คอลัมนิสต์

วันสิ่งแวดล้อมที่ไทยต้องตระหนัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2562

 

 

          วันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติ อันเป็นผลจากการจัดการประชุมใหญ่ระดับโลกขึ้นระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน 2515 ที่ประเทศสวีเดน มีผู้เข้าร่วมจาก 113 ประเทศ ทั้งนี้เพราะตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมโลกกำลังเป็นปัญหาใหญ่เข้าขั้นวิกฤติ จึงต้องร่วมกันหาทางเยียวยาแก้ไขสภาพปัญหาที่่แต่ละประเทศกำลังเผชิญอยู่ หากแต่ 47 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกลับได้รับการแก้ไขน้อยนิดไม่สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องของมนุษยชาติ ในทางกลับกัน การทำลายล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมกลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี คำเตือนเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนที่ส่งสัญญาณผ่านการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ยังไม่ได้ทำให้หลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญลงได้ อย่างไรก็็ตามในปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติยังเดินหน้ารณรงค์ด้วยคำขวัญ หยุดหมอกควันและอากาศพิษเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

 

 


          กล่าวสำหรับประเทศไทย อาจพูดได้ว่า กำลังประสบปัญหาสภาพแวดล้อมเลวร้ายครบถ้วนทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น อากาศ ผืนดิน และท้องน้้ำ ทั้งน้ำจืดและในทะเล ดูจากสภาพอากาศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัดต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษขนาด 2.5 ไมครอน ที่สามารถเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบหายใจ เป็นภัยต่อสุขภาพ นั่นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยตรง อันควรจะนำมาซึ่งการตระหนักรู้ และร่วมแรงร่วมใจกันเยียวยา มีคำยืนยันจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าได้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ดูแลการปล่อยมลพิษจากสถานประกอบการ โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ตรวจจับฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถยนต์ แก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ลดการเผาในที่โล่ง รวมทั้้งขยายความร่วมมือไปยังประเทศในภูมิภาค เช่นเดียวกับอีกหลายมาตรการเพื่อลดฝุ่นพิษในเมือง เช่น เร่งรัดการใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 เป็นต้น 

 


          อีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทายแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศก็คือมาตรการแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช และหนอนแมลงศัตรูพืช แต่จนแล้วจนรอด การต่อสู้เพื่อหยุดยั้้งการใช้สาร 3 ชนิดนี้้ในแปลงเกษตรโดยคณะแพทย์ องค์กรเอกชน หน่วยงานด้านสาธารณสุข กลุ่มเกษตรอินทรีย์กลับประสบความพ่ายแพ้มาแล้วหลายยก แม้ล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีมติให้หยุดการใช้สารเคมีเกษตรพวกนี้้ในเวลา 3 ปี แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ มีกรรมการชุดหนึ่งนำเสนอสมุดปกขาวเป็นข้อมูลถึงนายกรัฐมนตรี สรุปว่า สารเคมีทั้้ง 3 ชนิดไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา มีประชาชนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็็งเพราะสารเคมีเกษตรลุกขึ้้นมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทสารเคมี และศาลตัดสินให้ผู้ฟ้องชนะคดี แล้วเหตุใด บางฝ่ายในประเทศไทยยังไม่คำนึงถึงโทษภัย หรือว่า เพราะทุนใหญ่หนุนหลังเคมีเกษตรอย่างที่เล่าลือกันอยู่ใช่หรือไม่

 


          สารเคมีในแปลงเกษตร ยังส่งผลเสียหายต่อคุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ อีกด้วย จากการสำรวจของหน่วยงานทางวิชาการพบว่า สารจำพวกนี้ปนเปื้อนในน้ำในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเทศไทยซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งสังคมมุ่งไปที่อุทกภัยกับภัยแล้ง ทั้งที่จริงแล้ว การบริหารจัดการต้องรวมถึงคุณภาพน้ำด้วย โดยเฉพาะจากการย่ำยีโดยมนุษย์ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาขยะพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ การลักลอบแผ้วถาง บุกรุกทำลายป่าไม้ ในวาระวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งตรงพอดีกับวันที่รัฐสภาไทยจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็หวังว่า ผู้นำ และรัฐบาลชุดต่อไปจะได้ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมทรุดลงในทุกๆ ด้าน ทั้งน้ำ อากาศ พื้้นดิน ซึ่งล้วนกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างที่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนอยู่แล้ว

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ