คอลัมนิสต์

'วรรณกุล ไสยเขต' หญิงไทยไร้สิทธิ์ชีวิตสั้นกว่าการรอคอย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วรรณกุล ไสยเขต หญิงไร้บ้าน วัย 61 ปี สิ้นลมหายใจลงพร้อมกับความสิ้นหวังที่จะได้รับสิทธิเป็นคนไทยไปตลอดกาล

 

         


          ตอนมีชีวิตอยู่ ป้าวรรณกุล พยายามยื่นเรื่องขอทำบัตรประชาชนหลายครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะติดเงื่อนไขทางราชการหลายอย่าง

 

          เธอจึงต้องอยู่อย่างคนไม่มีสิทธิ์มาชั่วชีวิต

 

 

          ข่าวการจากไปของป้าวรรณกุล ได้รับการเปิดเผยจากเครือข่ายคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ผ่าน วรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ทำให้รู้ว่า ป้าวรรณกุล ไม่เคยได้รับสิทธิ์ใดที่คนไทยพึงมีเลย หรือแม้แต่สิทธิด้านหลักประกันสุขภาพที่คนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายได้รับ เธอก็ยังไม่มีสิทธิ์

 

 

'วรรณกุล ไสยเขต' หญิงไทยไร้สิทธิ์ชีวิตสั้นกว่าการรอคอย

วรรณา แก้วชาติ

 


          วรรณา บอกว่า เมื่อปลายเดือนเมษายน 2562 ได้รับแจ้งจาก เครือข่ายคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ว่ามี “คนไทยไร้สิทธิ” เสียชีวิตลงเมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา หลังจากเพิ่งได้รับผลการตรวจดีเอ็นเอ เมื่อกุมภาพันธ์ 2562 ยืนยันว่าเป็นคนไทยจริง และอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นหลักฐานเพื่อทำบัตรประชาชน ชื่อ น.ส.วรรณกุล ไสยเขต อายุ 61 ปี โดยใช้ที่อยู่ บ้านหนองกุง หมู่ 2 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น


          ป้าวรรณกุล มีอาชีพรับจ้างทั่วไปและเก็บของเก่าขาย เธอพยายามทำเรื่องเพื่อยื่นขอทำบัตรประชาชนหลายครั้ง แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดขั้นตอนที่ต้องตรวจดีเอ็นเอ เพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถึง 8,000 บาท


          แน่นอนว่า สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นคนยากไร้ ฐานะยากจน เงินจำนวน 8,000 บาท ถือว่าสูงมาก เพราะเพียงแค่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ไม่เพียงพอแล้ว


          วรรณา บอกว่า มพศ.ได้ทำงานประสานความร่วมมือกับเครือข่ายคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ในการร่วมพัฒนาศูนย์ฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น มานานแล้ว ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2561 ได้มีการสำรวจจำนวนคนไทยไร้สิทธิเพื่อคืนสิทธิความเป็นคนไทยให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งก็มีชื่อ ป้าวรรณกุล รวมอยู่ด้วย

 





          เครือข่ายคนไร้บ้านซึ่งทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รู้จัก ป้าวรรณกุล และทราบมานานแล้วว่าไม่มีบัตรประชาชน แต่ยังไม่มีช่องทางช่วยเหลือ 


          กระทั่งต่อมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ลงมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ก็มีกระบวนการช่วยเหลือการพิสูจน์สถานะให้แก่คนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน รวมถึงมีช่องทางการตรวจดีเอ็นเอ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 


          ทำให้ ป้าวรรณกุล ได้รับการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ในที่สุด


          วรรณา บอกว่า กรณีของป้าวรรณกุล ทำได้ไม่ยากเพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่มานาน จึงยังมีญาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น เป็นพี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกันมายืนยันสถานะและเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ดีเอ็นเอ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้


          แต่กว่าที่เธอจะสามารถพิสูจน์ความเป็นคนไทยได้ ต้องใช้เวลาทั้งชีวิต จนถึงวันนี้แม้ว่าผลดีเอ็นเอได้ยืนยันความเป็นคนไทยแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับบัตรประชาชน เพราะอยู่ระหว่างดำเนินการและเสียชีวิตลงก่อน


          ที่ผ่านมา ป้าวรรณกุลมีภาวะเจ็บป่วยต้องรับการรักษาต่อเนื่อง แต่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เพราะไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รองรับเหมือนคนอื่น ทำให้ต้องจ่ายเงินเองหรือขอความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลบ้าง


          เวลาเจ็บป่วย ป้าวรรณกุลต้องจ่ายเงินเองมาตลอด และด้วยความที่ป่วยเป็นวัณโรค ทำให้ต้องกินยาต่อเนื่อง ค่ารักษาค่ายาอยู่ที่ 600-1,000 บาทต่อเดือน อาชีพรับจ้างและเก็บของเก่าขายแค่ลำพังค่ากินค่าอยู่ก็ไม่พอแล้ว เมื่อเจ็บป่วยงานก็ทำได้น้อยลงและต้องมาจ่ายค่ารักษาเองอีก ทำให้มีความเสี่ยงมากในชีวิต 


          "ป้าวรรณกุลฝันมาตลอดว่าจะได้มีบัตรประชาชน มีสิทธิบัตรทอง เวลาเจ็บป่วยไปหาหมอจะได้ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ก็มาเสียชีวิตลงหลังได้รับผลตรวจดีเอ็นเอเพียง 2 เดือน”


          วรรณา บอกว่า จากการทำงานมีหลายกรณีที่เป็นแบบนี้ อย่างกรณีของ ยายไอ๊ วาเส็ง คนไทยไร้สิทธิที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ที่กว่าจะพิสูจน์และได้รับสิทธิความเป็นคนไทยก็อายุ 65 ปีแล้ว จนได้รับบัตรประชาชนในปี 2560 แต่ก็เสียชีวิตลงไม่กี่เดือนถัดมา


          กรณีของ ป้าวรรณกุล เป็นกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ในประเทศยังมีกลุ่มคนไทยที่เกิดในประเทศไทย เป็นคนไทยตั้งแต่กำเนิด แต่ยังไร้สิทธิความเป็นคนไทย ไม่มีเลข 13 หลัก ไม่มีบัตรประชาชนอยู่จำนวนมาก


          ปัญหาดังกล่าวเกิดจากสาเหตุที่ต่างกันไป ทั้งกรณีผู้ปกครองไม่ได้แจ้งเกิดให้ เช่นกรณีของ ป้าวรรณกุล และยายไอ๊ ทำให้ไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ เพราะในอดีตมองไม่เห็นความสำคัญของการมีบัตรประชาชน 


          ขณะที่ปัจจุบันการจะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการภาครัฐต่างๆ ต้องใช้บัตรประชาชน


          “กรณีคนหนีออกจากบ้านแล้วบัตรประชาชนหาย และไม่ได้ต่ออายุบัตรประชาชน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ขณะที่กระบวนการพิสูจน์สถานะ แม้ว่าจะมีระเบียบหลักเกณฑ์กำหนดอยู่ แต่ความยากง่ายก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ทะเบียนในอำเภอและเทศบาลแต่ละแห่ง ซึ่งบางคนกังวลกับการรับรองจึงต้องการหลักฐานเอกสารการตรวจดีเอ็นเอที่เป็นผลพิสูจน์ยืนยัน คนที่ไม่มีเงินก็ต้องรอไปก่อน ทำให้บางคนใช้เวลานับสิบปีอย่างกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ดังนั้นภาครัฐควรเร่งดูแลคนกลุ่มนี้ในฐานะคนไทยด้วยกัน”


          วรรณา ยังเผยข้อมูลการสำรวจคนไทยไร้สิทธิที่ มพศ. ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ว่า สามารถเก็บข้อมูลได้จำนวน 700 คนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้คัดกรองข้อมูลเฉพาะที่เป็นคนไทยจริงๆ ประมาณ 600 คน ตัดในกลุ่มที่เป็นคนต่างด้าวออก


          ในจำนวนนี้ได้ผ่านการวิเคราะห์ทางกฎหมายแล้วกว่า 300 คน อยู่ระหว่างทำการวิเคราะห์อีกกว่า 200 คน เบื้องต้นได้ประสานกับเครือข่ายและหน่วยงานในพื้นที่ในการช่วยเหลือแล้วประมาณ 110 ราย โดยมีผู้ที่ได้บัตรประชาชนคืนสิทธิคนไทยแล้ว 15 คน 


          แต่เมื่อย้อนหลังในช่วง 2 ปี ที่มูลนิธิได้ทำงานนี้รวมทุกพื้นที่สามารถผลักดันให้คนไทยไร้สิทธิได้รับบัตรประชาชนแล้วประมาณ 70 คน อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังมีคนไทยไร้สิทธิอยู่อีกจำนวนมาก จึงอยากให้ภาครัฐเปิดลงทะเบียนกับคนกลุ่มนี้


          วรรณา ยังขยายความถึงการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิว่า ขณะนี้มีความพยายามผลักดันเพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในช่วงที่รอการพิสูจน์สิทธิ ทั้งในส่วนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และ สปสช. โดยให้มีงบประมาณรองรับการเบิกจ่ายค่ารักษาที่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันทั้งในส่วนของ พม. และโรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่ารักษาปีละนับสิบล้านบาท


          “คนเหล่านี้เป็นคนไทยควรได้รับสิทธิ เพราะแม้แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายยังมีระบบรองรับที่ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพได้”
 

          อย่างไรก็ดี วรรณา บอกว่า จากการดำเนินงานเพื่อคืนสิทธิให้กับคนไทยไร้สิทธิในช่วง 2 ปี เรื่องนี้ถูกขยับไปค่อนข้างมาก แม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิได้ แต่มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ขณะที่สังคมเริ่มมองเห็นปัญหาและมีความเข้าใจคนเหล่านี้มากขึ้น ดีกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมาไม่ได้สูญเปล่า
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ