คอลัมนิสต์

เตือน !กินเสร็จอย่าโยน....ป้องกัน"ไวรัสอหิวาต์สุกร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 


          การแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงหลายชนิด เช่น เอชไอวี โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้เลือดออกอีโบลา ฯลฯ ล้วนเป็นเชื้อโรคจาก “สัตว์ป่า” สู่มนุษย์ (zoonosis)

 

 

          ปลายปีที่แล้วเกิดข่าวใหญ่ในวงการ “หมู” หลังกระทรวงเกษตรของจีน รายงานการแพร่ระบาดของ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” (African swine fever) หรือ “โรค ASF” ในหลายพื้นที่ด้วยกัน เช่น มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเหลียวหนิง และอีกกว่า 20 มณฑล ที่ทยอยรายงานตัวเลขหมูตายหลายร้อยตัว รัฐบาลจีนออกคำสั่งฆ่าหมูไปอีกกว่า 4 หมื่นตัว เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด


          พร้อมขอร้องให้ฟาร์มหมูและผู้บริโภคหมูอย่าตื่นตระหนก เพราะไวรัสตัวร้ายนี้ แค่ทำให้หมูตายแต่ไม่ได้แพร่ระบาดถึงมนุษย์ !

 

 

 

เตือน !กินเสร็จอย่าโยน....ป้องกัน"ไวรัสอหิวาต์สุกร"

 


          แต่กลุ่มผู้บริโภคและผู้นำเข้าเนื้อหมูจากประเทศจีนยังรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้มีความทนทานแข็งแรง สามารถอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ และแพร่พันธุ์หรือแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ความแข็งแรงของไวรัสทำให้หมูที่ติดเชื้อตายลงหรือตายเฉียบพลันหลังรับเชื้อได้ไม่นาน ที่สำคัญคือยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร”


          การแพร่ระบาดของเชื้อตัวนี้ในฟาร์มสุกร ส่วนใหญ่ผ่านทางสารคัดหลั่งของหมูที่เป็นโรค หรือการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน อาการเบื้องต้นคือหมูจะรู้สึกเบื่ออาหาร มีไข้สูง ท้องเสียและทำให้แม่หมูแท้งลูก


          ปัญหาน่ากังวลใจสำหรับคนชอบกินอาหารแปรรูปจากหมู คือ ไวรัสตัวนี้ สามารถแอบแฝงเร้นซ่อนตัวอยู่ในอาหารแปรรูปได้นานกว่า 100 วัน เช่น ไส้กรอกดิบ แฮมดิบ

 

 

 

เตือน !กินเสร็จอย่าโยน....ป้องกัน"ไวรัสอหิวาต์สุกร"

 



          ตอนแรกประเทศไทยยังไม่ค่อยรู้สึกเป็นห่วงมากนัก เพราะประเทศจีนอยู่ห่างออกไปพอสมควร จนกระทั่งมีข้อมูลยืนยันมาว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างฟาร์มหมูหลายแห่งบริเวณกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ก็ตรวจพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์ตัวนี้เช่นกัน โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อธิบดีกรมปศุสัตว์ของเวียดนาม ยืนยันว่าโรคนี้หมูที่ติดเชื้อไม่สามารถรักษาหายได้ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตาย แต่ไม่พบว่ามีอันตรายต่อมนุษย์


          ผู้เชี่ยวชาญจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ตั้งข้อสังเกตว่า การแพร่ระบาดในเวียดนามต้นตอน่าจะมาจากจีน ผ่านทางอาหารแปรรูปที่ทำจากหมูติดเชื้อ ส่งผลให้ฟาร์มสุกรในเวียดนามมากกว่า 15 แห่ง พบการแพร่ระบาดมีหมูป่วยตายไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นตัวแล้ว มีแนวโน้มว่าผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูติดเชื้อจะส่งผลไปยังฟาร์มหมูอีกหลายประเทศ


          จากนั้นไม่นาน ประเทศไต้หวันก็รายงานการพบเชื้อไวรัสในแซนด์วิชหมูที่นำเข้าจากเวียดนามเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลไต้หวันต้องรีบขอข้อมูลและสอบสวนต้นทางนำเข้าแซนด์วิชต้นเหตุอย่างเร่งด่วน

 

 

เตือน !กินเสร็จอย่าโยน....ป้องกัน"ไวรัสอหิวาต์สุกร"

 

 


          ข้อมูลจาก องค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health : OIE) ระบุว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 พบการระบาดของเชื้อไวรัส “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ใน 16 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น ทวีปยุโรป 11 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 1 ประเทศ คือ จีน นั่นเอง แต่ในปี 2562 ต้องเพิ่มเวียดนามเข้าไปด้วย รวมเป็น 17 ประเทศแล้ว


          “เชื้อไวรัส ASF” จากหมูเริ่มเข้าใกล้ประเทศไทย หลังกรมปศุสัตว์ตรวจพบ “ไส้กรอก” ปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสตัวนี้ ที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นจำนวนเกือบ 1 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เจ้าของคือนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองเฉิงตูของจีน ด้วยสายการบินเสฉวนแอร์ไลน์


          ถือเป็นการสุ่มตรวจโดยเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร เมื่อพบแล้วส่งไปที่ “สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์” หลังยืนยันผลออกมาแน่ชัด ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ 3 ของทวีปเอเชียที่พบเชื้อตัวนี้ในอาหาร โดย 2 ประเทศแรกที่พบคือ ญี่ปุ่น และเกาหลี

 

 

เตือน !กินเสร็จอย่าโยน....ป้องกัน"ไวรัสอหิวาต์สุกร"

 


          กรมปศุสัตว์เร่งปูพรมลงพื้นที่ตรวจเข้มทั่วทุกด่านชายแดน และพยายามส่งสัญญาณให้ “รัฐบาล คสช.” ยกระดับความสำคัญของโรคนี้เป็นวาระแห่งชาติ แม้ว่าเชื้อไวรัสตัวนี้ยังไม่มีรายงานว่าติดต่อมายังมนุษย์ได้ แต่ก็ส่งผลสะเทือนถึงวงการฟาร์มสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มาจากเนื้อหมู ที่สำคัญคือถ้ามีการระบาดในไทยจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน สรุปเบื้องต้นได้ว่า แม้ยังไม่ตรวจพบไวรัสตัวนี้ในสุกรของไทย แต่มีความเสี่ยงพอสมควร เพราะเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนอกจากไส้กรอกปนเปื้อนแล้ว เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ยังตรวจพบแก๊งห้องเย็นลักลอบนำหมูแช่แข็งเข้ามาขาย มีซากมากกว่า 600 ตัว บริเวณพื้นที่แขวงสวนหลวง และแขวงยานนาวา


          นสพ.ชัยวัฒน์ โยธคล ผอ.สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ อธิบายว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 หลังมีข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศจีน ทางกรมได้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำด่านเฝ้าระวังเข้มข้น ไม่ให้มีการนำเข้าเนื้อหมูและอาหารแปรรูปจากหมู โดยมีรายชื่อ 17 ประเทศที่เฝ้าระวัง แบ่งเป็นทวีปยุโรป 10 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 3 ประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม และมองโกเลีย


          “จากการสุ่มตรวจกว่าพันตัวอย่างจากนักท่องเที่ยวประเทศกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย พบสารพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้ทั้งหมด 38 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่แฝงมากับอาหารแปรรูปจากจีน เวียดนาม เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แหนม ฯลฯ แม้เชื้อไวรัสตัวนี้คนกินเข้าไปจะไม่ได้รับอันตรายเลยก็ตาม แต่ที่ต้องระวังเพราะกลัวว่าเมื่อคนกินเหลือแล้วเอาเศษอาหารไปโยนทิ้ง จากนั้นก็จะมีคนเก็บเอาไปทำเศษอาหารให้สุกรในฟาร์มกิน”


          นสพ.ชัยวัฒน์ ยืนยันว่ายังไม่มีการพบฟาร์มสุกรในไทยติดเชื้อโรค “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” แต่เจ้าหน้าที่ด่านศุลการกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังสุ่มตรวจต่อไปเพราะเชื้อไวรัสตัวนี้มีความทนทานต่อความร้อนมาก อาหารบางชนิดต้องใช้ความร้อนระดับ 70 องศา ต้มนาน 30 นาที เชื้อไวรัสตัวนี้ก็ยังไม่ตาย
อันที่จริงแล้วไวรัสทนทานความร้อนตัวนี้ ไม่ได้เพิ่งค้นพบใหม่ แต่เจอมานานกว่า 50 ปีแล้วจากเชื้อหมูป่าแถวทวีปแอฟริกา ก่อนแพร่ไปยังทวีปยุโรปทั้ง อิตาลี ฝรั่งเศส และผ่านเข้าไปทางรัสเซีย ก่อนส่งต่อไปยังจีนภายในไม่กี่ปี โดยเฉพาะช่วง 2-3ปี ที่ผ่านมาตรวจพบความถี่ของการระบาดในประเทศลัตเวีย ยูเครน ลิทัวเนีย ก่อนจบเส้นทางที่จีนและเวียดนาม

 

 

 

เตือน !กินเสร็จอย่าโยน....ป้องกัน"ไวรัสอหิวาต์สุกร"

 


          “ต้นตอ” หรือตัวการแพร่ระบาดคาดกันว่า มาจากอาหารที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อหมู เนื่องจากตรวจพบว่าเชื้อไวรัสตัวนี้นอกจากทนทานความร้อนแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ได้นานเกือบ 200 วัน หรือในไส้กรอกอยู่ได้นานถึง 30 วัน โดยเฉพาะในเนื้อหมูสดแช่แข็งอาจอยู่ได้นานกว่า 1,000 วัน


          หลายฝ่ายเริ่มเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสอหิวาต์จากหมูมาสู่มนุษย์


          "ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ไวรัสเกือบทุกชนิดที่ติดต่อจากคนสู่คนนั้น ส่วนใหญ่ผ่านมาทาง “สัตว์” ก่อน แต่การจะทำให้คนที่ติดไวรัสมีอาการป่วยได้ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีวิวัฒนาการหลายประการด้วยกัน
“การที่ไวรัสจากสัตว์จะแพร่ระบาดสู่คนจนทำให้เกิดโรค หรือเกิดอาการเจ็บป่วยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะต้องผ่านพัฒนาการหลายขั้นตอนที่สลับซับซ้อน เช่น ต้องมีตัวรับเซลล์ไวรัสที่ผิวหนังมนุษย์ หมายถึงเป็นสถานที่ฝังตัวของเซลล์เพื่อให้เซลล์สร้างโปรตีนช่วยเพิ่มการแบ่งตัว เพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมเป็นยีนย่อยๆ เมื่อการแบ่งตัวประสบความสำเร็จ ก็ต้องผ่านขั้นตอนการสร้างกลไกภูมิคุ้มกันร่างกายของมนุษย์ ที่จะช่วยกันเข้าไปทำลายเซลล์ที่แปลกปลอมเข้ามา ทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นตาย เช่น เชื้อไวรัสบางอย่างสามารถผ่านเข้ามาฝังตัวและเติบโตในเซลล์มนุษย์ได้ แต่ก็ไม่มีจำนวนมากพอหรือแข็งแรงพอที่ทำให้คนมีอาการป่วย เหมือนกับมาฝังตัวไว้เฉยๆ ไม่มีอันตราย แต่เชื้อไวรัสจากสัตว์บางชนิดสามารถเติบโตและแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ร่างกายป่วยได้เหมือนกัน เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี หรือเอดส์ ที่มาจากลิงในป่า ค่อยๆ ผ่านกระบวนการฝังตัวในเซลล์มนุษย์วิวัฒนาการไปเรื่อย จนทำให้คนป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง”


          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังของกรมปศุสัตว์เป็นเรื่องที่ดี แต่หากเกิดการแพร่เชื้อไวรัสบางอย่างฟาร์มปศุสัตว์ของไทย ต้องรีบแจ้งให้ประชาชนทราบทันที อย่าให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกรณีการระบาดของ “โรคไข้หวัดนก” ที่หน่วยงานรัฐช่วยกันปกปิดข้อมูลหรือไม่มีการเปิดเผยข้อมูล จนทำให้แพทย์ผู้รักษาเองไม่รู้ว่าไข้หวัดที่เกิดขึ้นกับคนป่วยนั้นมาจากพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง ขาดโอกาสในการวินิจฉัยรักษาโรคอย่างเหมาะสม เพราะถ้าทุกคนรู้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว จะได้ช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้แพร่ระบาดไปมากกว่าเดิม


          จากข้อมูลงานสัมมนาหัวข้อ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever-ASF) มหันตภัยวงการสุกรไทย ทำอย่างไรจะรอดพ้น” เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 กรมปศุสัตว์ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาให้ข้อมูลและช่วยกันกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยมีข้อมูลน่าสนใจดังนี้


          ช่วงปี 2560-2561 ในยุโรปพบเชื้อตัวนี้มากกว่าร้อยละ 25 โดยพบเจอในหมูป่าประมาณ 7 พันกว่าตัว และหมูในฟาร์ม กว่า 2.2 แสนตัว สร้างความสูญเสียแก่อุตสาหกรรมสุกร ช่วงระหว่างปี 2557-2561 ภายใน 4 ปีพบรายงานการระบาดของโรคมากถึง 820 ครั้งทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นการระบาด
นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์กันว่า “อาหารเหลือโยนทิ้ง” จากท่าเรือหรือสนามบิน หรือร้านอาหารต่างๆ มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคไปยังสุกรได้เช่นกัน เนื่องจากอาหารเหลือเหล่านี้มักถูกนำไปทิ้งในบ่อขยะของบางพื้นที่ ซึ่งมีบริเวณใกล้เคียงกับฟาร์มสุกรหรือมีหมูป่าเข้ามากินได้ง่าย

 

 

เตือน !กินเสร็จอย่าโยน....ป้องกัน"ไวรัสอหิวาต์สุกร"

 

 


          ประเทศจีนถือว่าโรคนี้เป็น “โรคอุบัติใหม่” โดยเชื้อไวรัสที่พบในจีนมีลักษณะทางชีวโมเลกุลคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ในยุโรป (Eastern Europe) เชื่อว่าการระบาดจากจีนมีต้นตอมาจากการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากรัสเซีย ลักษณะสุกรในฟาร์มที่ติดโรคจะมีอาการไข้สูง เลือดออกทางจมูก ปอดบวม ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวมีเลือดปน ไข้สูงและตายเฉียบพลัน ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ


          ล่าสุด เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของกรมปศุสัตว์จาก 4 ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้ง ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ได้เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือแนวทางความร่วมมือร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคนี้โดยเฉพาะ การขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ค้าสัตว์ “ไม่นำเศษอาหารเหลือทิ้งเข้ามาในฟาร์ม” และถ้าตรวจพบความผิดปกติต้องรีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อช่วยกันลดความสูญเสียในวงกว้าง

 

           การป้องกันเชื้อโรคอันตรายจากต่างถิ่น เข้ามายังประเทศไทยนั้น จะสำเร็จได้ด้วยดี หากคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเป็นหูเป็นตา และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


          ดังนั้น ผู้ใดพบเห็นการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็ง หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อหมูจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แล้วไม่แน่ใจว่าถูกกฎหมายหรือไม่ สามารถแจ้งไปที่กรมปศุสัตว์โทร.06-3225-6888 หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “DLD 4.0” ที่สามารถติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ

 

          “10ข้อห้าม”ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)
          - ห้ามนำเนื้อหมูจากแหล่งอื่นเข้าไปกินในฟาร์ม
          - ห้ามนำเศษอาหารในครัวเรือนเลี้ยงสุกร
          - ห้ามนำสัตว์พาหะเข้าเขตฟาร์ม
          - ห้ามบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมฟาร์ม
          - ห้ามนำอุปกรณ์และของใช้ส่วนตัวเข้าฟาร์ม
          - ห้ามรถขนส่งภายนอกเข้าฟาร์ม
          - ห้ามรถลูกค้าเข้ามาซื้อหมูที่ฟาร์ม
          - ห้ามรับหมูทดแทนจากพื้นที่เสี่ยงเข้าฟาร์ม
          - ห้ามนำน้ำจากภายนอกเข้าไปใช้ในฟาร์ม
          - ห้ามขายหรือนำหมูป่วย หมูตายออกนอกฟาร์ม
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ