คอลัมนิสต์

กัญชา(ไม่)เสรี สู้เพื่อคนส่วนใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลิ่น "กัญชาประชานิยม" มิทันจาง เจ้าหน้าที่รัฐบุกมูลนิธิข้าวขวัญ ก่อให้เกิดคำถามมากมาย "นิรโทษกรรมกัญชา" มีจริงไหม? "กัญชาเพื่อการแพทย์" หายไปไหน?

  ***********

        ปัญหาประชาธิปไตยไทยยังคงถูกถามว่า “ของแท้” คือยังไง ปัญหา “กัญชาเสรี” ก็ยังคงติดบ่วงคำถามว่า “เสรีที่แท้” คืออะไรเช่นกัน

          ตัวชี้วัดเห็นได้จากการที่บุคคลซึ่งเหมือนเป็นตัวแทนของเสรีกัญชาที่แท้ ในบริบทของการรักษาเยียวยา ราคาที่เก็บคือ “รอยยิ้ม” ของผู้ป่วย อย่าง เดชา ศิริภัทร’ กลับถูกหมายเรียกจากตำรวจ ข้อหาผลิตและครอบครองกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่เขาเดินทางไปต่างประเทศ

          โดยทีมงานของเขาคือ อ.ซ้ง พรชัย ชูเลิศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญเป็นฝ่ายถูกจับกุมตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ทั้งที่เรื่องนี้กฎหมายได้เปิดช่องไว้สำหรับผู้ที่กระทำเรื่องกัญชาในวาระของกฎหมายนิรโทษกรรม 90 วัน อยู่

 

กัญชา(ไม่)เสรี  สู้เพื่อคนส่วนใหญ่

 

          ภาพที่เห็นคือภาพของคนไทยแทบทุกฝ่าย ทุกองค์กร ดาหน้าเข้ามาปกป้อง ติดแฮชแท็ก #savedecha กันท่วมเมือง แม้แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ ออกมาแลกตำแหน่งและชีวิตหากว่าจะต้องติดคุกแทนชายชื่อเดชาคนนี้

          หลายคนที่ติตดาม อ.เดชา มาตลอด อาจไม่แปลกใจ แต่หากผู้มีอำนาจของไทยปรับมุมมองใหม่ มองทะลุออกนอกกรอบของ เครื่องครอบงำ” เสียบ้าง อาจจะรู้ความจริงเที่ยงแท้ เฉกเช่นที่เดชาทำมาตลอดช่วงชีวิต

 

กำเนิดปราชญ์

          คนรุ่นใหม่อาจรู้จัก “เดชา ศิริภัทร” น้อยมาก แต่รับรองว่า ถ้าได้รู้จักแล้วต้องทึ่งเหมือนกันหมด!

          18 พฤษภาคม 2491 เดชาลืมตาดูโลกท่ามกลางที่นาหมื่นไร่ของรุ่นปู่ เพราะครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของโรงสีที่ใหญ่ที่สุดใน จ.สุพรรณบุรี

          ปี 2508 เดชาเข้าเรียนปริญญาตรีที่ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในยุคที่รัฐบาลไทยเพิ่งก่อตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคขึ้นในปี 2507 ทั้งเชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น

          ชีวิตไม่ต้องคิดมากเพราะทุกอย่างทำมาดีไว้เป็นแนว เมื่อเรียนจบช่วงปี 2512 ก็รับราชการกรมปศุสัตว์อยู่ 4 ปี โดยทำที่ศูนย์เกษตรภาคกลาง จ.ชัยนาท

          แต่เมื่อพบว่าไม่ใช่ทางก็ตัดสินใจกลับมาทำกงสีที่บ้าน โดยขอที่นาจากบ้านมา 200 ไร่ ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์เองช่วงปี 2519

          จากชุดราชการสีกากี เรียบเนี้ยบ นั่งอยู่ในหลังคาร่มเงา รอชาวบ้านเข้าพบ จนเมื่อมาเอาหน้าสู้แสงแดดด้วยตัวเองจึงได้รู้ว่าเกษตรกรไทยนั้นกระดูกเรียกพี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งชีวิต

          ต่อมาเมื่อแม่ของเขาได้ลาจากโลกนี้ไป แต่ก็ได้ฝากบุตรชายไว้ว่าต้องการให้บวชเรียน ช่วงปี 2521 ขณะที่เดชาอายุ 30 ปี เขาจึงหันหน้าเข้าวัด ห่มผ้าเหลือง เดินทางไปไกลถึงทางใต้ เลือกบวชที่วัดสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ไปเป็นศิษย์ท่านอาจารย์พุทธทาส

 

กัญชา(ไม่)เสรี  สู้เพื่อคนส่วนใหญ่

อ.เดชา ศิริภัทร(แถวบนขวาสุด) ภาพจาก มูลนิธิข้าวขวัญ

 

          3-4 เดือนภายใต้การพร่ำสอนของหลวงพ่อ เดชากินมื้อเดียว นอนหมอนไม้ ตื่นตีสี่ ทำวัตรเช้า ไม่นอนกลางวัน ก็พบกับจุดเปลี่ยนอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นรูปร่างชัดเจนว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่การเลี้ยงสัตว์ ฆ่าสัตว์

          เมื่อสึกออกมาตัดสินใจไม่รับมรดกสินทรัพย์ใดๆ ของครอบครัว คราวนี้เดชาจับทิศทางชัดเจนที่การพัฒนาพันธุ์ข้าว ลองผิดลองถูกจนมาเป็น ‘มูลนิธิข้าวขวัญ’

         

กำเนิดข้าวขวัญ

          ปี 2527 มูลนิธิข้าวขวัญ เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าวและการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม (ATA)

          มาปี 2532 มูลนิธิข้าวขวัญ ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แบบที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าเต็มไปด้วย “แพชชั่น” เดชาในวัย 41 ถือเป็นวัยที่ไฟแรงอย่างเดียวไม่พอ แต่จิตวิญญาณของคนผ่านโลกก็สะสมมาพอใช้ได้

          จากนั้นแยกตัวออกมาจาก ATA มาเป็นศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม (Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE)

          จนมาถึงปี 2541 จึงได้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิข้าวขวัญ” มีสำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติที่ จ.สุพรรณบุรี เทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง บ้านเกิดของเขาเอง หากวันนี้มีเครือข่ายทั่วประเทศหลายสิบเครือข่าย

          กิจกรรมและวัตถุประสงค์เพื่อเป็น โรงเรียนชาวนา” สอนให้เกษตรกรและชุมชนเรียนรู้และฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

 

กัญชา(ไม่)เสรี  สู้เพื่อคนส่วนใหญ่

ภาพจาก มูลนิธิข้าวขวัญ

 

         พูดง่ายๆ ว่า ชาวนารวยขึ้นได้ด้วยวิธีทำนาของมูลนิธิข้าวขวัญที่ไม่ใช้เคมี ผลผลิตจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ และแมลง แต่ที่แน่ๆ ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยมากกว่าใช้วิธีเคมีแน่นอน เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่า 2-3 เท่า

         ความสำเร็จของมูลนิธิข้าวขวัญมาจากการที่ “ชัยพร พรหมพันธุ์” ซึ่งมาเรียนที่นี่ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นเกษตรดีเด่นสาขาทำนา เมื่อปี 2538 โดยเริ่มจากมีที่นา 25 ไร่ จนมาสู่หลักร้อยไร่ได้ เพราะทำตามวิธีข้าวขวัญก็รวยขึ้นๆ

         วันนี้แม้ปัญหาชาวนาไทยที่ยังยึดติดกับการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานขยายเครือข่ายการทำนาที่ถูกวิธีของเขาไม่สามารถขยายไปในวงกว้างได้เท่าที่คิด

         แต่ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไปภายใต้พันธกิจที่เดชาพูดเสมอว่าจะต้องไปต่อ เพราะ “ถ้าสิ้นนา ก็สิ้นชาติ”

 

กัญชา-ทางเลือก

          ช่วยชาวนาไม่พอ อ.เดชา ยังช่วยผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย หากแต่คราวนี้เป็นแพชชั่นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับมูลนิธิข้าวขวัญ เพราะมีความสนใจการใช้พืชเป็นยาอยู่แล้ว เขาเคยกล่าวกับ “จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ” ว่าต้องเร่งทำ เพราะเขาไม่ห่วงกฎหมาย แต่ห่วงคนป่วยมากกว่า

          “จากที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวมานานกว่า 30 ปี ตอนนี้มีการประกาศแผนเกษตรอินทรีย์ให้งบชาวบ้านพัฒนาเรื่องข้าว ผมทำตอนอายุ 40 ตอนนี้อายุ 70 ปี ผมทำเรื่องกัญชา ให้ความรู้และทดลองพัฒนาเป็นยา ผมคงรอกฎหมายไม่ไหว ไม่อย่างนั้นตายก่อน”

          อ.เดชา จึงเดินหน้าศึกษาเรื่องกัญชาเป็นยารักษาโรคในชื่อ อำนาจ มงคลเสริม” ผู้ที่ทำการวิจัยใช้กัญชามาสกัดน้ำมันในการรักษาโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ภูมิแพ้ ไมเกรน เอดส์ พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่มีผู้ใช้แล้วหายเป็นปกติ

 

กัญชา(ไม่)เสรี  สู้เพื่อคนส่วนใหญ่

ภาพจาก มูลนิธิข้าวขวัญ

 

          และยังเปิดอบรมให้ความรู้คนอย่างเต็มสรรพกำลัง ได้แจกจ่ายน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วยโดยไม่เก็บเงินมากว่า 5 ปี จนเป็นที่รู้จักและยอมรับเป็นวงกว้าง

          แต่กับเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษปี 2522 จับกุม พรชัย ชูเลิศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ และยึดของกลางเป็นกัญชา 200 ต้น น้ำกัญชาสกัด กัญชาบดแห้ง และเมล็ดกัญชาตากแห้งบรรจุถุง เมื่อวันที่ 3 เมษายน (โดยภายหลังพรชัยได้รับการประกันตัวเรียบรอยแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา) ทั้งที่อยู่ในช่วงนิรโทษกรรมให้มีการจดแจ้งการมีไว้ในครอบครองกัญชาก่อนพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ใช้บังคับภายใน 90 วัน คือตั้งแต่ 19 กุมภาพันธุ์–19 พฤษภาคม 2562

        ก็น่าจะยืนยันได้ว่าที่ อ.เดชา ไม่ห่วงเรื่องกฎหมายคงยังไม่ได้แล้ว เพราะจากเหตุการณ์นี้สิ่งที่เขาจะทำจากนี้ก็คงต้องใช้กฎหมายช่วยเช่นกัน

        โดยเฉพาะปมปัญหาสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า อ.เดชา ไม่เข้าข่าย หมอพื้นบ้าน” ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นแม้ตัวแทนของเขาจะไปยื่นต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอนิรโทษกรรม จึงได้รับการปฏิเสธกลับมา

          ดังนั้นหลังเดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจด้านวิชาการที่ประเทศลาวเมื่อวันที่ 10 เมษายน เขาได้กัดกรามกล่าวกับสื่อมวลชน ขณะรอรับที่สนามบินสุวรรณภูมิในท่วงทำนองว่า “มันมีเบื้องหลังมากกว่านั้น”

          “เขาบอกว่าผมไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้าน ผมทำเรื่องนี้มาเป็นยี่สิบปี ไปดูบทความในหมอชาวบ้าน ผมเขียนที่นั่นมาเป็นสิบปีแล้ว รวมเล่มเป็นสมุนไพรในครัวเรือน ชื่อผมไปดูได้เลย ไปดูชื่อผมในมูลนิธิสุขภาพไทยได้เลยว่าผมเป็นหมอพื้นบ้านมาตั้งนานแล้ว”

          ที่สำคัญคือการเดินหน้าทำให้สิ่งที่ค้นคว้าทดลองในการนำน้ำมันกัญชามารักษาอาการป่วยได้จริง ให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย 100% หลังจากหมดช่วงเวลานิรโทษกรรมแล้ว โดยจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลอภัยภูเบศรต่อไป

          ถือว่านี่คือการเปิดฉากครั้งสำคัญระหว่างฝ่ายที่ยืนยันว่าต้องการให้กัญชาเสรีจริงทางการแพทย์ กับฝ่ายที่กุมกฎหมายไว้ในมือ หากเสียงคนกัญชาส่วนใหญ่บอกว่าที่เขียนไว้นั้นมันยังไม่พอ!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ