คอลัมนิสต์

'นายกฯ คนนอก' ก๊อกสอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  ร่มเย็น



  
          ระยะนี้มีการออกมาเสนอถึง “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลปรองดอง” ก็สุดแล้วแต่ที่จะเรียก ที่เห็นขยันขันแข็งจริงจังกับเรื่องนี้ก็คือ “เทพไท เสนพงศ์ ” ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  โดยบอกว่าเป็นการเสนอหาทางออกให้ประเทศ หากการเมืองถึง “ทางตัน”

 

 

          แต่ถามว่าการเมืองจะเดินไปถึง “ทางตัน” ได้จริงๆ หรือ ต้องบอกว่ายังมองไม่เห็นเพราะหากเดินไปตามสเต็ปของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ก็สามารถเดินไปได้ และมีนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลได้แน่นอน


          เริ่มจากการมองไปที่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาแม้ว่าขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับรองและประกาศผลอย่างเป็นทางการ  แต่ผลก็คงไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไปมาก นั่นหมายความว่าโอกาสที่ “ขั้วพรรคเพื่อไทย” จะตั้งรัฐบาลได้ไม่มีเลย   ที่กล่าวเช่นนี้เพราะหากเรามองไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ที่ละขั้นตอนก็จะเห็นภาพชัดเจน


          ขั้นตอนแรกต้องมีนายกรัฐมนตรีเสียก่อน (ตั้งนายกรัฐมนตรี ได้แล้วจึงจะมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีได้) โดยในรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล มาตรา 272  วรรคแรก ระบุว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกซึ่งก็คือหลังเลือกตั้ง การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้มติที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งก็คือให้สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. มาร่วมลงมติกับส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี (ซึ่งในบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ระบุว่าในวาระเริ่มแรกให้ส.ว. มี 250 คน) และมติที่เห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสองสภา (ส.ส.มี 500คน ส.ว. มี 250 คน รวม 750 คน) นั่นก็คือ 376 เสียง ในขณะที่ “ขั้วพรรคเพื่อไทย” ไม่มี 250 เสียงของ ส.ว.หนุนเหมือนขั้วพรรคพลังประชารัฐ  “ขั้วพรรคเพื่อไทย” จึงต้องรวมเสียงจากส.ส. อย่างเดียวให้ได้ถึง 376 เสียง ซึ่งไม่มีทางทำได้แน่
   

          ถามว่าทำไม 250 ส.ว. ต้องสนับสนุนขั้วพรรคพลังประชารัฐ คำตอบก็มาจากรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส.ว.250  คน มาจาก 3 ประเภทคือจากการสรรหาและเลือกกันเอง แต่ไม่ว่ามาจากการสรรหาหรือเลือกกันเอง การคัดเลือกขั้นสุดท้ายก็จะเป็นอำนาจของคสช. โดยลำพัง  และอีกประเภทหนึ่งเป็นโดยตำแหน่งซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง จึงกล่าวได้ว่าส.ว.ทั้ง 250 คนมีที่มาจาก คสช. โดยตรง ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรี



 

          ดังนั้นจึงสามารถตัด “ขั้วพรรคเพื่อไทย” ออกไปได้เลย พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโหวตจากที่ประชุมรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยแน่ 
   

          ประเด็นต่อมาคือ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” แน่นอนว่า จากผลการเลือกตั้งที่ออกมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ  หรืออาจแย่กว่านั้นถึงขนาดเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำ  
   

          แต่ก็ใช่ว่าจะถึง “ทางตัน” เพราะเมื่อได้เป็นรัฐบาลในทางการเมืองก็จะมีแต่คนวิ่งเข้าหา เนื่องจากไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน ที่ 7 พรรคการเมืองเคยประกาศว่าจะจับมือกันแน่นไม่เอา “พล.อ. ประยุทธ์” ก็ใช่ว่าจะ “แน่น” ตลอดไป ดังนั้นรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ก็ค่อยๆ สร้างเสียงที่มีเสถียรภาพเอาภายหลังได้ ในอดีตของการเมืองไทยก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว 
  

          อย่างไรก็ตามสมมุติว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศไปสักระยะหนึ่งแล้วไปไม่รอด  ทางแก้ไม่ให้เกิด “ทางตัน” ก็มีอีก ซึ่งก็มาจากรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน แต่หลายคนอาจลืมไปหรือนึกไม่ถึงนั่นก็คือมาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งได้แก่ นายกรัฐมนตรีคนนอกถือว่าเป็น “ก๊อกสอง”  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรีบมี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสองตั้งแต่แรก รอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ วิกฤติเสียก่อนแล้วค่อยมี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ภายหลังก็ได้ และ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ในทีี่นี่ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่ “นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งชาติ” แต่อย่างใด
   

          ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เปิดช่องให้มี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” โดยบัญญัติว่า  ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้  หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้  
   

          และเมื่อเป็น “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ซึ่งตอนนั้นไม่ใช่ พล.อ. ประยุทธ์ แล้ว แรงต้านที่ว่าต้องไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์   หรือว่าต่อต้านการสืบทอดอำนาจก็จบไป  โอกาสที่จะฟอร์มรัฐบาลก็ง่ายขึ้นเพราะจะมีเสียงส.ส.ในสภาสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้น  บริหารประเทศไปได้อย่างฉลุย ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะบริหารประเทศไปได้อีกนานแค่ไหน  และถ้า “รัฐบาลนายกรัฐมนตรีคนนอก” เจอเข้ากับวิกฤติ นายกฯ ก็สามารถยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ 
  

 

          จะเห็นได้ว่าหากเดินไปตามกลไกรัฐธรรมนูญและครรลองประชาธิปไตยปกติ บ้านเมืองก็สามารถเดินไปได้  ไม่เห็นว่าจะมีเรื่องน่าวิตกกังวลหรือถึงทางตันแต่อย่างใด 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ