คอลัมนิสต์

จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี: สำรวจแนวรบฝั่งตะวันออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  รู้ลึกกับจุฬาฯ  ผศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 


          เมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารจากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน และสั่งห้ามธุรกิจอเมริกันทำการค้ากับบริษัทเทคโนโลยีของจีนอย่างน้อย 2 เจ้า นั่นคือ Huawei และ ZTE

 

 

          แถมยังขู่อีกว่าหากจีนยังไม่มีมาตรการในการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ พร้อมกับยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าอย่างไม่เป็นธรรมผ่านกิจการที่เป็นวิสาหกิจของรัฐบาลจีน สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราภาษีอีกระลอก และเที่ยวนี้จะปรับขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ


          มาตรการดังกล่าวนับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในสงครามการค้าระลอกที่ 2 (ระลอกแรกเมื่อกรกฎาคม ปีที่แล้ว) ที่สหรัฐเป็นฝ่ายเริ่มออกอาวุธก่อน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าจาก 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกฝ่ายจีนตอบโต้มาโดยการประกาศว่าจะปรับขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์


          แน่นอนว่าทั่วโลกต่างหวั่นวิตก ทั้งในมิติผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการค้าและการลงทุนของแต่ละประเทศ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เพราะภาษีที่ขึ้นในคราวนี้ กว่า 5,000 รายการสินค้าเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายซื้อนำเข้าโดยตรงจากจีน นำไปสู่ข้อสงสัยมากมาย

 

          แต่สิ่งที่เราจะมาอธิบายกันวันนี้ก็คือ แล้วกับฝ่ายจีนล่ะ เขามีการเตรียมรับมือเตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์เหล่านี้เพียงใด อย่างไร เพราะต้องอย่าลืมว่า สงครามการค้าที่พัฒนาต่อเนื่องเป็นสงครามเทคโนโลยีในคราวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นเพราะสหรัฐเองที่ต้องการกีดกันและปิดล้อมเพื่อไม่ให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ที่สามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกได้ภายใต้  ปรากฏการณ์ที่ถูกมองว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2010

 


 


          สำหรับจีน ทางการจีนตระหนักถึงภัยคุกคามต่ออธิปไตยของจีนบนโลกไซเบอร์ที่ไร้พรมแดนมาตั้งแต่ ค.ศ.1996 เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นครื่องมือสื่อสารใหม่ที่เป็นสากลและเปิดกว้าง ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาอธิปไตย(ความสามารถในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆภายในประเทศของตน) บนโลกไซเบอร์ ที่ง่ายต่อการแทรกแซงจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงจีนเริ่มพัฒนาโครงการ “Golden Shield Project: GSP” ภายใต้การกำกับดูแลของสำนัก Bureau of Public Information and Network Security Supervision มาตั้งแต่ ค.ศ.1997


          รัฐบาลจีนเริ่มควบคุมการเข้าถึงบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ของประชาชนจีนมาตั้งแต่ปี 1998 นั่นทำให้ประชาชนจีนที่ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลบางแหล่งจากต่างประเทศได้ ไม่สามารถเข้าถึง website และ application ต่างๆ ในต่างประเทศได้อย่างอิสระ ซึ่งรวมถึงบริการชื่อดังระดับโลก อาทิ Google, Facebook, Twitter, Wikipedia, Youtube ฯลฯ แน่นอนว่าการปิดกั้นระบบเหล่านี้ภายใต้ The Great Firewall (ชื่อเล่นของ GSP ที่ตั้งล้อกับกำแพงเมืองจีน (The Great Wall)) ก็เป็นผลให้ผู้ผลิตและผู้ให้บริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ของจีนจำเป็นต้องพัฒนาระบบของตนเองขึ้นมาให้ได้


          จากที่ในปี 2000 ผู้คนส่วนใหญ่เปรียบเทียบเสมอๆ ว่าเมื่อทั่วโลกมี Facebook, Amazon และ Google ในจีนก็จะมี application คู่แฝด เช่น Tencent, Alibaba และ Baidu ขึ้นมา แต่นั่นคือการเปรียบเทียบเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว


          เพราะในปัจจุบันหากคนจีนจะซื้อสินค้าและบริการจากบุคคลต่างๆ (เช่นเดียวกับในโลกมี eBay) ในจีนก็จะมี Taobao.com เป็น platform ในการทำธุรกิจแบบ C2C (Customer-to-Customer); หากคนจีนจะซื้อสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจ (Business-to-Customer: B2C) พวกเขาก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย Tmall.com


          คนจีนสามารถสั่งซื้อของสดออนไลน์ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่มีหน้าร้านจริง (On-line to Off-line: O2O) ที่สามารถสั่งให้ทางร้านต้ม ทอด ปิ้ง ย่างของสดเหล่านั้นแล้วนำมาส่งถึงบ้านด้วย Hema คนจีนสามารถจองตั๋วเครื่องบินและที่พักด้วย Feizhu เหมือนกับที่พวกเราใช้ Agoda, Expedia, และ Traveloka คนจีนดูคลิปวิดีโอออนไลน์ ผ่าน Youku และ Tudou.com เพราะเข้า YouTube ไม่ได้


          ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ Blockbuster ชื่อดังอย่าง Mission Impossible ภาคล่าสุด Fall Out ก็ผลิตโดย Alibaba Pictures พวกเขาเล่นเกมผ่าน 9Apps Gaming Platform ฟังเพลง On-line ผ่าน Ali Music ใช้ Social Media ที่ชื่อ Weibo กู้เงินออนไลน์โดยสถาบันการเงิน Ant Financial Service ซึ่งเป็นเจ้าของระบบการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่พวกเรารู้จักกันในนาม AliPay


          ด้านเจ้าของร้านโชห่วยก็ไปซื้อสินค้าจากบริการค้าส่ง LST.1688.com ขณะที่ผู้บริโภคก็เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ Bailian แต่ถ้าอยากช็อปปิ้งมากกว่าของร้านสะดวกซื้อ ก็เข้าไปที่ Intime Retail หรือร้านที่เป็นแหล่งรวมสินค้าวัยรุ่นเฟี้ยวๆ ก็ต้อง Koubei หรือ ซื้อของแบรนด์เนมผ่าน Yintai Center และสินค้าทั้งหมดนั้นก็จะถูกจัดส่งไปที่บ้านด้วยบริการโลจิสติกส์ Cai Niao ที่สำคัญคือเขาไม่ได้เข้า website บริการเหล่านี้ด้วย Google Chrome เหมือนที่พวกเราใช้กันในประเทศไทยนะครับ เพราะเขามี Web Browser ของตัวเองที่ชื่อ UCBrower


          แต่ความมหัศจรรย์คือ ทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงไปแล้วในย่อหน้าที่แล้วคือ สารพัดเครื่องมือของบริษัทเพียงบริษัทเดียวนั่นคือ Alibaba Group


          ดังนั้นในปี 2019/2020 Alibaba จึงไม่ใช่คู่ชกที่เปรียบมวยกับ Amazon.com เท่านั้น และต้องอย่าลืมด้วยว่า Tencent, Baidu, JD ฯลฯ ต่างก็มีระบบนิเวศหรือมีจักรวาลของตนเองที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Alibaba และนั่นเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนสร้าง The Great Firewall ขึ้นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เพราะเมื่อไม่สามารถใช้งานบริการของต่างชาติได้ คนจีนก็พัฒนาเทคโนโลยีของตนขึ้นมาใช้ และเผลอๆ จะแซงหน้าเทคโนโลยีของฝั่งตะวันตกได้ด้วยในบางกรณี


          ดังนั้นการที่บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐถูกสั่งไม่ให้ค้าขายกับบริษัทอย่าง Huawei ของจีน แน่นอนในระยะสั้นมีผลกระทบ แต่ในระยะต่อๆ ไป จีนก็จะสามารถพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาทดแทนชิ้นส่วนและบริการที่ต้องนำเข้าได้อย่างแน่นอน นอกจากการปิดกั้นแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่จีนทำเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะจีนมีตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ เพราะต้องอย่าลืมว่าประชาชนจีนกว่า 1.4 พันล้านคน นอกจากจะเป็นตลาดขนาดใหญ่แล้ว นี่ยังเป็นแหล่งรวมของทรัพยากรมนุษย์ที่ใหญ่และหลากหลายที่สุดอีกด้วย


          นโยบายของรัฐบาลจีนเองก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการค้าและการลดการพึ่งพาสหรัฐและตะวันตกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงปลายของผู้นำรุ่นที่ 4 Hu Jintao ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ผู้นำรุ่นที่ 5 Xi Jinping ช่วงนั้นเป็นช่วงที่จีนได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากวิกฤติเศรษฐกิจ Sub-Prime ในสหรัฐและในยุโรป วิกฤติในสหรัฐและยุโรปทำให้กำลังซื้อตกต่ำ และในเมื่อกว่า 80% ของ GDP ของจีนในขณะนั้นขึ้นกับการส่งออก และตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีนก็คือสหรัฐและยุโรป นั่นทำให้จีนเจอภาวะถดถอยในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออก จนนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2009/2010 ภายใต้นโยบาย New Normal (新常态, Xīn chángtài)


          ภายใต้การปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าว จีนตั้งเป้าหมายไว้ 2 เป้าหมาย นั่นคือ 1) การลดการพึ่งพาการส่งออก และกำหนดเป้าหมายให้มากกว่า 60% ของผลผลิตที่ผลผลิตในจีน (GDP) ต้องถูกบริโภคภายในประเทศ และ 2) จีนต้องหาคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพาแต่เฉพาะสหรัฐและยุโรป โดยข้อที่ 2 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road, 一带一路, Yīdài yīlù) เพื่อเชื่อมจีนสู่ตลาดและแหล่งทรัพยากรในเอเซีย แอฟริกา และยุโรป


          ในขณะที่ข้อ 1 เพื่อเสริมสร้างให้การบริโภคภายในประเทศกลายเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จีนต้องทำ 2 เรื่อง นั่นคือ 1) ต้องทำให้คนจีนรวยขึ้น ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 (และนั่นทำให้ไทยได้อานิสงส์เพราะนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเข้ามาท่องเที่ยวในไทย) และ 2) คนจีนที่รวยขึ้นเหล่านั้นจะกินของจีน ใช้ของจีนก็ต่อเมื่อ พวกเขาเห็นว่า สินค้าจากจีนเป็นสินค้าคุณภาพสูง นั่นทำให้เกิดนโยบาย Made in China 2025 (中国制造2025, Zhōngguó zhìzào èrlíng'èrwǔ) ที่ทางการจีนพยายามยกระดับ ล้างภาพลักษณ์ของสินค้าจีน ที่เคยถูกมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ เป็นสินค้าปลอม ให้สินค้าจีนกลายเป็นสินค้าคุณภาพสูงให้ได้สำเร็จในปี 2025


          นโยบาย Made in China 2025 ดำเนินการผ่านการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยทางการจีนให้สิทธิพิเศษทางการลงทุนในเงื่อนไขที่ดีที่สุดกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยทำตามนโยบายของจีนที่ต้องการการพัฒนาคนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับจีน นั่นทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในจีนที่จับตาจับใจผู้บริโภคอย่างยิ่ง อาทิ โทรศัพท์มือถือหัวเว่ย P30Pro ที่ Zoom ได้ 50 เท่า ด้วยอุปกรณ์ของ Sony (ญี่ปุ่น) ผนวกกับเทคโนโลยีของ Laica (เยอรมัน) และในปัจจุบันสินค้าแบรนด์เนม สินค้าคุณภาพสูงจำนวนมากก็ผลิตจากประเทศจีน


          อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่าสงครามการค้าที่ขยายผลลุกลามกลายเป็นสงครามเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่นี่คือความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐก็ต้องเร่งควบคุมการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน แต่ผู้นำคนไหนจะเลือกใช้วิธีการอย่างไรก็เท่านั้นเอง จะใช้วิธีการเจรจาเพื่อวางกฎระเบียบการค้าการลงทุนในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างโอบามา หรือจะทำสงครามใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างกรณีของทรัมป์ก็เป็นเรื่องที่สหรัฐต้องทำ เพื่อรักษาสถานะมหาอำนาจผู้ควบคุมระเบียบโลกของตน


          ในขณะที่จีนเอง คุณผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วว่า การรับมือของจีนก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า หากแต่จีนก็เตรียมตัวมาแล้วนานวันจนมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว และเป็นที่แน่นอนว่าเวทีความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจจะเพิ่มความซับซ้อนและคงขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดต่อไปในอนาคต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ