คอลัมนิสต์

"ประชาธิปัตย์" อย่าดัดจริต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...   กระดานความคิด   โดย...  บางนา  บางปะกง


 


          เกมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คงมีความชัดเจน หลัง กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ต้นเดือนพฤษภาคม แต่เค้าลางแห่งความยุ่งยาก ก็เผยให้เห็นกันแล้ว

 

          เนื่องจากเสียง ส.ส.ในสภา ของ “2 ขั้ว” สูสีกันเหลือเกิน ไม่มีฟากไหนชนะเด็ดขาด ฉะนั้น ข่าวลือข่าวลวงเรื่องพลิกขั้ว ย้ายขั้ว จึงอึงอลในยามนี้

 

 

 

 

          สำหรับ “พรรคประชาธิปัตย์” มีสภาพไม่ต่างจากตอนที่มีการแข่งขันเลือกหัวหน้าพรรค แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน แม้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่ขั้วอภิสิทธิ์ ยังไม่สิ้นฤทธิ์ พยายามชงผู้นำคนใหม่ เพื่อชิงอำนาจกลับคืนมา ฝ่ายขั้ว กปปส.(เดิม) เดินเกมรุก หวังยึดพรรคให้ได้เช่นกัน

 

          ฝ่ายอดีตแกนนำ กปปส. แสดงจุดยืนเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ขณะที่ขั้วอภิสิทธิ์ ต้องการให้ ปชป. เป็น “ฝ่ายค้านอิสระ”

 

          แม้คนบางคนในพรรคเก่าแก่ จะอ้างว่า ปชป.ต่อต้านเผด็จการมาแต่แรกเริ่ม คงไม่มีใครเถียง เพราะคู่ต่อสู้สมัยโน้นคือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม, พรรคสหภูมิ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร


          ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระยะใกล้ ยังได้บอกว่า ปชป.ได้สนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือที่นักรัฐศาสตร์ไทยบางคน เรียกว่า “ระบอบเปรมาธิปไตย” 


          พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ยกมือให้ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 3 มีนาคม 2523 กระทั่งเลือกตั้ง 27 กรกฎาคม 2529 “พิชัย รัตตกุล” ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป.สมัยนั้น ได้นำพาลูกพรรคหาเสียงเต็มที่

 

 

 


          ผลการเลือกตั้ง 27 กรกฎาคม 2529 ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ 100 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 63 ที่นั่ง พรรคกิจสังคม 51 ที่นั่ง พรรคสหประชาธิปไตย 38 ที่นั่ง พรรคประชากรไทย 24 ที่นั่ง พรรครวมไทย 19 ที่นั่ง พรรคราษฎร 18 ที่นั่ง ส่วนพรรคต่ำสิบ รวมกัน 25 ที่นั่ง



          เบื้องแรก ปชป. ที่มี พิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค พยายามจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคกิจสังคม และพรรคอื่นๆ ไม่ร่วมด้วย ปีกพรรคชาติไทย พยายามคุยกับ “พิชัย” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พิชัยไม่กล้า แกนนำชาติไทยจึงออกโรงหนุน พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชิงเก้าอี้นายกฯ

 

          สุดท้าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกโรงหนุน พล.อ.เปรม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ แกนนำ ปชป. กิจสังคม ชาติไทย และราษฎร จึงเจรจากันตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค 232 เสียง โหวตป๋าเปรมเป็นนายกฯ


          “สถานการณ์ทางการเมือง เป็นบรรยากาศไม่สู้ดีนัก ผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพราะเป็นคนกลาง พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องเป็นพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด” พิชัย แจกแจงกับนักข่าวสมัยนั้น 


          เบื้องลึกที่ 4 พรรคจูบปากกัน เพราะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายทหาร “ลูกป๋า” เดินสายล็อบบี้แกนนำพรรคการเมืองดังกล่าว ให้มาร่วมหัวจมท้ายกัน

 

          บทเรียนของ ปชป.คราวครั้งโน้น ก็มักถูกพรรคคู่แข่งหยิบยกมาพูดถึงจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรค แต่ “ปู่พิชัย” ไม่ได้โต้แย้งอะไร เพราะเป็นเรื่องของสถานการณ์การเมืองในห้วงเวลานั้น


          ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยสปริตของอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ปู่พิชัยได้ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร ส.ส.บางคนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

 

          เมื่อ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา “ปู่พิชัย” ยังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่พรรค ปชป. พ่ายแพ้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และภาคใต้ พร้อมเสนอให้พรรค ปชป.นำคนเก่าแก่ในพรรคเข้ามาปรับองคาพยพในช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้เกิดความเป็นเอกภาพ


          “เมื่อประชาชนจำนวนมากเลือกพรรคพลังประชารัฐเข้ามาทำงาน เป็นการแสดงให้เห็นว่า เขาอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสานงานที่ทำเอาไว้ ซึ่งผมเห็นด้วย และอยากให้ลืมอดีต เพราะขณะนี้ถือว่าบ้านเมืองอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู เสมือนรถที่ตกรางแล้วกำลังกลับเข้าสู่ราง จึงควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำงานพิสูจน์ตัวเองให้สำเร็จ”


          ฟังปู่พิชัยพูดแล้ว หลายคนอมยิ้ม และเข้าใจในหัวอก “ผู้ใหญ่” ของพรรคเก่าแก่ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ไม่ใช่แก๊งโลกสวยที่สุมหัวคิดกันอยู่ไม่กี่คน 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ