คอลัมนิสต์

เหตุใด "เหวง" จึงซูฮก "ป๋าเปรม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ชูธงทวนกระแส โดย... พรานข่าว

 

 

          เท่าที่ตรวจสอบดูในสื่อโซเชียล มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่เข้าใจบริบทสังคมการเมืองเรื่องคำสั่งที่ 66/2523 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในช่วงสงครามกลางเมืองกำลังร้อนแรง จึงมองข้ามคุณูปการอันสำคัญยิ่งของท่านรัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน ผู้นำความปรองดองกลับคืนสู่ประเทศ

 

 

          นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ได้เขียนแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พล.อ.เปรม เมื่อ 27 พฤษภาคม 2562 ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวน่าสนใจยิ่ง


          “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคุณงามความดีต่อแผ่นดินหลายด้านหลายประการ แต่สำหรับส่วนตัวผมแล้ว คุณงามความดีที่ผมต้องการพูดถึง (ซึ่งอันที่จริงผมได้พูดมาโดยตลอด ไม่ใช่มาพูดในวาระที่ท่านถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว) เพราะว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เฉพาะในวาระที่ท่านมีอำนาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่เป็นแบบฉบับที่สามารถนำมาใช้ได้โดยตลอดไป...”


          ท่าทีของแกนนำ นปช. แสดงถึงวุฒิภาวะของนักการเมืองคนหนึ่ง ที่แยกเรื่องอดีต และปัจจุบันได้ชัดเจน


          ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของ “ป๋าเปรม” สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หมอเหวงชี้ชัด “นั่นคือการยุติสงครามกลางเมืองที่สู้รบกันมาอย่างยาวนานระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับรัฐบาลไทย”


          ดังที่รู้กัน พล.อ.เปรม ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ให้ “ยุติสงครามกลางเมืองด้วยการเมืองนำการทหาร” เมื่อ 23 เมษายน 2523


          ระหว่างนั้น “เหวง” หรือ “สหายเข้ม” เป็นนายแพทย์ประจำหน่วยหมอ ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สาขาอีสานเหนือ บริเวณเทือกเขาภูพาน 

 

 

          ต้นปี 2524 “สหายสยาม” เลขาธิการใหญ่ พคท.อีสาน กับนักศึกษาที่เข้าป่าหลัง 6 ตุลา 19 เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง เกี่ยวกับแนวทางการปฏิวัติ นักศึกษาประมาณ 100 คน จึงขอคืนเมือง ยกเว้น “สหายเข้ม” คนเดียวที่ยังยืนหยัดอยู่บนภูพาน



 


          หลังจากขบวนนักศึกษาทิ้งภูพาน สหายสยามก็ปรับทัพครั้งใหญ่ ปลุกขวัญนักรบชาวนาให้ยืนหยัดต่อสู้ตามแนวทาง “ชนบทล้อมเมือง” โดยมีสหายเข้ม ยืนเคียงข้าง


          สหายสยาม ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ “การทหารนำการเมือง” เพื่อกู้วิกฤติศรัทธา ภายใต้คำขวัญ “ทุกคนเป็นทหาร ทุกหน่วยงานประสานการรบ และหนุนช่วยสงคราม”


          ด้วยความเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์การทหารนำการเมือง จะเอาชนะ “การเมืองนำการทหาร” ของรัฐบาลเปรมได้


          แม้จะมีข่าวสารชัยชนะจากสนามรบ แต่ด้วยความเหนื่อยล้า ความสิ้นหวัง ก็ทำให้ “ทหารป่า” ทยอยออกมอบตัวไม่ขาดสาย และความคาดหวังที่จะเอาชนะยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารของ พล.อ.เปรม ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


          เหตุการณ์สหายเขตงาน 444 (มุกดาหาร-อำนาจเจริญ-ยโสธร) จำนวน 400 คน ยกขบวนมอบตัวครั้งใหญ่ เมื่อ 1 ธันวาคม 2525 ส่งผลให้คำสั่ง 66/23 การเมืองนำการทหาร ของ พล.อ.เปรม โดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั่วประเทศ 


          เบื้องหลังการมอบตัวครั้งใหญ่ คือ มีสหายนำเขตงาน 444 เข้ามาเจรจาสงบศึกกับรัฐบาล พล.อ.เปรม โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้แทนเจรจาฝ่ายรัฐบาล


          ฝ่ายสหายในป่า ตั้งเงื่อนไข 3 ข้อคือ 1.ไม่เอาโทษทัณฑ์ย้อนหลัง 2.ขอบ้าน 1 หลัง ที่ดิน 15 ไร่ 3.ขอให้เรียกว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” แทนคำว่า “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กลับใจ”


          พล.อ.เปรม ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้เซ็นคำสั่ง 66/23 รับข้อเสนอของสหายเขตงาน 444 ทุกข้อ และให้กองทัพภาคที่ 2 จัดงานวันสันติภาพ ต้อนรับ “เพื่อนร่วมชาติ” อย่างยิ่งใหญ่ ที่บ้านบาก อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร และมอบหมายให้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ไปรับพี่น้องร่วมชาติด้วยตัวเอง 


          ถัดจากนั้นไม่นาน “หมอเหวง” หรือ “สหายเข้ม” ได้เข้าพบกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แสดงความจำนงขอกลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทยเช่นกัน และเขียนหนังสือชื่อ “ป่าแตก” วิพากษ์การนำที่ผิดพลาดของ พคท.


          ด้วยเหตุนี้ หมอเหวงจึงเขียนถึง พล.อ.เปรม โดยไม่หวั่นกระแสตีกลับจากคนเสื้อแดง เพราะนี่คือเรื่องจริงที่จับต้องได้


          “ถ้าไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะนำความปรองดองสมานฉันท์ และสันติสุขคืนมาสู่ประเทศไทย และระหว่างประชาชนไทย ได้สงบเรียบร้อยราบรื่นเช่นนี้หรือ” 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ