาวนาน ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงเสมือนตำบลกระสุนตก แทบทุกครั้งที่ฝนตกรถติด เหตุการณ์ล่าสุดนี้้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็็ต้องเผชิญกับกระแสเรียกร้องให้ลาออก เพียงการกล่าวขอโทษผ่านโซเชียลมีเดียยังไม่เพียงพอกับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง แต่ พล.ต.อ.อัศวิน ยืนยันไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง และใกล้จะหมดวาระแล้ว จึงขอฝากให้ผู้ว่ากทม.คนใหม่ดูแลปัญหานี้้ต่อด้วย กระนั้นก็ตามไม่ว่าจะเปลี่่ยนผู้ว่ากทม.อีกสักกี่คน ไม่ว่าจะมีที่มาจากการแต่งตั้้งหรือเลือกตั้้ง ถ้าหากแผนการระบายน้ำยังย่ำอยู่ที่เดิมก็ยากจะที่เอาชนะปัญหาได้ ที่ผ่านมาผู้ว่ากทม.แทบทุกคนก็ต้องเผชิญกับวิกฤติศรัทธาฝนตกรถติดมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น บางคนเลือกลงพื้นที่เพื่อเยียวยาในเชิงจิตวิทยา แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน

 


          อุโมงค์ระบายน้ำที่จะทำหน้าที่สูบน้ำจากเขตต่างๆ ระบายลงสู่แม่นำเจ้าพระยา นับเป็นแนวทางหลักของการระบายน้ำ เนื่องจากคูคลองที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน ก็บ่งชี้อีกครั้งหนึ่งว่าอุโมงค์ระบายน้ำไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะเอาเข้าจริงก็ต้องพึ่งพิงกระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อนมอเตอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้บริหารกทม.ก็ยอมรับว่ามอเตอร์ขนาด 6,600 วัตต์ ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าจากกฟน.เท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น อย่างเช่นเครื่องสูบน้ำสำรองซึ่งเชื่อกันว่าควรจะต้องมีสำหรับโครงการใหญ่อย่างอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อที่มีความสามารถระบายน้ำได้วินาทีละ 60 ลูกบาศก์เมตรผ่านอุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ระยะทาง 6,400 เมตร ระบายน้ำจาก กทม.ชั้นใน คือ ดุสิต บางซื่อ พญาไท ห้วยขวาง ดินแดง และจตุจักร 

 


          เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้บริหารกทม.แถลงว่า กทม.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 13,825.2 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2569 หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำท่วมขังในเขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน จตุจักร ครอบคลุมพื้นที่ 109 ตารางกิโลเมตร  ระบายน้ำได้วันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่นั่นก็ยังอีกหลายปี ปัญหาขณะนี้คือทำอย่างไรให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำรองให้หลากหลายขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญก็คือต้องนำบทเรียนจากอุโมงค์บางซื่อที่มีปัญหาไฟฟ้าดับมาสร้างระบบป้องกันสำหรับโครงการใหม่มูลค่า 13,825.2 ล้านบาท เพื่อไม่ให้สูญเปล่าหรือไม่คุ้มค่า เกิดปัญหาซ้ำซาก เพราะจะว่าไป เรื่องไฟฟ้าดับนับเป็นข้ออ้างมาตลอด โดยละเลยเหตุผลข้อที่ว่า ออกแบบมาอย่างไรไปเสีย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ