คอลัมนิสต์

เสียหายจากการบังคับคดีแพ่ง ฟ้องเรียกร้องที่ศาลปกครองได้ไหม?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เรื่องน่ารู้วันนี้.. กับคีดปกครอง โดย... นายปกครอง

 

 

 

          ในการบังคับคดีแพ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการบังคับคดี ให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลยุติธรรม หากการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือทำให้เกิดความเสียหายขึ้น การฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ ?

 

 

          กรณีที่กล่าวข้างต้นมีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเนื่องจากเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเหตุที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายก็เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการบังคับคดี จึงอาจจะทำให้เข้าใจได้ว่า น่าจะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั่นเอง

 


          วันนี้นายปกครองมีคำตอบเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีนี้มาอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ครับ !!

 


          มูลเหตุของคดีเกิดจาก เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำสั่งศาลแพ่ง ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยินยอม ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ตนได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้ศาลปกครอง มีคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนด้วย




          ศาลปกครองมีอำนาจรับข้อพิพาทในคดีนี้ไว้พิจารณาได้หรือไม่ ?

 


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า แม้เจ้าพนักงานบังคับคดี (ผู้ถูกฟ้องคดี) จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำสั่งศาลแพ่ง การดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการบังคับคดี ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว 


          หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามีการดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีในคดีเดิม (ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) คดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 25/2562)


          จากคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวจะเห็นได้ว่า...การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่การกระทำทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อไม่ใช่คดีปกครอง จึงไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ครับ !! 


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ