คอลัมนิสต์

จากคลิปใบขับขี่ถึงเป่าคดีหนุ่มรมควัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          ช่วงนี้ต้องบอกว่าสีกากีงานเข้า นอกจากเรื่องที่สืบเนื่องจากคลิปฉาวเรียกตรวจใบขับขี่ชายวัยกลางคนที่อ้างว่าเป็นอธิบดีศาล จน ผกก.สภ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช หวุดหวิดจะถูกเด้งแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่นานยังมีกรณีหนุ่มร้อยเอ็ดฆ่าตัวตาย แล้วเขียนจดหมายลาตายพาดพิงตำรวจเรียกเงินทำคดี 5,000 บาท หลังเข้าแจ้งความที่สน.โชคชัย ให้ติดตามรถที่นำไปจำนำแล้วถูกยักยอกไปด้วย

 

 

          กรณีคลิปฉาวตำรวจเรียกตรวจใบขับขี่แล้วผู้ถูกตรวจไม่ยอมให้ตรวจ แถมอ้างตัวเป็นอธิบดี จนเรื่องราวบานปลายใหญ่โตนั้น มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า ตกลงตำรวจมีอำนาจเรียกตรวจใบขับขี่ หรือเรียกตรวจรถที่ไม่ได้กระทำความผิดได้หรือไม่


          คุณผู้อ่านที่ขับรถยนต์ส่วนตัว หรือเป็นสิงห์นักบิด ขับรถอยู่ดีๆ จู่ๆ ถูกตำรวจเรียกตรวจรถ หรือต้องขับเข้าด่าน แล้วตำรวจขอดูใบขับขี่ คงเคยคิดว่าในเมื่อไม่ได้ทำผิดอะไรจะเรียกตรวจทำไม เหตุใดไม่ไปจับโจร หรือหาข่าวมาให้ชัดว่ารถคันไหนทำผิด


          จากการตรวจสอบ พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 140 ยังพบว่าตำรวจมีอำนาจเรียกตรวจรถ และเรียกตรวจใบขับขี่ รวมถึงยึดใบขับขี่ได้ เฉพาะเมื่อพบการกระทำความผิด ทำให้มีการตีความตามตัวอักษรว่า ถ้าไม่พบการกระทำความผิดก็น่าจะเรียกตรวจรถไม่ได้ เพราะกระทบสิทธิ์ประชาชน


          แต่เมื่อไปตรวจสอบพ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 66 จะพบบทบัญญัติว่า ผู้ใดขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ และสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท นี่เองที่เป็นอำนาจของตำรวจจราจรในการตรวจใบขับขี่ และถ้าผู้ขับขี่ไม่แสดงก็ต้องถูกดำเนินคดี มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท


          ฉะนั้นชายวัยกลางคนในคลิปเมื่อถูกเรียกตรวจใบขับขี่แม้ไม่ได้กระทำผิดอะไรมาก็มีหน้าที่ต้องแสดงใบขับขี่ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ หากไม่มี หรือไม่ได้พกมา ก็ต้องยอมถูกปรับ ไม่ใช่อ้างตำแหน่งหน้าที่ราชการเพื่อให้พ้นผิด หรือถ้าจะเจรจาขอผ่อนผัน แล้วนำหลักฐานอื่นมาแสดงว่าตนเป็นเจ้าของรถจริงไม่ได้ไปก่ออาชญากรรมมา ก็น่าจะลดหย่อนผ่อนโทษได้




          ส่วนการเป่าคดีหนุ่มร้อยเอ็ดแถมเรียกเงินเป็นค่าหยอดน้ำมัน จนเป็นต้นเหตุของการตัดสินใจรมควันฆ่าตัวตายนั้น พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ในฐานะอดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า เรื่องของการเรียกรับเงินเป็นค่าสืบคดีของตำรวจบางกลุ่มบางนายนั้น หากว่ากันตามจริงแล้วตำรวจไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไรทั้งนั้น เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจในการสืบสวนสอบสวนคดี แม้ผู้เสียหายจะให้เงินเพื่อเป็นสินน้ำใจก็ไม่สามารถรับได้ เพราะอาจเข้าข่ายความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 โทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต


          แต่ที่ผ่านมาประเด็นการเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบสวนสอบสวนคดีมีให้เห็นมานานพอสมควร ถือเป็นพฤติกรรมของตำรวจบางนาย ส่วนใหญ่จะใช้วิธีพูดแบบ “หมาหยอกไก่” เช่น อ้างว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางบ้าง ไม่มีค่าน้ำมันรถบ้าง ทั้งที่ค่าใช้จ่ายพวกนี้หน่วยงานต้นสังกัดมีงบประมาณเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว (ปีงบประมาณปัจจุบัน 2562 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับจัดสรรงบ 117,617 ล้านบาท) และหากตำรวจคนไหนไม่มีงบประมาณในการทำงานจริงๆ ก็ควรไปแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับผู้กำกับการ หรือผู้บังคับการทราบ เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ไปขอเงินจากประชาชน


          สำหรับช่องทางการทุจริตและเรียกรับผลประโยชน์ของตำรวจบางกลุ่มบางพวกนั้นมีอยู่ 4 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า “4 สายสูบ” คือ


          “สายสืบสวน” ส่วนใหญ่เรียกรับเงินจากบ่อนการพนันที่เปิดแบบผิดกฎหมาย และสถานบันเทิงที่เปิดเกินเวลา


          “สายปราบปราม” เรียกรับเงินจากการติดตั้งตู้แดงตามบ้าน หรือห้างร้านต่างๆ ซึ่งบางโรงพักใช้การติดตั้งตู้แดงเป็นการเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการดูแลตรวจตรา นอกจากนั้นก็มีการเรียกรับเงินจากผู้ต้องหา แลกกับการไม่ถูกจับ


          “สายจราจร” เรียกรับเงินตามท้องถนน หรือบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดมากๆ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ หรือออกใบสั่งและหวังส่วนแบ่งค่าปรับ


          “สายสอบสวน” เรียกรับผลประโยชน์จากการล้มคดี หรือเคลียร์คดี อย่างคดีของลูกชายบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีการเคลียร์คดี


          อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ ยังแสดงความกังวลว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ ตำรวจไม่อยากรับเรื่องร้องทุกข์ให้เป็นคดีความ เพราะเมื่อรับแล้ว ออกเลขคดีแล้ว จะเข้าสู่สารบบคดีอาญา ต้องสืบสวนสอบสวนทำสำนวนวุ่นวาย และหากคดีมีการฟ้องขึ้นสู่ศาลก็ต้องไปเป็นพยานในชั้นศาลด้วย ทำให้ปัจจุบันมีการรับแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เฉยๆ แต่ไม่ออกเลขคดี ไม่ทำคดี ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนและไม่มีหน่วยงานไหนตรวจสอบได้


          โดยถ้าออกเลขคดี จะมีระยะเวลาการทำงานทุกขั้นตอน เช่น ต้องส่งสำนวนให้อัยการภายในกี่เดือน ถ้าหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ก็ต้องแจ้งอัยการ “งดสอบสวน” หรือที่เรียกว่า “ฟ้องสำนวนขาว” คือจะมีการตรวจสอบถ่วงดุล check and balance ทุกขั้นตอน แต่เมื่อไม่ออกเลขคดี ก็จะไม่มีขั้นตอนเหล่านี้ในการตรวจสอบ


          ขณะที่ภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ดูดี เพราะสถิติอาชญากรรมไม่สูงมาก เนื่องจากไม่มีการออกเลขคดี!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ