คอลัมนิสต์

ห้ามรถพยาบาลวิ่งไม่เกิน80 กม./ชม.มาตรการส่งผู้ป่วยโดยปลอดภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน [email protected]

 

 

          กรณีกระทรวงสาธารณสุขสั่งรถพยาบาลห้ามใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. และห้ามฝ่าไฟแดง ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยและเป็นห่วงว่าผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาที่ล่าช้า ซึ่งทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

 

 

          อธิบายได้ว่าจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขปี 2559-2562 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 318 ราย เป็นพยาบาลและบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 ราย เสียชีวิต 4 รายพิการ 2 ราย ผู้ป่วยบาดเจ็บ 58 รายเสียชีวิต 3 ราย คู่กรณีเสียชีวิต 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึงร้อยละ 80

          สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็ว ฝ่าสัญญาณไฟจราจร และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

          กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล กรณีนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลจะต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.ตามประกาศของกระทรวง ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558

          หลายคนอาจคิดว่ายิ่งส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากเท่านั้น แถมกฎหมายจราจรก็ยกเว้นให้รถพยาบาลสามารถใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดได้ ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ความปลอดภัยในการเดินทางก็สำคัญไม่แพ้กัน

          จึงถือเป็นการเพิ่มความคุ้มครองสวัสดิภาพการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วย โดยประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงหากรถพยาบาลวิ่งช้า เนื่องจากอุปกรณ์กู้ชีพภายในรถพยาบาลมีเพียงพอ และรถพยาบาลเองยังสามารถเปิดไซเรนหรือไฟฉุกเฉินเพื่อแจ้งให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรู้ว่าภายในรถมีผู้ป่วย เป็นการขอความร่วมมือในการเปิดทางให้รถพยาบาล

          มาตรการนี้ใช้เฉพาะกับรถพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่รวมถึงรถกู้ภัย กู้ชีพ หรือสังกัดอื่นๆ และหากจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น แพทย์เจ้าของไข้จะประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ และคาดว่าจะไม่ทรุดลงรุนแรงในขณะเดินทาง ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขยังมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยอื่นๆ อีก ได้แก่


          โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำประกันภัยรถพยาบาลชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร เป็นคนละ 2 ล้านบาท, ในรถต้องมีผู้โดยสารรวมพนักงานขับทั้งหมดไม่เกิน 7 คน, พนักงานขับรถพยาบาลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมของกระทรวงสาธารณสุข และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

          ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย, รถพยาบาลทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสควบคุมความเร็ว และกล้องวงจรปิดบันทึกภาพ และห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี

          ไม่ทำหัตถการขณะรถเคลื่อนที่ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในรถพยาบาล หากเกิดการร้องขอจากพยาบาลต้องรีบหาที่จอดที่เหมาะสมและปลอดภัยทันทีเพื่อให้การช่วยเหลือบนรถพยาบาลขณะนำส่ง อย่างไรก็ตามแม้จะมีมาตรการที่เข้มงวดกับรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรให้ความร่วมมือในการขับขี่รถหรือเดินเท้า เมื่อเจอรถพยาบาลฉุกเฉิน
  
          โดยคนเดินเท้าต้องหยุดหรือหลบชิดขอบทาง หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด ส่วนผู้ขับขี่รถต้องหยุดรถชิดขอบทางด้านซ้าย หรืออาจขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ชะลอความเร็ว แล้วเบี่ยงซ้ายหรือขวา เพื่อให้รถพยาบาลแซงผ่านไปได้สะดวก และต้องไม่ขับไปเรื่อยๆ หรือไม่ขับตามรถพยาบาลฉุกเฉินโดยเด็ดขาด

          เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้รถพยาบาลเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย และลดการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี



          จดหมายจากคุณ ‘บรรพต’ กทม. ต่อไปนี้ ร้องเรียนขอความเป็นธรรมมายังสำนักงานประกันสังคม เพราะรู้สึกว่าผู้สูงอายุถูกเอาเปรียบ ทำให้เดือดร้อนด้านการเงินอย่างหนัก

          จึงขอให้พิจารณาและถ้าติดขัดต่อกฎหมายหรือกฎระเบียบอย่างไร โปรดแจ้งให้ทราบด้วย
อ๊อด เทอร์โบ



 ขอความเป็นธรรม
 สนง.ประกันสังคมพิจารณาด่วน
          ผมเกษียณอายุจากการทำงานเมื่อ 31 ธันวาคม 2561 ระหว่างผมทำงานเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบเดือนละ 750 บาท มาตั้งแต่ 1 เมษายน 2545 จนถึง ณ วันเกษียณ ผมได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว 16 ปีเศษ ไม่เคยขาดส่ง
   
          ก่อนวันเกษียณผมได้ไปติดต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อทำเรื่องขอรับเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้คำนวณแล้ว ผมจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 3,225 บาท ไปตลอดชีวิต โดยเงินบำนาญชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีธนาคารของผมเดือนแรกภายในไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562
  
          ผมอยากเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ จึงไปติดต่อ สำนักงานประกันสังคมอีกครั้งเพื่อสอบถามรายละเอียด เจ้าหน้าที่บอกว่าจะต้องรีบตัดสินใจภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันเกษียณ คือไม่เกิน 30 มิถุนายน 2562 ที่จะถึงนี้ ว่าจะเลือกรับเงินบำนาญชราภาพแล้วเข้าระบบบัตรทอง 30 บาท หรือจะเลือกเป็นผู้ประกันตนตามาตรา 39 ต่อ โดยต้องส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท แต่จะไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ

          ถ้าส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ไปเรื่อยๆ แล้วหยุดส่ง ก็จะได้รับเงินบำนาญเช่นกัน แต่จะใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาทมาคำนวณ ไม่ใช่ 15,000 บาทเหมือนเดิม ซึ่งเงินบำนาญชราภาพจะลดลงไป 3 เท่ากว่าๆ หรือได้รับเดือนละ 960 บาท

          ทำไมสำนักงานประกันสังคมถึงเอาเปรียบผู้สูงอายุแบบนี้ เงินบำนาญชราภาพควรได้รับตามปกติเพราะเปรียบเสมือนเงินออมที่ส่งมา 16 ปีเศษ
  
          ถ้าผมสมัครตามมาตรา 39 ผมต้องสูญรายได้รายเดือนไป 3,225 บาท และต้องส่งเงินสมทบอีกเดือนละ 432 บาท เท่ากับว่าผมต้องสูญเสียรายได้ไป 3,225+432 = 3,657 บาทต่อเดือน ผมว่ามันไม่ยุติธรรม
บรรพต (กทม.)


logoline

ข่าวที่น่าสนใจ