คอลัมนิสต์

เมื่อเครือข่ายทักษิณอยากให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ! 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กวาดบ้านกวาดเมือง  โดย...  ลมใต้ปีก

 

 

          จู่ๆ นักร้องมือกฎหมาย ค่ายทักษิณ ชินวัตร อย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้วินิจฉัยว่าการจัดการเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นโมฆะ เพราะเห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยเป็นต้นทางความเห็นว่าการเลือกตั้งในอดีต 2 ครั้งเป็นโมฆะ มาก่อน คือการเลือกตั้งปี 2549 และการเลือกตั้งปี 2557 จึงหวังว่าหากผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยและส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็จะเป็นผล 

 

 

          ตามมาด้วยการฟันธงเชิงการเมืองของ จตุพร พรหมพันธุ์ ผู้นำเสื้อแดง ที่มั่นอกมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะต้องมีเหตุอันเป็นโมฆะ เพราะ รัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเจอทางตันหลังเลือกตั้งที่ตั้งรัฐบาลยาก จึงอาจจะอาศัยจังหวะที่สังคมเคลือบแคลงความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. หาเหตุให้เป็นโมฆะ “ว่าเข้าไปนั่นเลย”


          น่าสนใจที่มือระดับนักร้อง และแกนนำมวลชน ในระบอบทักษิณ ออกมาสอดรับกับการ “เขย่า” การเลือกตั้งให้เป็นโมฆะ เกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะอะไร ทั้งที่ ทักษิณ ชินวัตร และพลพรรคในเครือข่าย “รอ” การเลือกตั้งมาตลอดเกือบ 5 ปีที่ คสช.ยึดอำนาจไปจากรัฐบาลน้องสาวเขา(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพราะการเลือกตั้งเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์เดียวที่ ทักษิณ จะหวนกลับมามีอำนาจหรือชักใยอำนาจอีกครั้งได้ 

 


          แต่เหตุใด เมื่อเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว เครือข่ายทักษิณ ถึงอยากให้ "โมฆะ?” 

 


          อย่างแรกสุด ผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นไปอย่างที่ ทักษิณ และทีมคาดคิดไว้ ทั้งตัวเลขผลการเลือกตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะได้ต่ำกว่า 170 ที่นั่ง และเหตุอุบัติเหตุเพราะผลกรรม(การกระทำ)ที่ตัวเองสร้าง คือการยุบพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) ก่อนการเลือกตั้ง ทำให้ดับฝันว่าพรรคไทยรักษาชาติควรจะได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 30 ที่นั่ง ดังนั้น แม้พรรคพันธมิตรอย่างอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะได้ ส.ส.มากกว่าที่คาดหมายถึง 80 ที่ แต่เมื่อยุทธศาสตร์พรรคตระกูลเพื่อไม่เป็นไปตามที่คาด ทำให้ผลรวมคณิตศาสตร์ทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  

 



          อย่างที่สอง พรรคพลังประชารัฐ ได้รับการเลือกตั้ง มากกว่าที่ “ทีมทักษิณ” ประเมิน ที่เคยคาดการณ์กันในพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.สูงสุดไม่เกิน 80 ที่ แต่กลับได้รับถึง 118 ที่ และมีคะแนนเลือกรวมของประชาชนมากกว่าพรรคเพื่อไทย (แม้คะแนน ส.ส.จะน้อยกว่า) แต่ทำให้สามารถอ้างความชอบธรรมในการแย่งตั้งรัฐบาลได้ 


          อย่างที่สาม ผลรวมในคณิตศาสตร์ทางการเมือง ของ 2 ขั้วในการแย่งตั้งรัฐบาล ออกมา “ก้ำกึ่ง” ซึ่งเมื่อผนึกกับคะแนนของ 250 สมาชิกวุฒิสภา ทำให้เมื่อถึงเวลาเลือกนายกรัฐมนตรี โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีมากกว่าโอกาสของเพื่อไทย 


          และสุดท้าย “ร่องรอย” แห่งความแตกแยกในระดับผู้นำเพื่อไทยที่ทำให้ความพร้อมในการเกาะกลุ่มรวบรวมไพร่พล เพื่อโหวตตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และโหวตตั้งนายกรัฐมนตรี อาจจะมีปัญหาเรื่อง “เอกภาพ” ภายในของเพื่อไทยเอง

 


          ดังนั้น การ “ล้มกระดาน” การเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการก่อกระแส ถอดถอน 7 กกต. หรือการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะเป็นยุทธศาสตร์ในการถอยมาตั้งหลัก ปรับกระบวนทัพใหม่ของเครือข่ายทักษิณ เพื่อหวัง “เอาชนะ” ในการเลือกตั้งใหม่

 


          18 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เลือกตั้งเมื่อปี 2544 ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเลือกตั้งที่ระบอบทักษิณมิสามารถ “กำชัยชนะ” ได้เด็ดขาด และตั้งรัฐบาลได้โดยปราศจากคู่แข่ง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ที่ “คนอยากเลือกตั้ง” ในระบอบทักษิณ “อยากล้มการเลือกตั้ง” เสียเอง 


          ก็อยู่ที่องค์กรอิสระ อย่างผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่าข้อร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ของคนในระบอบทักษิณ ชอบด้วยกฎหมายและชอบธรรมไหม ?
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ