คอลัมนิสต์

เคลียร์?.. กกต. ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย


 

          คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกโจมตีอย่างหนักกับการจัดการ “เลือกตั้ง 24 มีนาคม” แถมยังมีผู้ไปยื่นกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ว่า กกต.จงใจกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

 

          สำหรับผู้ที่รวบรวมรายชื่อยื่นกล่าวหา กกต. ต่อ ป.ป.ช. มีทั้งนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และยังมีองค์กร Change โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่-กลุ่ม We love Thailand ร่วมรณรงค์ล่า 1 ล้านชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org โดยร่วมมือกับเครือข่ายนักศึกษา 10 สถาบันที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ เพื่อนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ดำเนินการกับ กกต.

 

 

เคลียร์?.. กกต. ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น

 


          นอกจากนี้ยังมี 121 นักวิชาการ เข้าชื่อกันในนาม “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง” ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. แสดงความกังขาเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ก็ออกมารุมเล่นงาน กกต. จากการรวบรวม “ข้อกล่าวหา” ของกลุ่มต่างๆ ที่มีต่อ กกต.มีจำนวน 10 ข้อ และกกต.ชี้แจงดังนี้

 

          1.จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าผิดพลาด บัตรเลือกตั้งถูกส่งไปสลับหน่วย สลับเขต ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ ไม่โปร่งใส และไม่มีข้อมูลผู้สมัคร
  

          กกต.ชี้แจงว่า การส่งบัตรสลับเขต เป็นปัญหาในการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร โดยบัตรได้ถูกจัดส่งไปให้ผู้ใช้สิทธิครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้จำนวนบัตรที่ถูกจัดพิมพ์และนำออกไปใช้ทั้งหมดมีตัวเลขกำกับชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ ส่วนข้อมูลผู้สมัครและนโยบายพรรคการเมืองสามารถเปิดดาวน์โหลดได้จากแอพพลิเคชั่น สมาร์ทโหวต

 

 

เคลียร์?.. กกต. ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น

อิทธิพร บุญประคอง

ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)



  

          ประเด็นนี้ถือว่า กกต.เคลียร์ขาดไปตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง 
          2.กกต.วินิจฉัยไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากนิวซีแลนด์ จำนวน 1,542 ใบ ที่ไม่นำมานับคะแนนเนื่องจากบัตรเลือกตั้งดังกล่าวเดินทางมาถึงล่าช้าปิดหีบเลือกตั้งในวันเลือกตั้งไปก่อน เป็นการลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของคนไทยในต่างแดนโดยชัดแจ้ง
  

          กกต.ชี้แจงว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 114 เขียนบังคับให้ กกต.ต้องวินิจฉัยไปอย่างนั้น ทั้งที่ กกต.เข้าใจเรื่องสิทธิของประชาชนในต่างแดน และไม่อยากทำแต่ต้องยืนยันในมติที่ไม่ให้นำบัตรเลือกตั้งดังกล่าวมานับคะแนน เพราะการนับคะแนนเสร็จสิ้นลงไปแล้วหากนำมาเปิดนับอาจถูกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ครั้นจะสั่งให้เป็นบัตรเสียก็ไม่ได้เพราะบัตรยังไม่ได้ถูกจัดส่งไปยังสถานที่นับคะแนน

 

 

 

เคลียร์?.. กกต. ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น

 


          อย่างไรก็ตามในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบสาเหตุของการขนส่งบัตรล่าช้าใน 2 จุด จุดแรกคือถุงเมลทางการทูตพิเศษ ซึ่งบรรจุบัตรเลือกตั้งที่สถานกงสุลเวลลิงตันส่งให้สายการบินนิวซีแลนด์ นำส่งไปยังนครโอคแลนด์ แต่มีปัญหาตกค้างอยู่ในคาร์โกของแอร์นิวซีแลนด์ จึงไม่ได้จัดส่งให้สายการบินไทยตามกำหนดเวลา และจุดที่ 2 ในวันที่ 23 มีนาคม เวลา 20.50 น. ถุงเมลบรรจุบัตรเลือกตั้งถูกส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ไปรับเพื่อนำไปคัดแยกและจัดส่งไปเปิดนับยังสถานที่นับคะแนนกลางของ 350 เขตเลือกตั้งทั้งที่อาจจะมีเวลาน่าเพียงพอในการส่งบัตรให้ถึงปลายทางก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ 24 มีนาคม เมื่อพบความผิดพลาดชัดเจน ขั้นตอนหลังจากนี้ คือการหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบจากความผิดพลาดบกพร่องกับบัตรลงคะแนนของประเทศนิวซีแลนด์
  

          การชี้แจงของกกต. ในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่ามีทั้งฝ่ายถูกใจและไม่ถูกใจ ท้ายที่สุดคือการหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบทั้ง 2 จุด
          3.มีการเลื่อนและประวิงเวลาการนับและประกาศผลคะแนนขัดต่อ ม.117 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุว่า การนับคะแนนให้กระทําติดต่อกันจนเสร็จสิ้นและห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน
  

 

 

เคลียร์?.. กกต. ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น

 

 

          กกต.ยืนยันว่าการนับคะแนนดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปิดหีบจนแล้วเสร็จ ไม่มีการหยุดนับ เลื่อนหรือประวิงเวลามีเพียงการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการผ่าน “แอพพลิเคชั่นแรพพิทรีพอร์ต” เท่านั้น ที่หยุดรายงานผลเมื่อมีการนับคะแนนถึง 95% ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ดังจะเห็นได้จากผู้สังเกตการณ์ของทุกพรรคการเมืองที่สามารถตรวจสอบผลการนับคะแนน 100% ได้จากหน้าหน่วยเลือกตั้งกว่า 9 หมื่นหน่วยทั่วประเทศ


          นอกจากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังสามารถขอคัดสำเนาผลคะแนน 100% ได้จากสำนักงานกกต.จังหวัด พร้อมยืนยันว่าการรายงานผลการนับคะแนนใช้เวลาประมาณ 5 วัน ซึ่งเท่ากับการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีความล่าช้าในการรายงานผล
  

          ประเด็นนี้แม้ว่า กกต.จะตอบชัดแต่สิ่งที่พรรคการเมือง นักวิชาการ และสังคมโซเชียล ต้องการเพิ่ม คือ ให้กกต.ประกาศผลคะแนนเป็นรายหน่วยทั่วประเทศ บนหน้าเพจของกกต. เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ
            4.มีคะแนนเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านใบโดยไม่สมเหตุผล โดยหลังปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม กกต.แถลงผลการลงคะแนนว่ามีผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 33,775,230 คน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม กกต.แถลงอีกครั้งว่าผู้มาใช้สิทธิเพิ่มเป็น 38,268,375 คน ผ่านไปแค่ 4 วัน มีบัตรเกิดใหม่ในหีบจำนวน 4,493,145 ใบ

 

 

เคลียร์?.. กกต. ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น

 


  

          กกต.ชี้แจงชัดว่า ข้อกังวลว่ามีบัตรงอก บัตรออกลูกกว่า 4 ล้านใบนั้นไม่เป็นความจริง โดยตัวเลขในการแถลงข่าวของประธานกกต.เมื่อวันที่ 24 มีนาคมนั้น เป็นข้อมูลตามที่ระบบรายงานผลแรพพิทรีพอร์ต ซึ่งรายงานอยู่ที่ 93% แต่ข้อมูลที่สุดท้าย 100% เป็นการรวมผลส่วนที่ยังนับไม่ครบอีก 5% และการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้มาใช้สิทธิราว 2.3 ล้าน รวมถึงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มีผู้มาใช้สิทธิราว 1 แสนคน เมื่อตัวเลขทบเข้าไปทำให้จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีเหตุผล ไม่มีใครสามารถทำให้บัตรเพิ่มขึ้น 4 ล้านใบได้ เพราะกระบวนการทั้งหมดมีการตรวจสอบตั้งแต่หน่วยเลือกตั้ง มีการประกาศผลที่หน่วยเลือกตั้งจำนวนบัตรที่ใช้ บัตรที่เหลือ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ และเชื่อว่าผู้สมัครทุกคนได้บันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้ทั้งหมดแล้วไม่มีใครไปเพิ่มผลคะแนนหรือตัวเลขได้
  

          ประมวลตัวเลขจากการชี้แจงของกกต.ก็ถือว่าฟังขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้รับฟังที่จะเลือกเชื่อ กกต. หรือไม่
          5.กกต.กล่าวอ้างว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิกับจำนวนบัตรที่ลงคะแนนไม่ตรงกัน กล่าวคือ มีการใช้บัตรเลือกตั้งน้อยกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิจำนวน 9 ใบ อาจเกิดจาก “บัตรเขย่ง” ซึ่ง “บัตรเขย่ง” ไม่เคยปรากฏมาก่อน

  

          ในประเด็นที่มีสงสัยว่าทำไมผู้มาใช้สิทธิจำนวน 38,268,375 คน กับบัตรเลือกตั้งที่ใช้ 38,268,366 ใบ ต่างกันอยู่ 9 ใบ ตรงนี้เป็นเครื่องยืนยันว่ากกต.ไม่ได้ตกแต่งตัวเลข ส่วนสาเหตุของการเขย่งจะถูกตรวจสอบว่าเกิดขึ้นในหน่วยใด อาจเป็นการบันทึกข้อมูลผู้มาใช้สิทธิลงในแบบส.ส.1/3 คลาดเคลื่อน หรืออาจมีการนับคลาดเคลื่อน หากไม่สามารถระบุสาเหตุได้จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกกต.ได้มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่แล้วใน 6 หน่วยเลือกตั้งของ 5 จังหวัด

 


          ถือว่าเคลียร์ปม “บัตรเขย่ง” ได้
          6.กกต.ไม่เปิดเผยผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงวิธีการรวบรวมผลการนับคะแนน เนื่องจากผลคะแนนรวมมีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ี่และหากผลคะแนนไม่ตรงกัน กกต.ก็ต้องนับคะแนนใหม่ให้สิ้นข้อสงสัย

  

          กกต.ชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะมีการติดประกาศผลการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งและหน้าสำนักงานกกต.จังหวัด พรรคการเมืองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบและขอคัดสำเนาได้


          กรณีผลการนับคะแนนรวมไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ กกต.สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ใน 2 หน่วยเลือกตั้งใน จ.ขอนแก่น ส่วนอีก 4 หน่วยเลือกตั้งตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ลงลายมือชื่อรับบัตรเลือกตั้งที่ต้นขั้วบัตร แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบัญชีผู้แสดงตนใช้สิทธิเลือกตั้งหรือผู้มาใช้สิทธิหย่อนสำเนาบัตรประชาชนใส่หีบแทนบัตรเลือกตั้ง แล้วเก็บเอาบัตรเลือกตั้งกลับบ้าน

 


          ประเด็นนี้ กกต.ชี้แจงได้เคลียร์
          7.ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้ที่ทำให้บัตรเลือกตั้งจากนอกราชอาณาจักรมาล่าช้า และไม่ได้เอาผิดผู้ที่ทำให้ยอดบัตรไม่ตรงกับผู้มาใช้สิทธิ เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่

 

          กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบจากความผิดพลาดบกพร่องกับบัตรลงคะแนนของประเทศนิวซีแลนด์ ส่วนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนั้น กกต.ได้รับเป็นสำนวนไว้ตรวจสอบแล้วเช่นกัน

 

          กกต.ตอบข้อสงสัยได้ดี
          8.ไม่เปิดเผยทำความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมถึงสูตรคำนวณจำนวนส.ส.ของกกต.ที่กระจายส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ซึ่งไม่ถูกต้อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


          กรณีนี้กกต.ก็หาคำตอบด้วยตัวเองไม่ได้เนื่องจากไม่มีสูตรใดคำนวณได้ส.ส.ครบ 150 คน จึงมีมติเอกฉันท์ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากกต.จะคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 (5) ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.ที่จะพึงมีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่


          กรณีนี้ยังมีมุมมองที่ต่างกันออกไป บ้างก็ว่าตามกฎหมายเขียนชัดเจนอยู่แล้วเกี่ยวกับการคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้ ดังนั้น กกต.สามารถวินิจฉัยได้เอง ไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ บ้างก็ว่าดีแล้วที่ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องสูตรคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังเห็นต่างกัน การให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะทำให้ได้ข้อยุติ

          9.ไม่สั่งการให้พรรคการเมืองแจ้งจำนวนเงินและที่มาของเงินที่ต้องใช้ตามนโยบายที่พรรคการเมืองนั้นหาเสียง
  

          กกต.ชี้แจงว่าเป็นหน้าที่ที่พรรคการเมืองต้องยื่นแสดงบัญชีรับจ่าย รวมถึงที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายหาเสียง ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายอยู่แล้ว พรรคการเมืองใดฝ่าฝืน ไม่ดำเนินการมีความผิด


          ถือว่ากกต.ตอบได้ชัดเจน
          10.ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน-ทุกพรรคการเมือง ฐานแจ้งความเท็จ กรณียื่นใบสมัครเป็น ส.ส. ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม
  

          กกต.ชี้แจงว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมาย


          ประเด็นนี้ถือว่า กกต.ชี้แจงได้
          บรรดาข้อกล่าวหาโจมตี กกต. ขณะนี้แผ่วลงไปเยอะหลัง กกต.มีปฏิบัติการชี้แจงข่าวเท็จ ข่าวคลาดเคลื่อนแบบทันควัน รวมถึงดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ข้อความเท็จ แต่หลังจาก กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง คงมีเรื่องโจมตี กกต.แรงขึ้นอีก ถึงตอนนั้นต้องรอดูว่า กกต. รับมือไหวแค่ไหน
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ