คอลัมนิสต์

กู้หน้า"ปชป."พ้นล่มศรัทธา.. บทบาท"ชวน"ที่มากกว่า ปธ.สภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ขนิษฐา เทพจร


 

          เกมการเมือง ในสภาหินอ่อน กับปฐมบท ที่ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” จำนวน 494 คน ลงคะแนนเสียงข้างมาก 358 เสียง สนับสนุน “ชวน หลีกภัย" นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย จนชนะคู่แข่งจากฟากเพื่อไทย ​“สมพงษ์​ อมรวิวัฒน์” ถือเป็นเรื่องที่ไม่ผิดความคาดหมายนัก

 

 

          สำหรับเสียงข้างมากที่สนับสนุนนั้น แม้จะเป็นการลงคะแนนลับ แต่พอเดาทางออกว่า พรรคที่เทเสียงสนับสนุนคือ ฝั่งที่กำลังจะฟอร์มรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ฟากตรงข้าม ที่ศรัทธาในตัว “นายหัวชวน”


          พลันที่ได้รับเลือก และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อ 31 พฤษภาคม หมุดหมายแรกที่ “ประธานสภา ​คนที่ 26” ตั้งใจทำคือ “ปฏิวัติภาพลักษณ์สภาหินอ่อน” ที่ก่อนหน้านี้ ถูก “กลุ่มทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง” ดูถูกว่า เป็น สภาไม่ได้เรื่อง เพราะสร้างแต่ปัญหาวุ่นวาย

 

 

 

กู้หน้า"ปชป."พ้นล่มศรัทธา.. บทบาท"ชวน"ที่มากกว่า ปธ.สภา

 


          การปรับภาพลักษณ์ที่ว่า คงไม่มีใครปฏิเสธ หรือไม่ให้ความร่วมมือ เพราะการกู้หน้าการทำงานในสภาหินอ่อนฝ่ายการเมือง ย่อมเป็นผลดี รวมถึงเป็นแต้มต่อให้แก่ทุกขั้วการเมืองที่จะใช้หาคะแนนเสียงความนิยม


          แต่ส่วนนี้ต้องแยกให้ออกจากการทำหน้าที่ดูแลและควบคุมการประชุมให้เรียบร้อยและเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม


          ซึ่งการทำหน้าที่ “ประธานสภา” ​ของนายชวน สมัยที่ 2 ที่ห่างจากสมัยแรก เมื่อปี 2529 ถึง 33 ปี ย่อมมีสิ่งที่ต้องจับตา ภายใต้กฎที่ปรับเปลี่ยน และภาวะสังคมของผู้แทนราษฎรที่เปลี่ยนไป

 

          หากย้อนไปถึงการทำหน้าที่ประธานสภา​ ในสมัยแรก ช่วงสิงหาคม 2529 - เมษายน 2531 จากคำบอกเล่าคนใกล้ชิด อย่าง “สมบูรณ์​ อุทัยเวียนกุล” อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่เลขานุการประธานสภา ถ่ายทอดรอยจารึก ที่รับฟังจากปากของ “นายหัวชวน” ไว้ว่า


 


          "สมัยที่ทำหน้าที่ประธานสภายุคนั้น เรียกว่ามีนักการเมืองชั้นเซียน และเก๋าเกม อยู่มากพอดู ทั้ง สมัคร สุนทรเวช หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ดาวสภายุคนั้น ซึ่งนายชวนต้องใช้ไหวพริบ และความแม่นยำในข้อบังคับรับมือ เช่น การทำหน้าที่ครั้งหนึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ขออภิปราย แต่ไม่ได้ขออนุญาตจากที่ประชุมก่อน ทำให้นายชวน ฐานะประธานขณะนั้น กล่าวว่า คุณเฉลิมต้องขออนุญาตจากประธานก่อนถึงอภิปรายได้ แต่เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ผมขออนุญาตท่านประธาน นายชวน กล่าวตอบว่า ได้ ผมไม่อนุญาต” อดีต ส.ส.ตรัง เล่า


          เช่นเดียวกับ การใช้ลีลาทางการเมือง สยบดาวสภาฝีปากกล้าที่ชื่อ “สมัคร”

 

 

 

กู้หน้า"ปชป."พ้นล่มศรัทธา.. บทบาท"ชวน"ที่มากกว่า ปธ.สภา

 


          “ตอนนั้นคุณสมัคร สุนทรเวช อภิปรายในสภา และถูกมองว่าพูดโกหก ซึ่งคุณสมัครจะขอยืนยันว่าไม่ได้โกหก ผ่านการสาบานให้ฟ้าผ่า ซึ่งนายชวนที่ทำหน้าที่ประธาน กล่าวขึ้นว่า ผมไม่อนุญาตให้ทำ เพราะสภานี้อยู่กันหลายคน” สมบูรณ์ เล่า พร้อมอธิบายขยายความว่า หมายถึงหากฟ้าผ่าจริง อาจมีคนอื่นๆ โดนลูกหลง ไม่เฉพาะตัวของท่านสมัครเท่านั้น แต่กว่าคนที่พูดด้วยจะเข้าใจประเด็นนี้ คือ กลับบ้านไปนอนคิด ถึงคิดออกว่า คำพูดของนายชวนกรีดใจไปไหนถึงไหนแล้ว


          ดังนั้นบทบาทในสภาหลังจากนี้ไป เชื่อแน่ว่า การยึดหลักการ และใช้ลูกเล่นที่สยบความกราดเกรี้ยวของ “ส.ส.ฝีปากกล้า หรือ ส.ส.ใหม่ ที่อยากลองของ” ของ “นายชวน” จะมีปรากฏและบันทึกในเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยแน่นอน


          อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์สำคัญที่สังคมจับตา คือบทบาทของ “ประธานสภา” ที่ชื่อ “ชวน หลีกภัย” และภายใต้ยกแรกของการทำหน้าที่สำคัญ​ ในวันที่ 5 มิถุนายน กับบทบาท “ประธานรัฐสภา”​ เพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30


          จะพ้นการคอนโทรลของ “พรรคพลังขั้วทหาร”​ ได้หรือไม่


          ประเด็นนี้ถูกวิเคราะห์ จาก “อ.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำหน้าที่ของนายชวนตามระบบที่ส่งมาให้เป็นประธานสภา เชื่อว่าบารมีจะมากพอที่จะอยู่เหนือการควบคุมที่ว่า เพราะนายชวนถือเป็นผู้มีบารมีทั้งจากการผ่านการดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี และประธานรัฐสภามาแล้ว ทำให้หลายฝ่ายเกรงใจ รวมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายระดับ เพราะนายชวนมีบุคลิกที่เป็นที่ยอมรับ และถูกกล่าวขานว่าเป็น จอมหลักการ


          “หากทหารคิดจะควบคุมนายชวน ผมเชื่อว่าเกมในสภา จะถูกแบ่งการเล่น หากเรื่องไหนที่เป็นผลดีให้พรรคพลังประชารัฐ เขาจะสลับให้ รองประธานคนที่หนึ่ง สุชาติ ตันเจริญ คนของพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ควบคุมเกม ส่วนนายชวนจะออกโรงเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นข้อเสนอจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือหากมีเรื่องที่รองประธานสภารับไม่ไหว อาจสลับให้ นายชวนที่เปี่ยมด้วยภาพลักษณ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับมาเบรกเกม” อ.สติธร วิเคราะห์


          ส่วนสำคัญที่ “นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า” มองเช่นนั้นคือ ปัจจัยรอยร้าวที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งความแตกร้าวภายในและภายนอกจากผลการเลือกตั้งที่พังยับเยิน ดังนั้น บทบาทของนายชวน แม้จะเป็นประธานฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถือเป็นพลังแฝงที่สำคัญต่อการกู้ภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และเรียกศรัทธาให้ฟื้นในสายตาของสังคม


          “ดังนั้น ภาพของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สังคมจับตา แม้จะเป็นเนื้อแท้ของประชาธิปัตย์ สิ่งที่นายชวนต้องทำให้สังคมเห็นในเชิงประจักษ์มากกว่านั้น คือ ไม่ยอมผิดหลักการ แม้กับพรรคฝั่งของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าหากนายชวนสามารถทำได้ การประคับประคองเสียงข้างมากในสภา​ที่ปริ่มน้ำ หรือทิ้งห่างเสียงข้างน้อยไม่เกิน 10 เสียงให้อยู่ได้ตามวาระด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ผูกเข้าไว้ด้วยกัน​แม้การต่อสู้ในสภา ที่พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นอภิปรายตั้งแต่วันแรกที่ฝ่ายบริหารเริ่มทำงาน แต่อาจเป็นเพียงการตอดเล็กตอดน้อย ไม่ถึงขั้นล้มฝ่ายบริหารกลางสภาได้ ยกเว้นแต่จะมีเรื่องที่ขัดผลประโยชน์กันจริงๆ” นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ประเมิน


          กับบทวิเคราะห์ที่ผ่านมา เมื่อมองผ่านฉากการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร​บทแรก ย่อมสะท้อนบริบททางการเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะเสียง 358 เสียงที่ส่ง “ชวน” นั่งแท่นประธานรัฐสภาได้นั้น ย่อมมีเสียงจาก “ขั้วพลังประชารัฐ” ที่มี “ทหาร”​ หนุนหลัง ผ่านสัญลักษณ์บัญชีแคนดิเดตนายกฯ​ ที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


          ดังนั้นการทำหน้าที่ ประธานสภา เพื่อปกป้องคนที่สนับสนุน ซึ่งเหมือนเป็นการตอบแทนกัน กำลังถูก “นักการเมืองฝั่งที่เรียกว่า ฝ่ายประชาธิปไตย” จับตาเช่นกัน


          ประเด็นนี้คนเพื่อไทย อย่าง “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน บอกว่าหลังการเลือกนายชวนเป็นประธานสภา เขาเชื่อว่า สมาชิกจะเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของ “นายหัวชวน” ว่า จะรักษาความเป็นกลาง ระหว่างทำหน้าที่​ตามที่ ส.ส.ในสภาเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวประธาน จากเกียรติประวัติซึ่งเคยรับตำแหน่งสูงสุดทางบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีมาแล้ว


          “ท่านชวนเป็นนักการเมืองที่ยึดหลักการ รวมถึงข้อบังคับการประชุม กติกา รัฐธรรมนูญ ดังนั้นผมเชื่อว่าการทำหน้าที่นั้นจะไม่มีคำว่าลำเอียง แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าท่านอาจจะเจอภาวะทำงานที่อึดอัดพอสมควร เพราะการรักษาความเป็นกลางในรัฐสภา ที่แม้จะมี 3 ฝ่าย คือ ส.ว. 250 คน, ส.ส.เสียงข้างมาก และ ส.ส.เสียงข้างน้อย แต่เมื่อรวมกลุ่มกันจริงๆ จะพบเพียง 2 ฝ่าย คือ เสียงข้างมากระดับมากของรัฐสภา และเสียงข้างน้อยของสภา ดังนั้นการเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปราย รวมถึงควบคุมการประชุมให้ทัน จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา”


          กับด่านแรกที่เป็นบทพิสูจน์ความเชื่อมั่นจากพรรคการเมืองอีกฝ่ายของสภา คือ “การลงมติเพื่อเลือกนายกฯ” ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 5 มิถุนายนนี้


          โดยล่าสุด “วาระโหวตนายกฯ” พรรคเพื่อไทยเตรียมจองกฐิน บุคคลที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้โหวตเป็นนายกฯ ซึ่งมีชื่อ​ “พล.อ.ประยุทธ์” เพียงคนเดียว คือ ประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่จะเข้ารับหน้าที่ ว่าด้วย "ความมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ พนักงานของรัฐ" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของการได้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส." ซึ่งโยงถึงการนั่งในตำแหน่ง “ประมุขฝ่ายบริหาร”


          “แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดขั้นตอนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งการลงคะแนนโดยเปิดเผย ตามบัญชีท่ี่พรรคการเมืองเสนอช่วงเลือกตั้ง แต่ก่อนการลงมติ สมาชิกรัฐสภา มีสิทธิที่จะสอบถามและตรวจสอบ แบบไม่มีการลงมติในคุณสมบัติที่เป็นข้อสงสัย ก่อนจะตัดสินใจลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งตามวิถีที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง และไม่ขัดกับบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้” นพ.ชลน่าน กล่าว


          ดังนั้นภาพของการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ของ “นายชวน” จึงเป็นปฐมบท ที่จะยืนยันในความศรัทธาจากสมาชิกแห่งรัฐสภา ว่าจะเป็นไปตามนั้นได้จริงหรือไม่


          หากจุดเริ่มต้น ไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง เชื่อว่า ความอยู่ยากภายใต้การอยู่ร่วมกันของ ส.ส.ที่แบ่งขั้วอย่างชัดเจนด้านอุดมคติ ประชาธิปไตย จะบังเกิดขึ้น และกลายเป็นความยุ่งยาก ที่ส่งผลสะเทือนไปยัง “รัฐบาล” หลังการเลือกตั้ง อย่างแน่นอน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ