คอลัมนิสต์

8 ปี 5 เดือน 'ป๋าเปรม' บนถนนสายการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          ชีวิตของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวและเปลี่ยนไปทุกครั้ง มักจะเป็นไปตามฟันเฟืองตัวจักรแห่งสถานการณ์ให้หมุนไปข้างหน้า

 


          ต้นเดือนตุลาคม 2520 พล.อ.เปรม ได้เลื่อนตำแหน่งจากแม่ทัพภาคที่ 2 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และเริ่มมีบทบาททางการเมือง 

 

 

          20 ตุลาคม 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำคณะทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 โดย พล.อ.เปรม เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย 


          1 ตุลาคม 2521 ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และปีถัดมา เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งตอนนัั้น คนไทยเริ่มรู้จักนายทหารบ้านนอกบ้างแล้ว

 

 

 

8 ปี 5 เดือน 'ป๋าเปรม' บนถนนสายการเมือง


          ++


          รัฐบาลใต้ร่มพระบารมี
          พลันที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศลาออกกลางสภา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 เมื่อมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พล.อ.เปรม ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย 


          พล.อ.เปรม ได้กล่าวย้ำกับคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกว่า “รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเหนือพรรค เหนือพวก เหนือผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” 


          รัฐบาลเปรม สมัยที่สอง (2526-2529) พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนจาก 4 พรรคการเมืองคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคชาติประชาธิปไตย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 เมษายน 2526


          รัฐบาลเปรม สมัยที่สาม (2529-2531) พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2529

 

 

 

 

8 ปี 5 เดือน 'ป๋าเปรม' บนถนนสายการเมือง

 


          เนื่องจากความขัดแย้งของพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.เปรมจึงได้ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2531 และได้จัดให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531


          ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2531 ปรากฏว่า พรรคชาติไทย ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตอนค่ำวันที่ 17 กรกฎาคม 2531 หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค 5 พรรค อันประกอบด้วย พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎร และพรรคสหประชาธิปไตย ได้เข้าพบ พล.อ.เปรม เพื่อเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมได้กล่าวขอบคุณพร้อมกับพูดว่า “ผมขอพอ” ส่งผลให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่


          มีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่รัฐบาลเปรม 1 ถึงเปรม 5 พล.อ.เปรม ได้ยึดตำแหน่งในกระทรวงสำคัญ ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจนั้น บรรดาเทคโนแครตจากสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทยได้จับจองไว้ ที่เหลือให้พรรคการเมืองไปแบ่งกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจในยุค พล.อ.เปรม ถูกขับเคลื่อนด้วย “พลังเทคโนแครต”


++


          การเมืองนำการทหาร
          ผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลเปรม สมัยแรก คือ พล.อ.เปรมได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในวันที่ 23 เมษายน 2523 ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยใช้การรุกทางการเมือง ควบคู่กับการดำเนินกลยุทธ์ทางทหาร ส่งผลให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ประสบความพ่ายแพ้ นักรบและมวลชนได้ออกมามอบตัวต่อทางการ อันนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมือง ระหว่างกองทัพแห่งชาติ กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างเด็ดขาดเมื่อปี 2530

 

 

 

8 ปี 5 เดือน 'ป๋าเปรม' บนถนนสายการเมือง

 


          ที่มาของ “การเมืองนำการทหาร” เริ่มจากปี 2516 สมัยที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้เข้าประจำการที่กองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า(สกลนคร) จึงเรียนรู้ปัญหาสงครามประชาชนอย่างถ่องแท้ เมื่อ พล.อ.เปรม ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 จึงได้นำแนวคิดการเมืองนำการทหาร หรือ “ยุทธศาสตร์มวลชน” สู่การปฏิบัติที่เป็นจริง


          ชัยชนะของกองทัพแห่งชาติต่อ พคท. นำไปสู่การปรองดองชาติ ดับไฟสงครามประชาชน ทำให้คำสั่ง 66/2523 ได้รับการอ้างถึงในช่วงหลังๆ อยู่บ่อยครั้ง


++


          ต้านยุทธการยึดเมือง
          พล.อ.เปรม ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากการสนับสนุนของกองทัพ โดยเฉพาะกลุ่มยังเติร์ก แต่ พล.อ.เปรมก็ไม่ไว้ใจผู้นำ “กลุ่มยังเติร์ก” พล.อ.เปรมจึงต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าปีแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขาจะไม่ลอยจากกองทัพ


          ด้วยเหตุนี้ กลุ่มยังเติร์กจึงไม่พอใจ วันที่ 1-3 เมษายน 2524  จึงก่อการยึดอำนาจ ในชั้นแรกจะให้ พล.อ.เปรมเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ แต่ พล.อ.เปรมปฏิเสธ กลุ่มยังเติร์กจึงให้ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแต่การยึดอำนาจไม่ประสบความสำเร็จ 

 


          การยึดอำนาจที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้กลุ่มยังเติร์กหรือทหารหนุ่ม จปร.7 ต้องหมดบทบาททางการเมือง และ พล.อ.เปรม มีอำนาจในการคุมกองทัพที่เข้มแข็งมากขึ้น

 


          วันที่ 9 กันยายน 2528 ได้มีความพยายามยึดอำนาจอีกครั้ง ในระหว่างที่ พล.อ.เปรมเดินทางเยือนอินโดนีเซีย นำโดย พ.อ.มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศในเวลานั้น) และนายทหารนอกราชการ แต่การยึดอำนาจไม่ประสบความสำเร็จ 


++


          ลอบสังหารป๋าเปรม
          บนถนนการเมืองของ พล.อ.เปรม ต้องเผชิญหน้ากับการทำรัฐประหาร 2 ครั้ง และมีแผนการลอบสังหารผู้นำการเมือง และบุคคลสำคัญเกือบ 10 ครั้ง อันเป็นผลมาจากการรัฐประหารที่ล้มเหลวในเดือนเมษายน 2524


          จากข้อมูลการลอบสังหารผู้นำการเมือง ที่มีการบันทึกไว้ 9 ครั้ง แต่มีอยู่ 2 ครั้ง ที่เป็นความพยายามลอบสังหาร พล.อ.เปรม


          ครั้งที่ 1 วันที่ 14-16 กรกฎาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.เปรม ขณะเดินทางไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่กระสุนจรวดขนาด 66 มม. เอ็ม 72 พลาดเป้าหมายไปเพียงเล็กน้อย


          ครั้งที่ 2 วันที่ 20 ตุลาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์, พล.อ.เปรม และตระเตรียมการลอบปลงพระชนม์พระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนส์คัพ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กทม.


          ห้วงเวลานั้น พล.อ.เปรม ได้ฉายา “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เนื่องจากมีกระบวนท่าทางการเมืองที่พลิกแพลง แม้บุคลิกส่วนตัวดูอ่อนน้อม แต่ก็เฉียบขาด


          จากสมรภูมิภาคอีสาน สู่ทำเนียบรัฐบาล ตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ให้ความสำคัญกับการจัดสมดุลทางอำนาจ จึงประคองตัวให้รอดพ้นจากเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ความพยายามยึดอำนาจ และการลอบสังหาร


          พล.อ.เปรม เป็นนักการเมืองที่เก่งกาจ ยากที่จะมีนายทหารคนใดทำได้ มีทักษะในการประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน ยอมถอยเมื่อเสียเปรียบ และพร้อมเผด็จศึกเมื่อโอกาสมาถึง
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ