คอลัมนิสต์

ศึกชิงหัวหน้า ปชป.คนใหม่-วัดอนาคตพรรค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  โอภาส บุญล้อม

 


 

          ความสำคัญของการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง คงไม่ใช่แค่การจัดการภายในพรรคเท่านั้น แต่หมายถึงอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลด้วย โดยกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และ ส.ส.ของพรรค จะร่วมกันตัดสินใจ

 

 

          สำหรับขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ มีขั้นตอน คือ
          1.วันที่ 15 พฤษภาคม จัดการประชุมใหญ่ โดยองค์ประชุมใหญ่ทั้งหมดมี 307 คน
          2.เสนอชื่อผู้ที่ประสงค์จะรับการเลือกเป็นหัวหน้าพรรคต่อที่ประชุม
          3.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์คนละ 15 นาที
          4.ลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่


          ทั้งนี้องค์ประชุมใหญ่ที่มีสิทธิเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ซึ่งมีทั้งหมด 307 คน ประกอบด้วย 19 กลุ่ม แบ่งเป็น 2 ส่วน

 

 

ศึกชิงหัวหน้า ปชป.คนใหม่-วัดอนาคตพรรค

 

 


          ส่วนที่หนึ่ง ส.ส.ชุดใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้ง จำนวน 52 คน มีน้ำหนักการโหวตถึง 70% จะเห็นได้ว่าให้น้ำหนักกับคนที่ประชาชนเลือกมากที่สุด


          ส่วนที่สอง กลุ่มคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเก่า, อดีต ส.ส., อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค, กลุ่มหัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด, กลุ่มตัวแทนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งชุดล่าสุด จำนวน 25 คน ประกอบด้วย ตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 7 คน และตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.เขต จำนวน 18 คน ซึ่งก็คือพวกที่สอบตกไม่ได้รับเลือกตั้ง ส่วนที่สองนี้รวมทุกกลุ่มแล้ว มีน้ำหนักในการโหวต 30%




          และเนื่องจากให้น้ำหนักในการโหวตกับส่วนที่หนึ่ง คือ ส.ส.ชุดใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งถึง 70% ดังนั้นถ้า ส.ส.ใหม่ออกเสียงไปในทางเดียวกันว่า เลือกใครเป็นหัวหน้าพรรค คนนั้นก็ได้เป็น ส่วนที่สองซึ่งประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ข้างต้น จะไม่มีความหมาย เพราะมีน้ำหนักในการโหวตเพียง 30% เท่านั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงในส่วนแรกซึ่งเป็น ส.ส.ชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นเอกภาพ ดังนั้นส่วนที่สอง จะมีน้ำหนักในการโหวตเลือกหัวหน้าพรรคด้วย

 

 

 

ศึกชิงหัวหน้า ปชป.คนใหม่-วัดอนาคตพรรค

 


          สำหรับรายชื่อผู้ที่ลงแข่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้มีอยู่ 4 คนคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรค และทั้งสี่คนต่างเคลื่อนไหวหาคะแนนเสียงสนับสนุนตนเอง โดยแต่ละคณะมีการนัดพบว่าที่ ส.ส.และสมาชิกพรรคตามกลุ่มภาคต่างๆ ผ่านการนัดรับประทานอาหารร่วมกัน โดยแต่ละคณะได้แสดงวิสัยทัศน์ นโยบายที่จะขับเคลื่อนพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่การปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงพรรคให้ดีขึ้น หลังจากที่การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาพรรคพบความพ่ายแพ้แบบไม่เคยเป็นมาก่อน


          สำหรับทั้งสี่คน นายจุรินทร์ อยู่พรรคประชาธิปัตย์ มานานที่สุด รองลงมา นายพีระพันธุ์ ตามมาด้วยนายอภิรักษ์ และนายกรณ์


          ทั้งสี่คนนี้ นายจุรินทร์ เก๋าเกมการเมืองมากที่สุด และเป็น “ลูกรัก” ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค มากที่สุด เพราะอยู่ด้วยกันมานาน และนายชวนชื่นชมการทำงานของนายจุรินทร์ในสภา โดยนายจุรินทร์เคยเป็นผู้สรุปปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมาแล้ว


          นายจุรินทร์ มีสมาชิกพรรคภาคใต้ให้การสนับสนุน รวมทั้งกลุ่มว่าที่ ส.ส.สายนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เนื่องจากนายจุรินทร์เคยอยู่ในทีมงานที่ช่วยนายบัญญัติ ซึ่งเป็นตัวแทน “กลุ่มทศวรรษใหม่” แข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อปี 2546 กับ “กลุ่มผลัดใบ” ซึ่งดันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งการห้ำหั่นครั้งนั้นจบลงที่ชัยชนะของนายบัญญัติ และที่ผ่านมานายจุรินทร์ได้เดินสายพบปะโหวตเตอร์ที่มีสิทธิลงคะแนนในการเลือกหัวหน้าพรรคเป็นระยะๆ


          ส่วนคนที่จะอยู่ในทีมงานของนายจุรินทร์ เข้าชิงตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีต ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ และอดีตเลขาธิการพรรค โดยนายจุรินทร์บอกว่า ได้ทาบทามนายเฉลิมชัยมาเป็นเลขาธิการพรรค เนื่องจากมีมุมมองต่อปัญหาและแนวทางพัฒนาพรรคไปในทิศทางเดียวกัน และหลังจากประกาศชื่อนายเฉลิมชัย ได้รับการตอบรับจากคนในพรรคเป็นอย่างดี โดยเจ้าตัวได้รับปากแล้วว่าจะร่วมทีม


          “ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับนายเฉลิมชัยมาโดยต่อเนื่องหลายปีแล้วในเรื่องความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาพรรคหากมีโอกาส ซึ่งนายเฉลิมชัยเป็นบุคลากรคนหนึ่งของพรรคที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์ มีความพร้อม และเป็นที่ยอมรับจากสมาชิกพรรคอย่างกว้างขวาง และมั่นใจว่าสามารถทำงานร่วมกับสมาชิกพรรคได้ดีในทุกภาค"


          ส่วนนายเฉลิมชัยก็ยอมรับว่าได้ตัดสินใจเข้าร่วมทีมนายจุรินทร์ เนื่องจากมีแนวทางการทำงานในทิศทางเดียวกัน และได้พูดคุยกันแล้วเห็นพ้องว่า จะต้องสร้างความเชื่อมั่น ฟื้นศรัทธาของพรรคให้กลับมาอยู่ในใจของประชาชน โดยแนวทางการทำงานของตนตั้งใจจะลดความขัดแย้ง


          สำหรับนายกรณ์  ผู้ลงแข่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกคน บอกว่า ได้ตัดสินใจลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังจากนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออก เพราะเคยพูดไว้นานแล้วว่าหากนายอภิสิทธิ์ยังลงแข่งหัวหน้าพรรค ก็จะสนับสนุน แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ลาออก จึงตัดสินใจเสนอตัว 


          ที่ผ่านมานายกรณ์เต็มที่กับการชิงหัวหน้าพรรคในครั้งนี้ เดินสายพบว่าที่ ส.ส.หลายพื้นที่ เช่น ภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราช และกระบี่ ลงพื้นที่ดูแลปัญหาราคาปาล์มตกต่ำและทำโพลล์ว่าประชาชนต้องการอะไร ทั้งยังลงพื้นที่ภาคกลาง มีการนัดรับประทานอาหารร่วมกับสื่อมวลชนอาวุโส หัวหน้าข่าว ผู้บริหารสื่อทีวี สิ่งพิมพ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง


          พร้อมกับชูนโยบายบริหารพรรคอย่างสร้างสรรค์ โปร่งใส และทันต่อยุคสมัย และให้โอกาสคนทุกรุ่น ทุกกลุ่ม และทุกภาค รวมไปถึงการเชิญชวนคนมีความสามารถระดับประเทศเข้ามาทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสะพานข้ามความขัดแย้ง และมีทีมเวิร์กที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยกเครื่องพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเครื่องมือในการทำงานให้แก่ประชาชน


          สำหรับนายกรณ์ มีว่าที่ ส.ส. และอดีต ส.ส.ในกลุ่มของนายอภิสิทธิ์กับกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการบางส่วนให้การสนับสนุน  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า นายกรณ์ กับนายอภิรักษ์ นั้นส่วนหนึ่งมีฐานเสียงเดียวกัน คือ แนบแน่นกับนายอภิสิทธิ์ ดังนั้นเมื่อนายอภิรักษ์ลงแข่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย ฐานเสียงส่วนนี้จึงแตก


          ส่วนคนที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรค ให้แก่นายกรณ์ คือ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก และอดีตรองหัวพรรค  โดยนายชัยวุฒิยอมรับว่าได้ตัดสินใจเมื่อวันที่ 29 เมษายน ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้มีเหตุผลหลายอย่างและเป็นเรื่องที่หนักใจมาก เพราะทุกคนที่เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรคมีดีเหมือนกันหมด แต่ได้ตัดสินใจทำงานให้แก่นายกรณ์ ซึ่งไม่ขอบอกเหตุผลขอเป็นเรื่องส่วนตัวดีกว่า เพราะเกรงว่าจะกระทบกับหลายฝ่ายแล้วจะไม่ดี แต่ต้องการให้พรรคเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ และอยากให้การดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรคเป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด ไม่อยากให้มีผลกระทบเกิดขึ้นภายหลัง และไม่ว่าใครชนะก็อยากให้ทุกคนมารวมตัวกันทำงานเพื่อพรรค


          ส่วนนายอภิรักษ์นั้น ตอนแรกไม่ชัดเจนว่าจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ แต่สุดท้าย นายอภิรักษ์ยืนยันว่า ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน เพราะดูจากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุดและสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เปลี่ยนไป จึงเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องรับฟังกระแสสังคมหรือเสียงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ โดยนายอภิรักษ์ได้เปิดตัวทีมงานมืออาชีพและเชื่อมคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าในพรรคและทุกคนในพรรคต้องกลับมาร่วมแรงร่วมใจทำงานด้วยกัน เพราะพรรคต้องการการฟื้นฟูครั้งใหญ่ โดยพร้อมที่จะประชันนโยบายกู้พรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศแข่งกับผู้ที่ลงแข่งในตำแหน่งนี้  เน้นทำงานเรื่องนโยบายสาธารณะ และเห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ 


          สำหรับคนที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรคให้แก่นายอภิรักษ์ คาดว่าจะเป็นนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เพราะจะได้เสียงจาก กปปส. และจากภาคใต้สนับสนุนเพิ่มจากฐานเสียงที่นายอภิรักษ์มีอยู่ใน กทม. แต่เมื่อมีการสอบถามไปยังนายสาทิตย์ พบว่ายังแบ่งรับแบ่งสู้  


          ส่วนนายพีระพันธุ์นั้น ชูนโยบายฟื้นฟูพรรคทำให้เดินหน้าและกลับมาเป็นพรรคหลักของประเทศ ทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ จะไม่มีการรวบอำนาจให้อยู่ที่หัวหน้า เลขาธิการพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค ในส่วนเลขาธิการพรรค  นายพีระพันธุ์จะไม่กำหนดว่าเป็นใคร โดยให้เป็นเสรีภาพของสมาชิกพรรคที่จะเลือกว่าใครเหมาะสม


          เมื่อเปรียบเทียบผู้ลงแข่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทั้ง 4 คน นายจุรินทร์น่าจะได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่มากที่สุด เพราะมีฐานเสียงสนับสนุนแตกต่างจากอีก 3 คน โดยมาจาก ส.ส.ภาคใต้ และการที่มีนายเฉลิมชัย เป็นเลขาฯ ก็จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ภาคกลางอีกด้วย ขณะที่นายกรณ์ นายอภิรักษ์ และนายพีระพันธุ์ ต่างมีฐานเสียงเดียวกันคือ กทม. ก็จะแย่งคะแนนเสียงกันเอง จึงทำให้มีข่าวว่าก่อนหน้านี้นายกรณ์ล็อบบี้ให้นายอภิรักษ์และนายพีระพันธุ์ถอนตัว แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งหากเหลือเพียงนายจุรินทร์กับนายกรณ์ ก็จะสูสี แม้ว่านายจุรินทร์ยังเหนือกว่า 


          อีกประเด็นหนึ่งคือ ต้องจับตาแรงกระเพื่อมที่ตามมา หลังจากการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เสร็จสิ้นลง ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะขนาดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้


          “อย่าให้เกิดความแตกแยกขึ้น มีความเป็นห่วงปัจจัยภายนอกพรรคเข้ามาครอบงำและชี้นำ การแข่งขันให้พยายามคำนึงว่าเป็นเรื่องภายในพรรค”


          และจากประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ เคยถึงขนาดกลุ่มที่แพ้ย้ายออกจากพรรคแล้วไปตั้งพรรคการเมืองใหม่มาแล้ว อย่างเช่น 10 มกราคม 2530 เลือกหัวหน้าพรรคคนที่ 4 นายพิชัย รัตตกุล ชนะ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์  ทำให้ นายเฉลิมพันธ์, นายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น แยกไปตั้งพรรคประชาชน เข้าทำนอง เสร็จ “ศึกใน” เลือดไหลออกจากพรรค

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ