คอลัมนิสต์

พี่น้องพยัคฆ์บูรพา ฝ่าดงระเบิด"นักเลือกตั้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 8 มิ.ย.2562

 

**************

          สอบผ่านยกแรกที่ประชุมร่วมสองสภาโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ยกต่อไปก็เป็นการจัดคณะรัฐมนตรีที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา รวมถึงการเกลี่ยตำแหน่งทางการเมืองให้พรรคขนาดเล็กอีก 10 กว่าพรรค       

         

          นักรัฐศาสตร์บางกลุ่มเรียก “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ในทางทฤษฎีว่าเป็นระบอบ “อำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง” (Eletoral Authoritarianism)

 

          ระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศได้อาศัยกระบวนการเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองด้วยการอ้างเสียงสนับสนุนข้างมากทำให้เกิดอำนาจนิยมแบบใหม่

 

พี่น้องพยัคฆ์บูรพา  ฝ่าดงระเบิด"นักเลือกตั้ง"

ภาพจาก Wassana Nanuam

 

          ด้าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มาถ่ายทอดความเห็นของพล.อ.ประยุทธ์ หลังได้รับทราบผลโหวตในรัฐสภาว่า คะแนนเสียงที่มากกว่านั้นได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วค่อยรวมกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเป็น 500 คะแนน ซึ่งก็เป็นไปตามกติกา

 

          จะอย่างไรก็ตาม วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเลือกนายกฯ รัฐธรรมนูญเป็นไปตามกติกาที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยสิ่งสำคัญประชาชนต้องยอมรับในกติกาในรัฐธรรมนูญด้วย

 

          “วุฒิสาร” เชื่อว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจรับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ก็ต้องทราบในเงื่อนไขอยู่แล้วว่า การทำงานจากนี้ไปจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีเอกภาพไปสู่กระบวนจัดการบริหารแบบปกติ ในคณะรัฐมนตรีมีนักการเมืองมากกว่าทหาร และมีการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

 

 

มาจากรัฐธรรมนูญ 60

          ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดการเมือง วาทะร้อนๆ “เราไม่ได้พ่ายแพ้ แต่ชัยชนะของเราถูกปล้นไป” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จึงถูกแชร์ไปในสื่อโซเชียลยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง

 

          จริงๆ แล้ว พรรคอนาคตใหม่ ได้ปูพรมแคมเปญหยุดการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร มาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “ธนาธร” ปลุกกระแสต้าน “250 ส.ว.” ว่าเป็นผลไม้พิษของ คสช.

 

          พรรคการเมืองที่อ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็ทราบดี รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 นั้น ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว โดยจัดขึ้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 มีประชาชนคนไทยทั่วประเทศมาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 50.07 ล้านเสียง

 

          ที่สำคัญในการออกเสียงประชามติครั้งนั้นมีคำถามที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์ต้องตอบทั้งสิ้น 2 ข้อ ได้แก่ 1.การรับรองร่างรัฐธรรมนูญว่าจะ “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช … ทั้งฉบับ” 2.การให้ความเห็นชอบคำถามพ่วงว่าจะให้ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่

 

          ผลการลงคะแนนเสียงในประเด็นคำถามพ่วงนี้ ปรากฏว่าผู้มาใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่ 15,132,050 คน (58.07%) เห็นด้วยกับการให้ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะที่เสียงส่วนน้อย 10,926,648 คน (41.93%) ไม่เห็นด้วย

 

          เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับประเด็นดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 272 ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยมติของสภาร่วม (ส.ส.+ส.ว.)

 

 

มาจากยุคทักษิณ

          ค่อนข้างแน่ชัดว่าคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 1 จะได้ไปต่อในรัฐบาลใหม่เพียง 3 คนคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และวิษณุ เครืองาม 

 

          ดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะอยู่ในความสนใจของนักข่าวมากกว่าใครเพื่อน มีการสอบถามเกือบทุกวันว่า จะได้นั่งในตำแหน่งเดิมหรือไม่? อันเนื่องจาก “บิ๊กป้อม” กลายเป็นตำบลกระสุนตกในห้วงเวลาที่ผ่านมา 

 

          ในรอบ 60 ปี ไม่มียุคใดสมัยใดที่จะมีนายทหารจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือที่นักข่าวชอบเรียกว่า “บูรพาพยัคฆ์” ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกติดต่อกัน ตั้งแต่คนที่ 36 จนถึงคนที่ 39

 

พี่น้องพยัคฆ์บูรพา  ฝ่าดงระเบิด"นักเลือกตั้ง"  

 

         ผู้ที่กรุยทางให้รุ่นน้องจากนักบูรพาได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำกองทัพถึง 4 คนคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 34 

 

          ยุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย ดันแคน แมคคาร์โก และอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ วิจารณ์ว่าเป็นการนำทหารกลับสู่การเมืองอีกครั้ง ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ต้องการมีอำนาจเหนือทหาร ด้วยการนำทหารกลับสู่การเมืองมาเป็นฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งและลดโอกาสการทำรัฐประหาร

 

          ด้วยเหตุนี้ทักษิณจึงแต่งตั้งผบ.ทบ.ให้อยู่ในตำแหน่งได้คนละ 1 ปี และ “บิ๊กป้อม” ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากนายทหารรุ่นพี่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีกลาโหม (ปี 2547), เสนาะ เทียนทอง และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ได้เป็น ผบ.ทบ.คนที่ 34 

 

          จังหวะที่ “บิ๊กป้อม” เป็นแม่ทัพบก จึงได้ขยับน้องรัก 2 คนที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ “บ้านทหารเสือ” คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มีตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพภาคที่ 1 

 

          พล.อ.ประวิตร เติบโตบนเส้นทางเหล็กในยุคการเมืองครอบงำทหาร หรือยุค “ทหารพาณิชย์” ซึ่งเวลานั้นมีอดีตนายทหารใหญ่เข้าไปทำงานการเมืองกับทักษิณมากกว่า 10 คน

 

          “บิ๊กป้อม” จึงมีบุคลิกใกล้เคียงกับนักการเมืองยุคโบราณคล้าย “โคว้ตงหมง” ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ มือประสานสิบทิศสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร บิ๊กป้อมเป็นคนมี “พวกเยอะ” เหมาะสมกับระบอบการเมืองอุปถัมภ์แบบไทยๆ

 

          หลังเกษียณอายุราชการ พล.อ.ประวิตร ได้สร้างมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มีสำนักงานอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1.รอ.) เป็นศูนย์รวมเพื่อนพ้องน้องพี่ 

 

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายทหารอาชีพ โตมาบนเส้นทางที่ “พี่ป้อม” กรุยทางไว้ให้ จึงมีข้อจำกัดในการคบค้าสมาคมกับ “คนนอกสายทหาร” 

 

          ฉะนั้นในวันที่รัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพนักเลือกตั้ง การที่มีพี่ใหญ่ยืนอยู่เคียงข้างมีจำเป็นอย่างยิ่ง 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ