คอลัมนิสต์

สิ่งท้าทาย ส.ว.แต่งตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  ร่มเย็น 

 

 

    
          หลังจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) 250 คน คลอดออกมา ปรากฏว่า มีคนที่เคยได้รับตำแหน่งในยุค คสช. เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), คสช., ครม., กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ, คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ  ถึง 157 คน    

 

 

          นอกจากนั้นในจำนวน 250 คน  หากแบ่งเป็นอาชีพ  มี “อดีตข้าราชการ” รวมกันอย่างน้อย 143 คน แบ่งเป็นทหาร 89 คน ข้าราชการ 40 คน และตำรวจ 14 คน ซึ่งถ้านับเฉพาะนายทหารและตำรวจ ยศนายพล จะเท่ากับ 103 คน
   

          จึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส.ว.ชุดนี้ ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิด คสช. และเป็น ทหาร ตำรวจ ตั้งขึ้นมาเพื่อค้ำยัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยและสืบทอดอำนาจของ คสช. 


          เป็นการมองจากภายนอก ดูหน้าตา องค์ประกอบ  ซึ่งอาจเข้าทำนอง “ติเรือทั้งโกลน” โดยที่ ส.ว. เหล่านี้ยังไม่ได้เริ่มทำงานด้วยซ้ำ


          สำหรับ ส.ว.ชุดนี้ มีอายุ 5 ปี  ดังนั้น จึงควรรอดูว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ของ ส.ว.ชุดนี้ มีผลงานอะไรบ้างและมีพฤติกรรมอย่างไร  จะเป็นไปอย่างที่คนเขาวิจารณ์และหวั่นเกรงหรือไม่   


          และต้องช่วยกันจับตาการทำงานของ ส.ว.ในสภา เพราะหากพลิกรัฐธรรมนูญู ก็จะพบว่า ส.ว.มีอำนาจและบทบาทอย่างมากเลยทีเดียว 


          - อำนาจในการพิจารณาและยับยัั้งร่างกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา (ม.136) และถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 137 (2)


          จึงต้องรอดูกันว่า หากเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล ส.ว.จะทำหน้าที่อย่างขมีขมัน เข้มแข็งในการตรวจสอบ กลั่นกรอง แค่ไหน หรือว่าแค่ทำหน้าที่ "ตรายาง” ปล่อยผ่านอย่างเดียว

 



          - เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ส.ว.ชุดนี้ มีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาตามบทเฉพาะกาล คือ ดูเรื่องการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยบทเฉพาะกาล มาตรา 270 บัญญัติว่า ให้วุฒิสภา มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ  ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่จะตราขึ้นเพื่อการปฏิรูปประเทศ, ส.ว. จำนวน 1 ใน 5 เข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้วินิจฉัยกรณีคณะรัฐมนตรีไม่แจ้งประธานรัฐสภาว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติ ที่ตราขึ้นเพืื่อการปฏิรูปประเทศ  


          คำถามคือว่า ส.ว.ชุดนี้ มีความสามารถพอที่จะขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศหรือไม่ เพราะส่วนมากมาจากอดีตข้าราชการ ยังไม่หลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ คือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย


          - ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


          - เปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล   ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ


          ก็ต้องวัดใจ ส.ว.ชุดนี้ ว่าจะเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลหรือไม่ หากรัฐบาลทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร


          - แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. และ ส.ว. เข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา  


          คำถาม คือ ส.ว.ชุดนี้ จะแก้ไขกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกมองว่าสร้างปัญหาหรือไม่ เช่น ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ที่ทำให้เกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ไม่มีเสถียรภาพ หรือเกือบทำให้เกิด “เดดล็อก” ทางการเมือง  


          สำหรับ ส.ว.นั้น นอกจากรัฐต้องมีภาระในการจ่ายเงินเดือนให้คนละแสนกว่าบาทแล้ว ยังมีภาระงบประมาณอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ เพราะมีสิทธิตั้งผู้ช่วย ส.ว. ซึ่งรัฐต้องจ่ายเงินเดือนให้, มีการลงพื้นที่พบปะผู้คน สามารถเบิกค่าใช้จ่าย 1.5 ล้านบาท/คน/ปี บางคนสูงถึง 3 ล้านบาท/ปี รวมทั้งยังมีสวัสดิการรักษาพยาบาล มีเบี้ยประชุมกรรมาธิการ เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว ตกประมาณ 5,538.75 ล้านบาท/ปี   


          ดังนั้น ส.ว.จะต้องพิสูจน์ฝีมือให้เห็นว่า เป็นสภาที่ทำงานสมกับเงินภาษีของประชาชนและเป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือของใคร 


          อีกทั้ง รัฐธรรมนูญมาตรา 113 บัญญัติว่า สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ


          และมาตรา 114 บัญญัติว่า สมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ 


          เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติชัดเจนเช่นนี้ หาก ส.ว. ไปทำตาม “ใบสั่ง” ของฝ่ายการเมืองหรือของใคร ในการโหวตลงมติใดๆ ก็เท่ากับว่า จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ซึ่งนอกจากจะต้องพ้นตำแหน่งแล้ว ยังต้องถูกดำเนินคดีอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ