คอลัมนิสต์

หวั่น'ลุงตู่'ซ้ำรอย'ถนอม-คึกฤทธิ์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ถอดรหัสลายพราง โดย... พลซุ่มยิง

 

 

          คงไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือก ‘นายกรัฐมนตรี’ แม้จะมีการอภิปรายคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เข้าชิงอย่างยาวนาน แต่สุดท้ายแล้ว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คว้าเก้าอี้นี้ไปครอง สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้การคงอยู่ที่เสถียรภาพของรัฐบาลในสภาวะเสียงปริ่มน้ำ จะสามารถบริหารประเทศได้หรือไม่

 

 

          ไม่ใช่แค่บุคคลภายนอกเท่านั้น ที่แสดงความเป็นห่วงเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ แม้แต่คนในกองทัพก็เริ่มกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมืองนับต่อจากนี้ โดยเฉพาะการดำรงอยู่ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ทำให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะการจัดแถว ส.ส.ที่มาจากหลากหลายพรรคการเมือง โดยมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ไม่เหมือนกับควบคุมกำลังพลในกองทัพ ที่ยึดระเบียบวินัย


          ต้องยอมรับว่า 250 เสียง ส.ว.ที่มาจากการคัดสรรของคณะกรรมการสรรหาที่เป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ทำหน้าที่ได้เพียงช่วยผลักดัน “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เท่านั้น แต่ไม่ได้มีส่วนในการโหวตผ่านกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน


          สิ่งที่ทหารในกองทัพกังวล คือการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง และปัญหาความไม่เป็นหนึ่งเดียวของพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และ 11 พรรคพันธมิตร หากมี ส.ส.นอกลู่นอกทาง ยกมือโหวตให้ฝั่งตรงข้ามในสภาวะรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

 

          เทียบเคียงได้กับ วันโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แว่วๆ ว่าพลังประชารัฐ แค่ต้องการเช็กคะแนนเสียง ส.ส.พรรคร่วมว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ จึงเสนอเลื่อนวาระดังกล่าวออกไป แต่ปรากฏว่า 5 ลูกพรรคตัวเอง ประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย, นายอัครวัฒน์ อัศวเหม, นายอนุชา น้อยวงศ์, นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ และนายอัฏฐพล โพธิพิพิธ โหวตสวนทาง แม้จะมาขอลงมติใหม่ในช่วงหลัง แต่ก็ไม่เป็นผล


 


          “หากวันนั้นเป็นการโหวตผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องงบประมาณแผ่นดิน การเล่นเกมลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อกฎหมายงบประมาณไม่ผ่าน รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ต้องยุบสภา ในขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้ยำเกรง พล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นได้ว่าแค่เริ่มต้นก็มีการต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรี ในอนาคตหากผลประโยชน์ไม่ลงตัว ปัญหาตามมาแน่นอน” แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุ


          ในอดีต การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เคยเกิดขึ้นในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยมี ส.ส.เพียง 18 ที่นั่ง แต่สามารถรวบรวม ส.ส.พรรคต่างๆ รวม 8 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคไท พรรคพลังประชาชน และพรรคอื่นๆ รวม 135 เสียง ได้ครึ่งหนึ่งของสภาโดยมีชื่อเรียกรัฐบาลว่า “รัฐบาลสหพรรค” ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีเสียงมากที่สุด 74 เสียง ตกเป็นฝ่ายค้าน


          ทั้งนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บริหารงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เพียง 304 วัน (14 มี.ค. 2518 – 12 ม.ค. 2519) ก็ตัดสินใจยุบสภา เนื่องจากการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องเผชิญแรงกดดัน โดยเฉพาะเสถียรภาพรัฐบาล ที่มีจำนวน ส.ส.ในสภาแบบก้ำกึ่ง และยังเกิดปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ที่แย่งชิงผลประโยชน์และต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรี โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน เสนอญัตติขอร่วมเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล


          เช่นเดียวกับสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าพรรคสหประชาไทย แม้ได้ ส.ส. 74 ที่นั่ง แต่ยังไม่เพียงพอจะเป็นเสียงข้างมากในสภา จึงได้รวบรวม ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล และสามารถบริหารราชการแผ่นได้เพียง 2 ปีเศษ ก่อนจะตัดสินใจรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เนื่องจากการต่อรองผลประโยชน์ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


          เชื่อกันว่าในประเทศไทยมีอดีต ‘นายกรัฐมนตรี’ เพียง 3 คนเท่านั้น ที่สามารถคุม ส.ส.ในสังกัดจนอยู่หมัด ประกอบด้วย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, นายทักษิณ ชินวัตร ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นคนที่ 4 หรือ เดินตามรอย จอมพลถนอม และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คงต้องรอดูกันต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ