คอลัมนิสต์

อนาคต "สิทธิประกันสังคม"...คนไทยทำงานในอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

          “มนุษย์เงินเดือน” ทั่วประเทศไทยมากกว่า 16 ล้านคน ควักกระเป๋าส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนๆ จนขณะนี้ยอดเงินสะสมมีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านล้านบาท เงินเหล่านี้สมทบมาจากกระเป๋า 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้างหรือผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อจ่ายเป็นค่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในอนาคต

 

 

          ล่าสุดมีการพยายามขอให้ “สิทธิประกันสังคม” ครอบคลุมไปถึงคนไทยที่ย้ายไปทำงานต่างประเทศด้วย!


          เนื่องจากคนไทยเริ่มมีศักยภาพและมีโอกาสเดินทางไปทำงานยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียนที่การเดินทางทำได้สะดวกรวดเร็ว บางคนบินไปทำงานมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์ ได้สะดวกรวดเร็ว ยิ่งกว่าเดินทางไปทำงานในบางจังหวัดของประเทศไทย ในอดีตคนไทยกลุ่มนี้ไม่ค่อยให้ความสนใจสิทธิประโยชน์ใน “ระบบประกันสังคม” แม้ถูกนายจ้างหักเงินเดือน 500–750 บาท ทุกๆ เดือนตามกฎหมายกำหนดไว้


          แต่ในวันนี้ สิทธิประโยชน์จาก “กองทุนประกันสังคม” เริ่มมีมากขึ้น เช่น ปีนี้เริ่มให้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะถึง 5 รายการ ได้แก่ ปลูกถ่ายหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน เช่น หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับ และไต ตับอ่อนและไต โดยค่ารักษาทั้งหมดสำนักงานประกันสังคมดูแลรับผิดชอบ ทั้งค่ารักษาผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค ค่าเตรียมการผ่าตัดผู้บริจาคที่สมองตาย ผู้บริจาคมีชีวิต หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายกรณีเข้ารับการผ่าตัดแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงเมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยยังดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะค่ายากดภูมิคุ้มกันที่ต้องกินตลอดชีวิตหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว

 

 

 

อนาคต "สิทธิประกันสังคม"...คนไทยทำงานในอาเซียน

 



          นอกจากนี้ ยังมีสิทธิที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ การได้รับสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา หากผู้ป่วยมีอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคแผลเป็นที่กระจกตา โรคกระจกตาเป็นแผล โรคกระจกตาขุ่นเป็นฝ้าขาว กระจกตาผิดปกติแต่กำเนิดหรือผิดปกติทางพันธุกรรม หรือแม้กระทั่งผู้ทำงานใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากๆ จนกระจกตาเสื่อม เพียงให้แพทย์ตรวจรักษาแล้วยืนยันว่าสมควรเปลี่ยนกระจกตา เพียงแค่นี้สำนักงานประกันสังคมก็ควักจ่ายให้ทันที !


          สิทธิประโยชน์ข้างต้นเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เทคโนโลยีการแพทย์พัฒนาขึ้นทุกวัน สามารถช่วยรักษาอาการผิดปกติของร่างกายจนสามารถใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ขอเพียงมีสิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษา คนเจ็บป่วยก็ไม่ต้อนทนทรมานร่างกายเหมือนในอดีต


          เมื่อสิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคมมีมากขึ้น กลุ่มคนไทยที่จำเป็นต้องย้ายไปทำงานในประเทศต่างๆ ก็ควรได้รับสิทธิเหล่านี้ติดตัวไปด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมายังติดปัญหาเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งมีความซับซ้อนยิ่งนัก !?!


          ข้อมูลจาก “ทีดีอาร์ไอ” สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ มีแรงงานเคลื่อนย้ายไปมารวมกันประมาณ 9.8 ล้านคน สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มประเทศอาเซียนล้วนมี “ระบบสิทธิประกันสังคม” ดูแลมนุษย์เงินเดือนไม่ต่างจากกันมากนัก เพียงแต่แรงงานจากประเทศอื่นยังเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศได้อย่างเท่าเทียม เช่น แรงงานจากพม่า กัมพูชา ลาว ที่มาทำงานในไทย แม้ถูกบังคับหักเงินสมทบจ่ายค่าประกันสังคมทุกเดือน แต่ก็ไม่ได้สิทธิเท่าคนไทย หรือคนไทยที่เดินทางไปทำงานสิงคโปร์ก็ไม่ได้สิทธิเท่าเจ้าของประเทศนั้น


          จากการศึกษาวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ระบบสิทธิประกันสังคมของบางประเทศจะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายให้สิทธิระหว่างกันได้ในหลายกรณี เช่น ไทยกับฟิลิปปินส์ อาจแลกเปลี่ยนสิทธิกรณีชราภาพ ทุพพลภาพ หรือแม้กระทั่งถ้าบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำงาน ก็สามารถโอนเงินสะสมหรือสิทธิประโยชน์ที่มีให้แก่ทายาทได้ เพียงแต่ต้องมี ข้อตกลงในการส่งออกสิทธิประโยชน์ หรือ บันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประกันสังคม ของทั้ง 2 ประเทศ


          วันที่ 29 เมษายน 2562 “สำนักงานประกันสังคม” ร่วมกับ “ทีดีอาร์ไอ” จัดประชุมเสนอโครงการหัวข้อ “การเคลื่อนย้ายและคงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน” โดย ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร ให้ข้อมูลตัวเลขสถิติเปรียบเทียบกลุ่มลูกจ้างทำงานแบบถูกกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน พบมาเลเซียมีสัดส่วนลูกจ้างต่อจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศสูงสุดถึงร้อยละ 73


          อันดับที่ 2 คือ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 60 อันดับ 3 คือประเทศไทยร้อยละ 45 คาดว่าผู้ประกันตนในไทยมากกว่า 11 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายและคงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม สำหรับประเทศที่มีการแลกเปลี่ยนกับแรงงานกับไทยมากที่สุดคือ มาเลเซีย


          สำหรับตัวเลขสมาชิกกองทุนประกันสังคมในภูมิภาคอาเซียนนั้น สามารถเรียงอันดับได้ดังนี้ อินโดนีเซียมีจำนวนมากสุด 61 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 25.2 ล้านคน เวียดนาม 23 ล้านคน ไทย 16 ล้านคน มาเลเซีย 10.6 ล้านคน ตัวเลขปี 2560 มีจำนวนแรงงานอาเซียนเคลื่อนย้ายมาทำงานในไทยประมาณ 1.88 ล้านคน


          ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนสิทธิในสวัสดิการของสมาชิกกองทุนประกันสังคมแต่ละประเทศนั้น ต้องมีสัญญาหรือที่เรียกว่า “ข้อตกลงเอสเอสเอ” SSA หรือ “ความตกลงประกันสังคม” (Social Security Agreement –SSA) เพื่อเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างระบบประกันสังคมของ 2 ประเทศขึ้นไป ช่วยลดอุปสรรคสำหรับคนทำงานจากต่างชาติและครอบครัวให้มีสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมประเทศปลายทางที่ย้ายไปทำงาน สรุปคือ การเคลื่อนย้าย (Portability) การคงไว้ (preserve) รักษา (maintain) และเคลื่อนย้ายถ่ายโอน (transfer) สิทธิประกันสังคมที่ต้องได้รับ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสัญชาติ และประเทศที่มีถิ่นพำนัก


          โดยมีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ 1.การปฏิบัติอย่างเท่าเทียม 2.การส่งออกสิทธิประโยชน์เมื่ออยู่ต่างประเทศ 3.การพิจารณากฎหมายที่เหมาะสม 4.การนับรวมระยะเวลา 5.ความช่วยเหลือในการบริหารจัดการ โดยตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ทำข้อตกลงประกันสังคมเอสเอสเอมากถึง 13 ฉบับกับประเทศที่คนฟิลิปปินส์ย้ายไปทำงาน


          ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ประกันสังคมในประเทศสมาชิกอาเซียน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สิทธิประโยชน์ “ระยะยาว” และ “ระยะสั้น” สิทธิประโยชน์ระยะยาว คือใช้ระยะเวลาสมทบเงินหลายๆ ปี กว่าจะได้สิทธินี้ เช่น เงินเกษียณอายุหรือที่เรียกว่า “สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ” สำหรับประเทศไทยกำหนดไว้ต้องส่งเงินสมทบอย่างน้อย 15 ปีขึ้นไปจึงได้สิทธิกรณีชราภาพหรือทุพพลภาพ ส่วนสิทธิประโยชน์ระยะสั้น เน้นระยะเวลาสมทบเงินไม่นาน เพียง 3-6 เดือน สามารถได้รับสิทธิประโยชน์แล้ว เช่น การบาดเจ็บจากการทำงาน รักษาพยาบาล คลอดบุตร ฯลฯ


          ดร.บุญวรา ให้ข้อมูลว่า การทำข้อตกลงเอสเอสเอ มีประโยชน์หลายด้าน เช่น ลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องจ่ายประกันสังคมซ้ำซ้อนของทั้ง 2 ประเทศ และการเรียกรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ไม่ต้องเดินทางกลับมายังประเทศต้นทาง จากข้อมูลปี 2560 มีคนไทยเดินทางไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนประมาณ 1.9 หมื่นคน คาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพราะการเดินทางที่สะดวก ส่วนลูกจ้างจากประเทศอื่นเดินทางเข้ามาทำงานในไทยก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ระยะยาว เช่น การสะสมเงินชราภาพ ไม่ต้องขาดการส่งหรือถูกตัดสิทธิไปเพราะจ่ายเงินสะสมไม่ต่อเนื่อง


          “ประเทศไทยยังไม่เคยมีความตกลงเอสเอสเอ กับประเทศใดมาก่อน ตอนนี้ประเทศที่น่าจะทำกับไทยได้เลยคือฟิลิปปินส์ เพราะมีประสบการณ์ทำมาแล้วกับหลายประเทศ ส่วนมาเลเซียมีคนไทยไปทำงานเยอะ แต่อาจทำได้ยาก เพราะมาเลเซียค่อนข้างจะใช้หลายระบบ เชื่อว่าตอนนี้สำนักงานประกันสังคมของไทยเริ่มเห็นประโยชน์และค่อนข้างมีความตื่นตัวในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอื่นในประชาคมอาเซียน” ดร.บุญวรา กล่าว


          ทั้งนี้ หากพิจารณาจากรายละเอียด “สิทธิประโยชน์ประกันสังคมตามมาตรฐานสากล” พบว่า สมาชิกประเทศอาเซียนทุกประเทศไม่ได้มีครบถ้วนนัก อยู่ที่ว่าประเทศไหนให้ความสำคัญด้านใด เมื่อวิเคราะห์สิทธิประโยชน์ประกันสังคม สิทธิประโยชน์ 7 ด้านที่มีอยู่ในประเทศอาเซียนสามารถแยกย่อยได้ดังนี้


          กรณีชราภาพ ทุกประเทศมีกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่บางประเทศยังไม่บังคับใช้เช่น กัมพูชา พม่า และบางประเทศไม่ให้สิทธิแก่แรงงานข้ามชาติ เช่น บรูไน สิงคโปร์


          กรณีทุพพลภาพ สิทธินี้มาเลเซียและสิงคโปร์มีข้อตกลงร่วมกันแล้ว ส่วนไทยกับฟิลิปปินส์มีแนวโน้มว่าจะสามารถเชื่อมโยงสิทธินี้ซึ่งกันและกันได้


          สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ทายาทกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต เป็นสิทธิประโยชน์ระยะยาว เช่นเดียวกับกรณีชราภาพ และทุพพลภาพ กรณีนี้ไทยกับฟิลิปปินส์ก็มีแนวโน้มที่จะทำได้เช่นกัน


          สิทธิรักษาพยาบาล แม้เป็นสิทธิประโยชน์ที่มีความสำคัญมากสำหรับแรงงานข้ามชาติ แต่ปัจจุบันไม่มีประเทศใดที่น่าจะทำร่วมกันได้ เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์ที่มีความซับซ้อน ระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงต้องมีการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าจะรับรองสถานพยาบาลอย่างไร


          กรณีเจ็บป่วย การได้เงินทดแทนการขาดรายได้ ส่วนใหญ่หลายประเทศยกให้เป็นสิทธิประโยชน์ที่นายจ้างต้องรับผิดชอบ ถือเป็นสิทธิประโยชน์ระยะสั้น โดยส่งเงินสมทบหรือทำงานไม่เกิน 6 เดือนก็ได้รับสิทธินี้แล้ว


          กรณีตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร เป็นอีกสิทธิประโยชน์หนึ่งที่หลายประเทศกำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของนายจ้างเช่นกัน แต่บางประเทศอย่างบรูไนและสิงคโปร์มีเงื่อนไขแรงงานข้ามชาติได้รับไม่เท่ากับแรงงานท้องถิ่น


          กรณีการบาดเจ็บจากการทำงาน ถือเป็นสิทธิที่ส่งเงินสมทบไม่นานก็ได้รับ แต่กรณีบาดเจ็บถาวรอาจต้องใช้การพิจารณาในหลายประเด็น ทั้งเรื่องของโรค รวมไปถึงการพิสูจน์ว่าการบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานในต่างประเทศจริงๆ ประเทศที่สามารถเชื่อมโยงสิทธินี้ได้ คือ ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย


          โครงการศึกษาข้างต้น ได้สรุปรูปแบบการเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่เหมาะสมของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่น่าจะทำได้เลยคือ ไทยกับฟิลิปปินส์ สามารถเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ ทุพพลภาพ สิทธิประโยชน์ให้แก่ทายาท และการบาดเจ็บจากการทำงาน


          ส่วนไทยกับมาเลเซียสามารถทำข้อตกลงกรณีสิทธิประโยชน์การบาดเจ็บจากการทำงาน


          “อำพันธ์ ธุววิทย์” รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลปี 2560 มีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติภูมิภาคอาเซียนประมาณ 9.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของจำนวนประชากรในภูมิภาคทั้งหมด โดยร้อยละ 90 เป็นแรงงานไร้ทักษะ ทำให้เกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการของภาครัฐ รวมถึงปัญหาข้อจำกัดด้านกฎหมายหรือแนวปฏิบัติของประเทศต่างๆ


          “สำนักงานประกันสังคมเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยเพื่อศึกษาหาข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมรองรับแรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิทธิและคงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ด้วยกลไกประสานและเชื่อมระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด เช่นเมื่อไปทำงานในต่างประเทศและเดินทางกลับมาทำงานในประเทศก็สามารถนำอายุงานกลับมาต่อยอดสิทธิประกันสังคมเดิมได้โดยไม่สูญเปล่า”


          จากข้อความข้างต้น แสดงว่า “สำนักงานประกันสังคม” เริ่มตื่นตัวเห็นประโยชน์ในการช่วยลูกจ้างคนไทยและแรงงานจากเพื่อนบ้านเกือบ 2 ล้านคน


          หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้อตกลงเอสเอสเอ ฉบับแรกของไทย” จะถูกเร่งรัดให้เกิดในเร็ววันนี้ โดยเฉพาะกับประเทศที่ย้ายมาทำงานในไทย หรือคนไทยย้ายไปทำงานด้วยจำนวนมาก เช่น มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ