คอลัมนิสต์

เอ๊ะยังไง..ฝ่าย(อ้าง)ประชาธิปไตย จะล้มเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา บางปะกง


 

          ถ้าเข้าไปส่องเฟซบุ๊กของกองเชียร์พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคเพื่อไทย ก็จะพบการขยายผลวาทกรรม “คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.” เกือบทุกสเตตัส

 

          พรรคส้มหวานพยายามปูพรม “ข้อเสนอ” ที่เป็นรูปธรรม 1.ต้องปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องปฏิเสธพรรคพลังประชารัฐด้วย เพราะเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.ชัดเจน เหมือนกับการตั้งพรรคสามัคคีธรรม เพื่อต้องการสืบอำนาจของ รสช. เมื่อปี 2534

 

 

          2.ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญของคสช. ที่ต้องการใช้เสียง ส.ว. เพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ทุกพรรคที่ยืนยันกับประชาชนว่าจะยุติการสืบทอดอำนาจ ต้องยกมือรับรองรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอของพรรคการเมืองที่สามารถรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร


          พวกเขาพยายามปลุกกระแสต้าน “250 ส.ว.” ว่าเป็นผลไม้พิษของคสช. จึงต้องหาทางล้มเลิกไปให้หมดสิ้น ด้วยเสียงของผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกของประชาชน นั่นหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

 

 

 

เอ๊ะยังไง..ฝ่าย(อ้าง)ประชาธิปไตย จะล้มเลือกตั้ง

 


          วิธีคิดข้างต้นของผู้อ้างว่าเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ดูคับแคบและไม่ยอมรับกติกา เนื่องจาก “รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560” นั้น ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว โดยจัดขึ้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 มีประชาชนคนไทยทั่วประเทศมาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 50.07 ล้านเสียง 

 

          ถ้าไม่เป็นอัลไซเมอร์ทุกคนคงจำได้ว่าในการออกเสียงประชามติครั้งนี้มีคำถามที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์ต้องตอบทั้งสิ้น 2 ข้อ ได้แก่ 1.การรับรองร่างรัฐธรรมนูญว่าจะ “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช … ทั้งฉบับ” 2.การให้ความเห็นชอบคำถามพ่วง ว่าจะให้ ส.ว. มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่


          ผลการลงคะแนนเสียงในประเด็นคำถามพ่วงนี้ปรากฏว่า ผู้มาใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่ 15,132,050 คน (58.07%) เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะที่เสียงส่วนน้อย 10,926,648 คน (41.93%) ไม่เห็นด้วย

 



          เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับประเด็นดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 272 ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยมติของสภาร่วม (ส.ส.+ส.ว.)


          หลังทราบผลคะแนนเลือกตั้งเบื้องต้นฝ่าย(อ้าง)ประชาธิปไตย พยายามชิงการนำ ด้วยเปิดการแถลงข่าวพันธมิตร 6 พรรค บวก 1 พรรค (พรรคเศรษฐกิจใหม่) เตรียมจัดตั้งรัฐบาล แต่จำนวนตัวเลขก็ไม่ถึง 375 เสียง หากต้องการโหวตเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 


          ด้วยเหตุนี้จึงมีขบวนการปล่อยข่าวผ่านสื่อโซเชียลว่าเมื่อการเมืองถึงทางตันจะมีรัฐบาลปรองดอง มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง เพื่อเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เสร็จ ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 


          แนวคิดรัฐบาลปรองดองของฝ่ายต้านคสช. จะต่างจากรัฐบาลแห่งชาติของเทพไท เสนพงศ์ เพราะรัฐบาลเฉพาะกิจของฝ่าย(อ้าง)ประชาธิปไตย จะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้


          ฉะนัั้นหน้าฉากพวกเขาจะเรียกร้องให้จัดตัั้งรัฐบาลตามกรอบกติกา แต่หลังฉากก็แอบหวังลึกๆ ว่าจะเกิดสถานการณ์เดดล็อกทางการเมือง และมีรัฐบาลพิเศษขึ้นมาบริหารประเทศ


          จะว่าไปแล้ววิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่มักง่ายก็อันตรายเสียยิ่งกว่าแนวคิดเผด็จการ 2.0 เพราะมุ่งที่ผลลัพธ์โดยไม่ใส่ใจเรื่อง “วิธีการ” ที่ได้มา 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ