คอลัมนิสต์

โยกย้ายนายตำรวจระดับสูงกับการปฏิรูปตำรวจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน... 


 

          ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากแวดวงตำรวจและสังคมคงเป็นเรื่องการโยกย้ายนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 


          เหตุผลที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษคงเป็นเพราะการที่นายตำรวจคนดังกล่าวถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา 

 

 

          การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางที่เรียกว่าระบบ รวมศูนย์อำนาจ (Centralization)

 

          ในขณะที่ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจในอดีตที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจไปก็ได้มีข้อเสนอให้ระบบการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเป็นไปในลักษณะ การกระจายอำนาจ (Decentralization) เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในระดับพื้นที่


          หากพิจารณาถึงหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานของภาครัฐ ให้มีความโปร่งใส สอดคล้องและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล 


          ดังจะเห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ใช้ระบบการบริหารงานตำรวจแบบการกระจายอำนาจ (Decentralization) เพราะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ และระดับผู้บริหาร รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง ต่างพบว่าระบบการบริหารงานดังกล่าว ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมในระดับชุมชน ดังที่ทราบกันดีกว่าปัญหาของชุมชน สมาชิกในชุมชนย่อมรับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคนที่ทำงานในพื้นที่ส่วนกลาง

 

 

          ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของประเทศในเอเชียที่มิได้ใช้ระบบการบริหารงานตำรวจแบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) แต่เป็นไปในลักษณะแบบผสมผสานโดยมีคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยสาธารณะระดับชาติ (National Public Safety Commission: NPSC) ที่ทำหน้าที่คอยกำกับ ติดตาม ประเมินผลการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (National Police Agency: NPA) รวมทั้งมาตรฐานการทำงานของตำรวจทั้งในด้านการฝึกอบรม การพัฒนาเทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ 


          ส่วนอำนาจการบังคับบัญชาตำรวจในระดับพื้นที่ยังเป็นของหน่วยงานตำรวจในพื้นที่นั้นๆ ภายใต้คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยในระดับจังหวัด (Prefectural Public Safety Commission) 


          ตำรวจในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่โยกย้ายบ่อยครั้งและไม่ข้ามพื้นที่ เนื่องจากการให้ความสำคัญกับการจัดการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในชุมชน การรับแจ้งเบาะแสข้อมูลอาชญากรรมโดยสมาชิกในชุมชนผ่านเครือข่ายตู้ยามตำรวจชุมชน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมในระดับพื้นที่ 
เป็นที่น่าสนใจว่าในประเทศญี่ปุ่นสถิติการเกิดอาชญากรรมร้ายแรง เช่น คดีฆ่า พยายามฆ่า เกิดขึ้นน้อยกว่าประเทศไทยประมาณเกือบ 5 เท่า ในขณะที่สัดส่วนของตำรวจต่อประชากรของประเทศญี่ปุ่นแทบไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยถึงแม้ว่าประชากรญี่ปุ่นจะมากกว่าประชากรของประเทศไทยประมาณ 2 เท่า

 

          หากพิจารณาแนวคิดตำรวจสมัยใหม่ (Modern policing) ที่ได้กล่าวถึงระบบงานของตำรวจ ได้มีแนวคิดที่ว่างานของตำรวจจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเมื่อได้รับความร่วมมือและได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือจากภาคประชาชน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการทำงานของตำรวจ กล่าวคือยิ่งประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจตำรวจมากเพียงใด สังคมนั้นก็จะมีความสงบสุข เรียบร้อยมากยิ่งขึ้น 


          ในทางกลับกันหากประชาชนและตำรวจมีความขัดแย้งกันมากขึ้น สังคมนั้นก็จะยิ่งเกิดความวุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย 


          นอกจากนี้แนวคิดตำรวจสมัยใหม่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเป็นมืออาชีพ (Professionalization) การพัฒนาระบบการฝึกอบรม คุณธรรม จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ นวัตกรรมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมทั้งอาชญากรรมข้างถนน (Street crime) เช่น ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ไปจนกระทั่งอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cyber crime) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล

 

          จากการศึกษาวิจัยระบบงานตำรวจมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก พบว่าความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาจากอำนาจที่ถูกกระจายลงไปในระดับพื้นที่ ทั้งในเชิงการบริหารงาน การจัดสรรงบประมาณ การพัฒนาความเป็นมืออาชีพ การตรวจสอบการทำงานของตำรวจ รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จในด้านการป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรม การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสมาชิกในชุมชนกับตำรวจในระดับพื้นที่ ฯลฯ 

 

          แต่อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น แนวคิดการรวมศูนย์อำนาจของการบริหารงานตำรวจไว้ที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในช่วงที่ผ่านมา อาจมีเหตุผลสนับสนุนจากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในหลายประการ 


          แต่หากพิจารณาถึงสถิติการเกิดอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในระดับพื้นที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลับสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจที่รวมศูนย์ที่ส่วนกลางดูเหมือนว่ามิได้ทำให้อาชญากรรมในระดับพื้นที่ลดน้อยลงแต่อย่างใด 


          ในทางกลับกันความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (Fear of crime) ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะผลจากการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจแบบข้ามสายงาน และข้ามพื้นที่โดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน หรือการแก้ไขคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายโดยปราศจากเหตุผลและคำอธิบาย ซึ่งมิได้สอดคล้องกับแนวคิดตำรวจสมัยใหม่และไม่สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจในทุกชุดที่ผ่านมา 


          ดังนั้นคงอาจจะกล่าวได้ว่าการปฏิรูปตำรวจในมิติของการบริหารงานตำรวจแบบรวมศูนย์อำนาจในปัจจุบันนอกจากจะไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในระดับชุมชน ไม่สอดคล้อง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำลายขวัญ กำลังใจข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่แต่ยังทำให้นึกถึงคำมั่นสัญญาเรื่องการปฏิรูปตำรวจซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุกครั้งหลังจากการรัฐประหาร แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และก็คงจะเงียบหายไปเฉกเช่นอดีตที่ผ่านมา 


          ประเด็นสำคัญคงมิได้อยู่ที่แนวคิด หรือองค์ความรู้ที่จะทำ แต่สิ่งสำคัญคงอยู่ที่ความจริงใจในการลงมือทำ

 

-รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล-
ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
อดีตอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการตำรวจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ