คอลัมนิสต์

137 ปี ศาลยุติธรรม ก้าวสู่ "D-Court"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  เกศินี แตงเขียว


 

          “21 เมษายน” ของทุกปี นับเป็นวันสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นวันที่ “ศาลยุติธรรม” ได้ปฏิรูปขึ้นครั้งแรกในดินแดนสยาม เมื่อปี 2425 จนถึงวันนี้ 137 ปีแล้ว ที่ “ศาลยุติธรรม” เคียงคู่กับสังคมไทย ใช้อำนาจตุลาการ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบสุข ให้เกิดกับพลเมืองไทยทุกคน ด้วยการอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม

 

 

          แล้วในวันที่สังคม กำลังก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) 4.0 “ศาลยุติธรรม” ต้องขยับตัวให้เข้าสู่วิถีด้วย ซึ่งในปีที่ 137 นี้ “ชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกาคนที่ 44 ประมุขสูงสุดการใช้อำนาจตุลาการ ได้ส่งเสริมแนวคิดให้ผู้พิพากษา-บุคลากรในศาลยุติธรรม พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี สร้างช่องทางให้ประชาชนทุกสถานภาพ เข้าถึงความยุติธรรม ด้วยความสะดวก-รวดเร็ว โดย “ประธานศาลฎีกา” ประกาศชัดเจน ยุทธศาสตร์พัฒนาศาลยุติธรรม เป็น “ศาลดิจิทัล” Digital Court ในปี 2563


          ซึ่ง “สราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยถึงโรดแม็พ แผนพัฒนา “ศาลดิจิทัล” ที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เริ่มแล้วและกำลังเริ่ม
          1.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พัฒนาระบบไอทีสร้างฐานข้อมูลหมายจับ-หมายค้น ซึ่งปัจจุบัน 11 สน. สังกัด บก.น.2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ทำได้ 100% แล้ว โดยเวลาจะยื่นขอหมายจับ ให้ยื่นเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบออนไลน์ ที่จะบันทึกรายละเอียดการขอหมายจับรวมทั้งคำสั่งศาลแบบไฟล์ออนไลน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถกดดูในระบบได้แบบเรียลไทม์ จากเดิมการขอหมายจะเขียนทุกอย่างในกระดาษยื่นเป็นเอกสาร โดยอนาคตอีก 2 เดือน จะขยายฐานข้อมูลไปสถานีตำรวจอื่นๆ ในสังกัด ตร.


          “หากทำได้ครบทั่วทั้งประเทศ จะเป็นความก้าวหน้าในการบูรณาการข้อมูล ระหว่างหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมได้ ที่จะเช็กข้อมูลง่าย สะดวกขึ้น และเสริมประสิทธิภาพภารกิจการจับกุมดียิ่งขึ้นตามไปด้วย เพียงแค่กดปุ่มดูข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะได้ทราบว่าบุคคลที่พบน่าสงสัยนั้นเป็นผู้ที่ถูกออกหมายจับหรือไม่”




          ขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก็กำลังหารือกันว่า จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลกรณีเมื่อศาลมีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหา/จำเลยเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งรอเพียงความพร้อมจากฝั่ง ตม. ที่จะสร้างระบบพร้อมลิงค์ข้อมูลจากฝั่งศาลยุติธรรมเท่านั้น ถ้าเมื่อใดที่ศาลมีคำสั่งการห้ามเดินทางออกนอกประเทศแล้ว ต่อไประบบจะทำให้ ทุกด่าน ตม.ทั่วประเทศได้รับทราบข้อมูลทันทีภายในเวลารวดเร็วแบบเรียลไทม์กดดูข้อมูลได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งจะเป็นการป้องกันการอาศัยช่องว่าง เดินทางหลบเลี่ยงไปทางด่านต่างๆ ในช่วงที่ ตม.ยังไม่รับทราบคำสั่งศาล ในอดีตกระบวนการแจ้งข้อมูลเหล่านี้จะทำเป็นเอกสารส่งผ่านระบบหนังสือราชการ ก็อาจจะใช้เวลาข้ามวัน ดังนั้นการสร้างฐานข้อมูลรูปแบบออนไลน์ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสกัดการเดินทางออกนอกประเทศ ของผู้ที่ถูกศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว


          ส่วน “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (DSI) เวลานี้ ก็ประสานให้ศาลจัดวิทยากร เข้าไปอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ ส่วนการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลดีเอสไอก็ทำได้ 100% พร้อมที่จะใช้งานแล้ว ขณะที่ “กรมราชทัณฑ์” ก็กำลังศึกษาระบบในส่วนฐานข้อมูลเรื่องหมายขัง-หมายปล่อย เวลานี้ก็อยู่ในขั้นตอนเตรียมการเพราะต้องเขียนโปรแกรมระบบมารองรับ ส่วน “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), กรมการปกครอง ก็เห็นด้วยกับแนวคิดการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลหมายจับนี้เช่นกัน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ


          2.การพัฒนาระบบไอที สร้างความสะดวกให้คู่ความ e-Notice System ระบบส่งเอกสารและประกาศนัดไต่สวนหน้าเว็บ แทนการลงประกาศในหนังสือพิมพ์และหน้าศาล ประชาชนก็ประหยัดค่าใช้จ่าย-ลดขั้นตอนเวลาด้วย ซึ่งลงแล้ว 39,616 ประกาศ


          - ระบบ ClOS บริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรมทั่วประเทศ 253 ศาล ช่วยในการติดตามคดี-คัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีแบบออนไลน์
          - การเชื่อมโยงข้อมูลกรมบังคับคดี เรื่องหมายบังคับคดี ผ่าน Web Service, การเชื่อมโยงข้อมูลกรมคุมประพฤติ, การสืบเสาะประวัติและพินิจจำเลย ใน 246 ศาล
          - ระบบสืบพยานทางไกลผ่านจอภาพ (Teleconferencing System), ระบบสืบพยานทางจอภาพเพื่อลดการเผชิญหน้า (Reduce Confrontation System), ระบบการบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Hearing Recording System), ระบบตรวจสอบติดตามการมาศาลของพยาน และการตอบรับเข้าร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ผ่านระบบ QR Code
          - จัดงบประมาณ 177 ล้านบาท ติดกล้องวงจรปิดที่ห้องพิจารณาคดีในศาลทั่วประเทศให้เสร็จปี 2562 เพื่อรักษาความปลอดภัย ใครจะมาทำมิดีมิร้ายในศาลไม่ได้แล้วเพราะสามารถนำภาพ-เสียงนั้นมาดำเนินคดีได้
          - การทำเอ็มโอยูกับธนาคารกรุงไทย ปรับปรุงระบบบริการชำระเงินค่าธรรมเนียมศาล e-Filing กับศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ให้คู่ความสะดวกชำระเงินผ่านธนาคารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม


          3.พัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า e-Arbitration ใช้งบ 27 ล้านบาท สร้างระบบการบันทึกข้อมูลทุกอย่างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ระดับมาตรฐานระดับสากล โดยซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปเหมือนที่ประเทศสิงคโปร์ใช้ ซึ่งเดือนพฤษภาคมนี้ จะได้เห็นระบบอนุญาโตฯ ไทย ทันสมัยเทียบเท่าสากลและเสริมสร้างประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย


          4.พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมต่างๆ เช่น การอบรมผู้พิพากษาสมทบ, ผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย, ผู้ประนอมข้อพิพาท เน้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้มากขึ้น ส่งสัญญาณภาพเสียงไปศาลทั่วประเทศ ก็จะลดค่าเดินทาง ค่าที่พัก ซึ่งมีบุคลากร 10,000 กว่าคนที่จะต้องเข้าฝึกอบรมต่อเนื่อง และยังใช้ไอทีในการจัดประชุมผ่านระบบ Streaming หรือ Facebook Live ด้วย การพัฒนาระบบรายชื่อติดต่อในองค์กร เป็น e-phonebook ลดการใช้กระดาษ


          5.พัฒนาการสื่อสารภายในองค์กรของศาลยุติธรรม ในแอพพลิเคชั่นไลน์ ชื่อ Inside COJ มีสมาชิก 27,368 คน ก็มีทั้ง V LOVE COJ เป็นช่องทางการรับฟังความคิดเห็น, COJ Alerts ใช้แจ้งข้อมูลทันทีที่มีเหตุด่วน คดีสำคัญ ผอ.ศาลแต่ละแห่ง จะรายงานข้อมูลตรงแบบเรียลไทม์ให้ประธานศาลฎีกา, เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และโฆษกศาลยุติธรรม รู้ทันที และยังสามารถค้นหาเขตอำนาจศาลแต่ละแห่ง-ข้อมูล กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้ด้วย


          ขณะที่บทบาทหน้าที่ “ศาล” ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี หลักความเป็นอิสระจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้ไอที “137 ปีศาลยุติธรรม” ก็ได้พัฒนาหลักความเป็นอิสระขึ้นอีกก้าว โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คนซึ่งมีหน้าที่ร่วมดูแลบัญชีโยกย้าย การพิจารณาโทษผู้พิพากษา ที่เดิมให้ ส.ว.เป็นผู้เลือก ก็เปลี่ยนให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศเลือก ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ และเป็นบทบาทที่สังคมได้รับการคุ้มครองด้วย เพราะถ้า ก.ต.มีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา มีความอิสระอย่างแท้จริง ก็จะทำให้เป็นที่ยอมรับของเวทีสากลด้วย


          นอกจากความเป็นอิสระตุลาการที่ได้พัฒนาแล้ว ในการคุ้มครองสิทธิประชาชนที่เป็นคู่ความ และการสร้างความสะดวก ศาลก็ได้พัฒนาก้าวตามกันไปด้วย เรื่องใหม่ คือ 1.เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ สนช.เห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ....” ซึ่งมาตรา 6 ให้อำนาจที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยได้ว่าบทบัญญัติกฎหมายใดซึ่งมีโทษทางอาญา โทษทางปกครอง หรือสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ฝ่าฝืนนั้น สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรืออาชีพ เป็นภาระแก่ประชาชนหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้น ในอดีตไม่มีกฎหมายใดเปิดช่องให้อำนาจที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทำเช่นนี้ได้


          ยกตัวอย่างคดีในอดีต เช่น ซาเล้งเก็บซีดีเก่ามาขาย ถูกฟ้องกระทำผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษปรับขั้นต่ำไว้เช่น 200,000 บาท ก็ต้องลงโทษปรับตามนั้น แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ บังคับใช้แล้ว ระหว่างการพิจารณาคดีใดหากเห็นว่ากฎหมายนั้นจะมีข้อต้องส่งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบทกำหนดโทษขั้นต่ำนั้นไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ซึ่งหากยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในเรื่องนั้น ศาลที่กำลังพิจารณาคดีสามารถเสนอได้ และหากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบทกำหนดโทษขั้นต่ำนั้นไม่เป็นธรรม ศาลนั้นจะไม่ลงโทษเลย หรือลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้


          2.เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 ศาลเริ่มใช้ “ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยระยะเวลาในการจัดพิมพ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น พ.ศ.2562” กำหนดเวลาชัดเจนให้คู่ความคัดถ่ายคำพิพากษาหลังจากมีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นแล้วได้ภายใน 7 วัน โดยระเบียบนี้สอดคล้องกับแนวคิดการปฏิบัติที่ดีที่สุด Best Practice ของธนาคารโลก เรื่องความมีประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดี Case Management ของศาล ที่ต้องกำหนดระยะเวลามาตรฐาน Time Standard โดยการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวยังจะส่งผลต่อรายงานการประเมินความยากง่ายในการทำธุรกิจ Doing Business ของธนาคารโลกที่จะทำขึ้นทุกปี เป็นการยกระดับความเชื่อมั่นต่อศาลยุติธรรมไทยในระดับสากลอีกด้วย


          3.การให้อำนาจ “ศาลฎีกา” พิจารณาคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระตาม “ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561” ที่ออกมารองรับรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 219 บัญญัติให้องค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ


          4.การเปิดศาลแขวงเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง คือ ศาลแขวงระยอง, ศาลแขวงภูเก็ต, ศาลแขวงเชียงราย, ศาลแขวงบางบอน, ศาลแขวงราชบุรี เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วต่อคู่ความในคดี โดยเมื่อคดีเข้าสู่ศาลมีจำนวนมาก การจัดแยกประเภทคดีเล็กน้อยจะทำให้การทำคดีรวดเร็วมากขึ้น เปรียบเทียบเหมือนโรงงานก็จะมีการแยกสายการผลิต ซึ่งคดีที่มีอัตราโทษเล็กน้อยหากฟ้องแล้วรับสารภาพก็จะตัดสินเสร็จได้เลย ถ้าปล่อยให้คดีโทษเล็กน้อย พิจารณาไปในศาลเดียวกันกับคดีที่มีอัตราโทษสูงทั้งที่วิธีพิจารณาคดีศาลแขวงแตกต่างกันกับศาลจังหวัดก็จะทำให้คดีเสร็จล่าช้า


          5.การเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และภาค 1-9 ครบทั้ง 10 แห่ง เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 นั้น โดยใช้ระบบวิธีพิจารณาคดีแบบไต่สวน ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการคุ้มครองประชาชนที่จะดำเนินการกับคดีที่มีการทุจริต ประพฤติมิชอบ


          6.การปรับปรุงกระบวนการตัดสินคดีในเวลาที่ไม่ล่าช้า โดยประธานศาลฎีกา ประกาศนโยบายการดำเนินคดีว่า ศาลชั้นต้น ตั้งแต่รับคดีต้องทำให้เสร็จไม่เกิน 2 ปี ศาลอุทธรณ์จะต้องไม่เกิน 6 เดือน และศาลฎีกา จะไม่เกิน 1 ปี


          7.เรื่องการคืนเงินในคดี ที่ได้กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน พร้อมกับเปลี่ยนระบบที่คืนเงินจากเดิมด้วยการสั่งจ่ายเช็ค เป็นการเข้าบัญชีของคู่ความเลย ก็จะลดขั้นตอนต่างๆ ทำให้คู่ความได้รับเงินคืนในเวลารวดเร็วและยังป้องกันการทุจริตด้วย


          8.โครงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กำไลอีเอ็มที่นำมาช่วยเสริมการกำกับดูแลการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลย ที่ไม่มีเงินสดหรือหลักทรัพย์พอวางเป็นหลักประกัน ก็แจ้งความประสงค์ขอพิจารณาติดอุปกรณ์นี้ได้


          9.การแก้ไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) ขยายเพดานอัตราโทษจำคุก ที่จะให้ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน จากเดิมที่กำหนดไว้คดีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ก็เป็นคดีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี


          10.การแก้ไข ป.วิ.อ.ฉบับที่ 34 พ.ศ.2562 มาตรา 161/1 เรื่องใช้สิทธิการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาโดยไม่สุจริต ซึ่งหากปรากฏต่อศาลว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย ก็ให้ศาลยกฟ้องได้และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันอีก โดยศาลเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะศาลได้เจอปัญหาเอง ที่มีคนมาใช้สิทธิทางศาลแกล้งฟ้องกันจำนวนมาก ดังนั้นมาตรานี้จะเป็นกลไกสำคัญป้องกันผู้ที่ถูกฟ้องโดยไม่สุจริตจะได้รับความคุ้มครอง


          11.การตั้ง “ศูนย์อำนวยความยุติธรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อบริหารจัดการล่ามแปลภาษา” ทั้งกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างชาติ หรือพิการทางการฟัง ก็จัดล่ามผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ซึ่งมีล่ามมากกว่า 10 ภาษา ล่ามผู้แปลภาษาสะดวกไม่ต้องเดินทางไปยังศาลจังหวัดต่างๆ ส่งผลให้คดีเกิดความรวดเร็ว ไม่ต้องเลื่อนคดีเพราะรอการจัดหาล่ามแปลภาษาด้วย
    

          “สราวุธ” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังย้ำถึงเป้าหมายใหญ่ของศาลยุติธรรมในปี 2563 ที่จะพัฒนาระบบให้เป็น D-Court ว่า สิ่งที่สำคัญบุคลากรต้องยกระดับศักยภาพให้มีความพร้อมและทักษะในการใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากโครงสร้างพื้นฐาน 3 อย่างทั้ง Software-Hardware-Peopleware ที่มีความสำคัญมากแล้ว ก็ยังจะต้องมีเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่อง Cybersecurity ซึ่งเป้าหมาย D-Court นั้นจะเสริมสร้างประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดีให้รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย ให้ความสะดวกประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ Faster And Better Service โดยในปี 2564 เราจะทำให้เป็น Effective สร้างประสิทธิภาพมีมาตรฐานระดับสากล


          “ในส่วนความเป็นประชาธิปไตยนั้น 137 ปีศาลยุติธรรม ที่ผ่านมาก็เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว และดำรงอยู่ควบคู่กับสังคมตลอดมาในการทำหน้าที่ บทบาทของตุลาการก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งเป็นเสาหลักอันหนึ่งในการรักษาประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยอำนาจตุลาการก็เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย เช่นเดียวกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งผู้พิพากษาทุกคน ตระหนักดีถึงการปฏิบัติหน้าที่และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความเป็นอิสระ และทำด้วยความถูกต้อง-สุจริต-เป็นธรรม เป็นสำคัญ”

 


          มือปราบคู่บัลลังก์ศาล ล่าผู้ต้องหา-คนหนีคดี
          ที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการสร้างความมั่นใจต่อระบบการรักษาความปลอดภัยของศาลยุติธรรม ก็คือ ออก “พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจ พ.ศ.2562” (ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ววันที่ 16 เม.ย.62) โดยกฎหมายนี้ เรียกง่ายๆ ทั่วไปว่า คอร์ทมาร์แชล (Court Marshal) ก็ได้ โดย “เจ้าพนักงานตำรวจศาล” จะดูแลเรื่องความเรียบร้อยปลอดภัยในบริเวณศาล และยังมีอำนาจหน้าที่ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา/จำเลยที่หลบหนีระหว่างปล่อยชั่วคราวของศาล หรือผู้ที่ฝ่าฝืนหมายเรียกของศาลด้วย ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น


          ซึ่งตอนนี้มีการคัดเลือก “ผอ.ศูนย์รักษาความปลอดภัย” คอร์ทมาร์แชลคนแรกแล้ว จากผู้สมัคร 14 คน เลือกได้ ผกก.บก.ส.3 จากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นผู้ที่สมัครมาจากสังกัดสันติบาล เราเลือกจากทุกคนใครก็ได้ที่มีคุณภาพพิจารณาหลายองค์ประกอบ เราต้องการเลือกคนเก่ง-คนดี มาทำงาน ไม่มีเด็กฝากของใคร เพียงแต่การคัดเลือก ผอ.ศูนย์ฯ เมื่อได้ตำรวจจากสันติบาล ก็ถือว่าเป็นข้อดี เพราะงานสันติบาลผ่านงานอารักขาบุคคลสำคัญและเรื่องข้อมูลข่าวสาร เรียกว่ามีทั้งความเชี่ยวชาญและทักษะความรู้ ซึ่ง ผอ.ศูนย์ฯ นี้ ยังต้องรับผิดชอบ “ศูนย์ควบคุมติดตามด้วยระบบกำไลอิเล็กทรอนิกส์อีเอ็ม” ด้วย ในการติดตามผู้หลบหนีประกัน (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย.62 มีจำนวนผู้หลบหนี 250 คน) ซึ่งอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลปีแรก กำหนดไว้ 39-40 อัตรา ในเวลา 5    ปีจะมีให้ได้ครบเต็มอัตรา 109 อัตรา งบ 316.98 ล้านบาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ