คอลัมนิสต์

'บริคณห์สนธิ'ตัวชี้ผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อ?  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...   ร่มเย็น 

 

 

 

          “ปล่อยผี” ไปก่อน สุดท้ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็รับรอง ส.ส.เขต 349 คน จากทั้งหมด 350 คนและรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คนจากทั้งหมด 150 คน เนื่องจากมีการร้องคัดค้านการเลือกตั้งจำนวนมาก ประมาณ 400 เรื่องยังทำไม่เสร็จ โดยในจำนวนนี้เป็นการร้องว่าผู้สมัคร ส.ส.ขาดคุณสมบัติ เกือบ 50 เรื่อง อีกทั้ง กกต.มีอำนาจสอยภายหลังได้ภายใน 1 ปี หากพบว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. 

 

 

          สำหรับเรื่องผู้สมัคร ส.ส.ขาดคุณสมบัติที่ถูกร้องกันมากก็เรื่องถือหุ้นสื่อ  โดนกันหลายพรรคการเมือง


          และโทษสำหรับผู้สมัครที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังสมัครนั้น หนักหนาสาหัส เพราะ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 151 ระบุ จําคุก 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 -200,000 บาท และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี


          แถมยังมีการนำไปโยงกับการทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แล้วร้องให้ยุบพรรคการเมืองนั้นด้วย


          อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นแย้งทางกฎหมายว่า ในเรื่องผู้สมัครรับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติกับการทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เป็นคนละเรื่องกัน จึงไม่อาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ 


          สำหรับในเรื่องผู้สมัคร ส.ส. ถูกร้องว่าขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่อนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ...(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ  และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 ก็บัญญัติในทำนองเดียวกัน


          ส่วนผู้สมัคร ส.ส. ที่ถูกร้องว่าขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่อนั้น จะต่อสู้ในประเด็นที่ว่า ขายหรือโอนหุ้นสื่อไปแล้วก่อนสมัครรับเลือกตั้ง หรือสู้ว่าตนเองไม่ได้ทำสื่อ เพียงแต่ว่าในหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทระบุว่าทำสื่อด้วยเท่านั้น เพราะแบบฟอร์มของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุวัตถุประสงค์ไว้แบบครอบจักรวาล มีหลายข้อ, บ้างก็ต่อสู้ว่าซื้อหุ้นมาจากตลาดหลักทรัพย์ จะไปรู้ได้อย่างไรว่าเป็นหุ้นสื่อ เพราะปกติเวลาซื้อหุ้น ก็ไม่มีใครดูหนังสือบริคณห์สนธิกันว่าบริษัทนั้นจดแจ้งวัตถุประสงค์ไว้อย่างไรบ้าง, บ้างก็ต่อสู้ว่าได้ยกเลิกบริษัทที่ทำสื่อไปแล้ว    




          สำหรับในประเด็นที่ว่าขายหรือโอนหุ้นสื่อไปแล้วก่อนที่จะลงสมัคร ส.ส.นั้น เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงของผู้สมัคร ส.ส. เป็นรายๆ ไป ถ้าผู้สมัคร ส.ส.รายไหน พิสูจน์ได้ว่าขายหรือโอนหุ้นสื่อไปแล้วก่อนสมัคร ส.ส. ก็ไม่ผิด


          แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในเรื่องที่จดแจ้งในหนังสือหนังสือบริคณห์สนธิ ว่าทำสื่อ จะทำให้ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่


          ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก “หนังสือบริคณห์สนธิ” ว่า คือ ตราสารจัดตั้งนิติบุคคลชนิดหนึ่ง ที่กำหนดกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท และกำหนดรายละเอียดอื่นๆ ที่สำคัญของบริษัท เช่น เรื่องทุนเรือนหุ้นที่จดทะเบียน ผู้เริ่มก่อการ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาถือหุ้นหรือผู้ที่จะมาติดต่อกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้นได้รู้ว่าบริษัทมีขอบเขตธุรกิจแค่ไหน ใครเป็นผู้ดำเนินการก่อตั้ง มีเงินทุนเท่าใด นอกจากนี้หนังสือบริคณห์สนธิยังเป็นการแสดงเจตนาต่อคนทั่วไปในการจัดตั้งบริษัทด้วย


          และคราวนี้มาดูการวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ว่าดูจากหนังสือบริคณห์สนธิด้วยหรือไม่  ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้ว เกี่ยวกับผู้สมัคร ส.ส.ที่ถือหุ้นสื่อโดยเฉพาะ 


          นั่นก็คือ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ในคดีที่นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.สกลนคร ถูกศาลสั่งให้ถอนชื่อ นายภูเบศวร์ ออกจากประกาศรายชื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.สกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่


          ศาลฯ พิพากษาว่า "เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายภูเบศวร์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด ​มาร์ส ​เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ​เซอร์วิส ​ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ​และออกหนังสือพิมพ์ นายภูเบศวร์จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ​ตามรัฐธรรมนูญ ​มาตรา ​98 ​(​3​) ​และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ​มาตรา ​42 ​(​3​) ​


          ส่วนที่นายภูเบศวร์ อ้างว่า ​ห้างหุ้นส่วนจํากัด ​มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง ​แอนด์ ​เซอร์วิส ​มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่ในความจริงไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ​และออกหนังสือพิมพ์ นั้น ฟังไม่ขึ้น ​


          แม้ต่อมาวันที่ 6 ​มีนาคม 2562 นายภูเบศวร์ จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจํากัด ​มาร์ส ​เอ็นจิเนียริ่ง ​แอนด์ ​เซอร์วิส แล้ว ​แต่เป็นระยะเวลาหลังจากผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ​จึงต้องถือว่า ในวันที่นายภูเบศวร์ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของ ​หรือผู้ถือหุ้น ​ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ​


          นายภูเบศวร์ จึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติดังกล่าวและไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร"
   

          “สกัด” ออกมาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ได้ว่า
          1.ผู้สมัคร ส.ส. ขาดคุณสมบัติหากเป็นเจ้าของหรือถือหุ้น ในกิจการที่ระบุวัตถุประสงค์ว่าทำสื่อ (ซึ่งหลักฐานสำคัญก็คือ “หนังสือบริคณห์สนธิ")
          2.การต่อสู้ว่า ในความจริงไม่ได้ทำสื่อ เพียงแต่ในหนังสือบริคณห์สนธิ ระบุว่าทำสื่อ ฟังไม่ขึ้น      
          3.การยกเลิกกิจการที่ทำสื่อนั้น ต้องเลิกทำก่อนวันที่ยื่นใบสมัคร ส.ส. หากเลิกทีหลัง ขาดคุณสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส.


          คำพิพากษาศาลฎีกา เป็นการวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับหลักกฎหมายในเรื่องต่างๆ ว่าต้องเป็นเช่นไร 


          อย่างไรก็ตาม มือกฎหมาย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ กลับมองว่า คดีนายภูเบศวร์ เป็นเรื่องแปลกที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างนั้น แต่อาจเป็นเพราะกรณีนี้ไปเขียนเติมวัตถุประสงค์ในตอนยื่นจดทะเบียนว่าประกอบกิจการสื่อมวลชน ซึ่งรายละเอียดมากกว่าในแบบฟอร์มมาตรฐาน ศาลจึงมองว่ามีความตั้งใจที่จะทำสื่อ แต่ถ้าเป็นรายอื่นที่ถือหุ้นธรรมดาในบริษัทแล้ววัตถุประสงค์ไม่ได้เขียนเติมไป แต่เป็นไปตามแบบฟอร์มมาตรฐาน “วิษณุ” เห็นว่าแบบนี้ไม่น่าเข้าข่าย


          ต้องรอดูกันต่อไปว่า แค่แบบฟอร์มมาตรฐานสำเร็จรูป ระบุว่าบริษัทนั้นทำสื่อ จะทำให้ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.หรือไม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ