คอลัมนิสต์

ฝนมาอย่าลืมแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562

 

 

          กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ตามด้วยการออกคำเตือนต่อมาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ที่จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไล่ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน โดยสรุปก็คือ จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไม่ได้วิตกกังวลว่า ในปีนี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เพราะปริมาณน้ำฝนจะน้อยกว่าเมื่อปี 2560-2561 หากแต่เรื่องที่น่าห่วงใยก็คือสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งยังมีปริมาณน้อยกว่า 30% ของความจุเท่านั้น สทนช.จึงได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยติดตามสถานการณ์น้ำฝนอย่างใกล้ชิด หากสุ่มเสี่ยงกับปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคตก็ต้องประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือจากกรมฝนหลวง

 


          สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ ในภาคเหนือ มีเขื่อนที่น้ำน้อยกว่า 30% ของความจุอ่าง ได้แก่ เขื่อนแม่กวง กับเขื่อนแควน้อย มีน้ำอยู่เพียง 21% ในภาคอีสาน เขื่อนลำปาวมีน้ำ 26% เขื่อนลำพระเพลิงมีน้ำในอ่าง 15% เขื่อนอุบลรัตน์ที่มีความจุอ่างถึง 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร กลับมีน้ำเหลืออยู่ 24% ถือเป็นวิกฤติของเขื่อนแห่งนี้มาเป็นปีที่ 3 ขณะที่เขื่อนห้วยหลวงมีน้ำเหลืออยู่ในอ่าง 21% ส่วนภาคกลาง มีถึง 3 เขื่อนที่ปริมาณน้ำในอ่างน้อยมากน้อยคือ เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา มีน้ำเหลืออยู่ในอ่างเพียง 13-22-24% ตามลำดับ ส่วนในภาคตะวันออก เขื่อนคลองสียัดมีน้ำอยู่ 20% เขื่อนขุนด่านปราการชลเหลือน้ำขอดก้นอ่างเท่าเขื่อนป่าสักฯ คือ 13% อย่างไรก็ตาม เขื่อนอื่นๆ ที่มีน้ำมากกว่า 30% แต่ก็ไม่ได้มากถึงระดับที่น่าพอใจ โดยภาพรวมแล้ว เขื่อนทั่วประเทศมีน้ำสำรองทั้งหมด 37,816 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่างรวมกัน 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 53% ของความจุอ่าง ซึ่งถือว่า สุ่มเสี่ยงที่จะประสบภัยแล้งในปี 2562/2563


          ตามคาดการณ์สำหรับฤดูฝนปีนี้ ของสทนช.สรุปเอาไว้ว่า แนวโน้มฝนตกในภาพรวมจะมีปริมาณฝนไม่มากนัก และจะตกหนักเพียงบางจุด ปริมาณฝนมากเป็นช่วงๆ โดยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายนจะตกหนักบริเวณภาคเหนือ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมจะมีฝนที่ภาคอีสานและภาคกลางเล็กน้อย ขณะที่แหล่งน้ำต่างๆ ยังสามารถรองรับน้ำฝนได้อีกมาก โดยปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วถึง 5,000-6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพายุที่จะเข้าคาดการณ์ว่าจะมี 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จากข้อมูลของ สทนช.ที่ว่านี้ ก็น่าห่วงยิ่งว่า ฝนที่จะตกแบบกระจัดกระจายในทุกภาคจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการให้เติมน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยังมีปริมาณกักเก็บไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนลำปาว ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่เป็นปัญหาในปีต่อๆ ไป


          กระนั้นก็ตาม ในแต่ละภาคของประเทศ สภาพปัญหาการจัดการน้ำก็มีแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ภาคเหนือ ขาดแคลนน้ำบางพื้นที่ตามฤดูกาล หลายพื้นที่มีปัญหาอุทกภัย ภาคอีสาน ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เพราะสภาพพื้นที่ไม่อุ้มน้ำ และหน้าฝนก็จะเกิดอุทกภัยตามลุ่มน้ำต่างๆ ส่วนภาคกลาง พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน และต้องการใช้น้ำปริมาณมาก ซึ่งกรมชลประทานต้องประกาศห้ามทำนาปรังแทบทุกปี ขณะที่ภาคตะวันออกนอกจากขาดแคลนน้ำตามชุมชนริมทะเลแล้ว การก่อเกิดของนิคมอุตสาหกรรม และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ต้องการใช้น้ำปริมาณมหาศาล แต่ตามตัวเลขกักเก็บของเขื่อนต่างๆ 1,515 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำในอ่างรวมกันเพียง 29% หรือ 436 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องบูรณาการแผนงานรับมือให้พร้อมมากที่สุด สำหรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำตั้งแต่หน้าฝนปีนี้ถึงหน้าแล้งปี 2563 อย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อนในการตัดสินใจ นำไปสู่อาการตื่นตูม บริหารผิดพลาดเหมือนในอดีต ที่สำคัญคือ ต้องจัดการน้ำให้เป็นธรรมกับทุกกิจกรรม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ