คอลัมนิสต์

สูตรปาร์ตี้ลิสต์ แจก"พรรคเล็ก"กกต.กระสุนตก-รัฐบาลปวกเปียก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สูตรปาร์ตี้ลิสต์ แจก"พรรคเล็ก"กกต.กระสุนตก-รัฐบาลปวกเปียก

 

 

          คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ไปเรียบร้อยแล้ว จำนวน 149 คน โดยมี 26 พรรคการเมือง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวน 11 พรรคด้วย

 

 

          การประกาศรับรองผล ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ให้ 11 พรรคการเมืองเล็ก ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 ที่นั่ง ก็เท่ากับว่า กกต.ได้ตัดสินใจใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อให้แก่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงค่าเฉลี่ยจำนวนเสียงต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ซึ่งตกประมาณ 71,000 คะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นผลมาจาก “เศษคะแนน”


          ก่อนหน้านี้ มีความเห็นทางกฎหมาย ออกเป็น 2 ทาง เกี่ยวกับสูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  


          ความเห็นแรก เห็นว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง คือ  ประมาณ 71,000 คะแนน ไม่มีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย  โดยต้องถูกตัดทิ้งไปตั้งแต่แรก ทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5) กำหนดว่าการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใด มี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) เนื่องจากได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 71,000 คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน


          ส่วนความเห็นที่สอง เห็นว่า ตามเจตนารมณ์เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดใน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ต้องการให้ทุกคะแนน “มีค่าไม่ตกน้ำสูญเปล่า” ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 71,000 คะแนน ย่อมมีสิทธิได้รับการนำมาคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ก็มีโอกาสได้รับการปัดเศษเช่นกัน ถ้ามีเศษคะแนนที่เหลือมากกว่าพรรคการเมืองเล็ก จึงไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองเล็กเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการปัดเศษคะแนน สูตรนี้จึงเป็นธรรมกับทุกพรรคโดยยึดตามหลักกฎหมายที่ทุกคะแนนถูกนำมาคำนวณหมด การที่อ้างว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยประมาณ 71,000 คะแนน จะไม่มีสิทธิได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะบางที ส.ส.เขต ที่ชนะเลือกตั้งได้คะแนนแค่ 20,000 คะแนนเท่านั้น




          อย่างไรก็ตามเมื่อ กกต.เลือกตัดสินใจใช้สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ที่กระจายที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้แก่พรรคการเมืองเล็กด้วย ก็ต้องยอมรับผลพวงที่ตามมา นั่นก็คือ การฟ้องร้องจากพรรคการเมืองที่คิดว่าตนเองเสียประโยชน์จากการตัดสินของ กกต.ในครั้งนี้ 


          อย่างพรรคเพื่อไทย ก็ออกแถลงการณ์มาแล้ว ไม่เห็นด้วยกับ กกต. ที่เลือกใช้วิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบนี้ โดยเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และการตัดสินใจดังกล่าว ยังอาจจะส่งผลต่อบริบททางการเมืองภายภาคหน้าอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย และเห็นว่า เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และจะใช้ช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อ กกต.ในทุกช่องทางที่จะทำได้ต่อไป 


          ขณะที่ “พรรคอนาคตใหม่” นำโดย “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส.จำนวนหนึ่ง ได้แถลงข่าวหลังทราบผลการรับรอง และหลักเกณฑ์การคำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของ กกต. โดย “ปิยบุตร” ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นผู้เสียหายโดยตรง โดยที่นั่ง ส.ส.ของพรรค หายไป 7 ที่นั่ง หรือหายไปเกือบ 6 แสนคะแนน


          จึงจะใช้สิทธิในการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ให้ 11 พรรคการเมืองเล็ก ได้ ส.ส.ด้วยของ กกต. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


          คราวนี้มาดูกันว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วเกี่ยวกับปาร์ตี้ลิสต์ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องขอให้วินิจฉัย มีความหมายว่าอย่างไร


          หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เท่านั้น เนื่องจาก พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณคิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงเป็นการขยายรายละเอียดเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ จึงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ  แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ลงลึกไปถึงที่ว่าสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ที่ถูกต้อง เป็นเช่นไร 


          และก่อนหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะส่งเรื่อง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กกต.ก็เคยส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยให้ เพราะเห็นว่า กกต.ยังไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการใช้วิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบใด 


          ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องขอของผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ ว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็เป็นวินิจฉัยไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการไต่สวนหลักฐานเพิ่มเติม  มีเพียงแต่การเรียกเอกสารจากการประชุมร่างกฎหมายมาดูเท่านั้น ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงตัดสินไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว  


          แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยไปถึงสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ว่าต้องเป็นเช่นไร และชี้ว่า พรป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ทำให้ กกต.สามารถนำมาตรา 128 ของ พรป. เลือกตั้ง ส.ส. มาใช้ในการคำนวนจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ได้ และตีความเองว่าจะเลือกใช้สูตรไหน จะเลือกเอาสูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่า ต้องให้ที่นั่ง ส.ส.แก่พรรคการเมืองเล็กด้วย หรือจะเอาสูตรที่มีนักวิชาการบางส่วน เห็นว่าต้องให้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแก่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนถึงค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ซึ่งมีเพียง 16 พรรคการเมืองเท่านั้น ก็ได้


          ดังนั้นเมื่อ กกต.เลือกเอาสูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คือ การแจกที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ให้แก่พรรคการเมืองเล็ก อีก 11 พรรคการเมือง จึงเป็นกลายเป็นการใช้อำนาจของ กกต.ไปแล้ว และเมื่อ กกต.ใช้อำนาจเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสียเกิดสิทธิทางศาล ซึ่งตอนนี้ก็มีการประกาศมาแล้ว คือพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ 


          และหากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ไปยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเรื่องคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ว่าไม่ถูกต้อง คราวนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยลงไปถึงวิธีการคำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ว่าที่ถูกต้องคือวิธีไหนกันแน่ด้วย เนื่องจากมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจของ กกต. ที่ให้กระจายที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อให้แก่พรรคการเมืองเล็ก เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นไปตามที่ กกต.เลือกใช้วิธีกระจายที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ให้แก่พรรคการเมืองเล็ก ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ คือต้องให้ที่นั่ง ส.ส.แก่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเฉลี่ยถึงประมาณ 71,000 คะแนนเท่านั้น ก็ต้องปรับกันใหม่  


          ส่วนที่ว่า การที่ กกต.เลือกใช้วิธีคำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กระจายให้แก่ 11 พรรคการเมืองเล็ก ทำให้ขั้วพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสตั้งรัฐบาลได้มากขึ้นหรือไม่นั้น ก็ต้องตอบว่า มีโอกาสมากขึ้น เพราะเดิมเสียงของขั้วพรรคพลังประชารัฐและขั้วของพรรคเพื่อไทย ก้ำกึ่งกันอยู่  แต่ตอนนี้  11 พรรคการเมืองเล็กที่ได้นั่ง ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง ก็ออกมาบอกแล้วว่า จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ 


          อย่างไรก็ตามก็ยังมีตัวแปรอีก เช่น ต้องรอดูเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า การสรรหา ส.ว. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาว่าอย่างไร เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ต้องมาจากการเลือกร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว.  ต้องสมบูรณ์ทั้ง 2 สภา จึงจะเลือกนายกฯ ได้  ดังนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การสรรหา ส.ว. ไม่ชอบ ก็จะทำให้การมีรัฐบาลล่าช้าไปอีก


          สำหรับการที่เลือกใช้วิธีกระจายที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อให้แก่พรรคการเมืองเล็ก ซึ่งจะทำให้มีพรรคการเมืองในสภาทั้งหมด 27 พรรคการเมือง (รวม ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เข้าไปด้วย) ไม่เพียงกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเท่านั้น เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการต่อรองกันสูงของคนในพรรคเดียวกันแล้วยังต่อรองกันสูงในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่มีสิบกว่าพรรคด้วย ส่วนซีกฝ่ายค้าน ก็มีพรรคการเมืองเยอะแยะไปหมด ผลสุดท้าย ไม่ส่งผลดีต่อเสถียรภาพรัฐสภาโดยรวมแต่อย่างใด 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ