คอลัมนิสต์

เจาะลึกมาตรฐาน"พีเอ็ม 2.5 ไทย"ทำไมไม่เท่าสากล?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 


          ปี 2562 ล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว แต่ "ฝุ่นพิษจิ๋วมรณะ พีเอ็ม 2.5 ยังคงเป็นปัญหาของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ขยับจากเมืองหลวงกรุงเทพฯ ขึ้นไปปกคลุมภาคเหนือ จนทั่วโลกส่งเสียงเตือน! แต่ดูเหมือนหน่วยงานรัฐยังมัววุ่นกับลุ้นรัฐบาลใหม่ จนไม่สนใจเร่งแก้ปัญหา ปล่อยให้คนป่วยล้นโรงพยาบาล...

 

 

 

เจาะลึกมาตรฐาน"พีเอ็ม 2.5 ไทย"ทำไมไม่เท่าสากล?

 

 

          ช่วงวันเลือกตั้งประวัติศาสตร์ 24 มีนาคม นักข่าวทั่วไทยมัวแต่สนใจรายงานข่าวเลือกตั้ง จนแทบไม่มีเวลาสนใจปัญหาฝุ่นพิษปกคลุมพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่พุ่งเป็นสีแดงหลายจังหวัด โดยเฉพาะ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สาเหตุมาจากการเผาพืชไร่และวัชพืชในที่โล่ง ผสมกับหมอกควันจากการเกิดไฟไหม้ป่าที่ชายแดนพม่า


          ชาวเชียงใหม่เริ่มรู้สึกไม่พอใจ เพราะคนป่วยจากฝุ่นพิษทยอยเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการรวมพลังใช้สื่อสังคมออนไลน์ล่ารายชื่อขับไล่ “ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แม้นายศุภชัยพยายามชี้แจงถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันมาตลอด ทั้งยังไปยืนแจกหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอง แต่ชาวบ้านยังไม่รู้สึกดีขึ้น มีการโพสต์โวยวายว่า หน้ากากอนามัยที่แจกเป็นแบบธรรมดาทั่วไป ไม่ได้ใช้ป้องกันฝุ่นพิษขนาดเล็กได้จริง

 

 

เจาะลึกมาตรฐาน"พีเอ็ม 2.5 ไทย"ทำไมไม่เท่าสากล?

 

 

          วันที่ชาวเชียงใหม่เผชิญวิกฤติมากสุดตรงกับวันเลือกตั้งประวัติศาสตร์ของไทย 24 มีนาคม 2562 โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ airvisual.com ระบุดัชนีคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ในภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ มีค่าพุ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ 332 และ “กรมควบคุมมลพิษ” วัดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พีเอ็ม 2.5 สูงถึง 233 มก./ลบ.ม. ทั้งที่ตัวเลขมาตรฐานสากลกำหนดให้ไม่เกิน 25 เท่านั้น

 

 



          ตัวเลขมาตรฐานสากลสำคัญไฉน ? ทำไมประเทศไทยแตกต่าง ?
          ย้อนความเป็นมาของการกำหนดมาตรฐาน “พีเอ็ม 2.5” ของประเทศไทยเริ่มต้นมาเกือบ 10 ปีแล้ว เมื่อ พ.ศ.2553 โดยกรมควบคุมมลพิษมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัย ช่วงนั้นได้เสนอแนะ 2 ตัวเลขด้วยกัน ได้แก่ “ค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี ไม่เกิน 12 มก./ลบ.ม.” และ “ค่ามาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 35 มก./ลบ.ม.” ถือเป็นค่าที่ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้มากที่สุด แต่สุดท้าย “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ออกประกาศฉบับที่ 23 กำหนดค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 และราย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ถือเป็นค่าวัดมาตรฐานที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

 

 

เจาะลึกมาตรฐาน"พีเอ็ม 2.5 ไทย"ทำไมไม่เท่าสากล?

 


          อย่าลืมว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณภาพอากาศของประเทศไทยยังดีกว่าทุกวันนี้ เพราะจำนวนรถยนต์ที่ยังไม่เพิ่มมากนัก ประกอบกับการเผาไหม้ในแปลงเกษตรขนาดใหญ่ และโรงงานขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษจิ๋วยังไม่มีจำนวนมากเท่าปัจจุบัน โดยเฉพาะสารก่อมะเร็ง เช่น ปรอท แคดเมียม ฯลฯ

 

          ขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดเกณฑ์คุณภาพอากาศ ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 และราย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 25 เพราะดูจาก “ผลกระทบต่อสุขภาพ”

 

          องค์การอนามัยโลกกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 มก./ลบ.ม. เพราะถ้าใครอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น อาจทำให้มีอายุสั้นลงเฉลี่ย 2 ปี 5 เดือน 22 วัน หากเป็นเทียบค่ามาตรฐานของไทย 25 มก./ลบ.ม. ทำให้คนมีอายุสั้นลงเฉลี่ย 11 เดือน 8 วัน 

 

 

 

เจาะลึกมาตรฐาน"พีเอ็ม 2.5 ไทย"ทำไมไม่เท่าสากล?

 


          สรุปคือตัวเลขมาตรฐานที่ลดลงจำนวน 10 มก./ลบ.ม. จะทำให้อายุสั้นลง 1.03 ปี หมายถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศดีกว่า จะมีอายุยืนกว่า 1-2 ปี

 

          ทั้งนี้ ตัวเลขมาตรฐานหากกำหนด “ยิ่งต่ำ ยิ่งดีต่อสุขภาพ” เนื่องจากผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศในไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคติดเชื้อในระบบหายใจแบบเฉียบพลัน โรคมะเร็งปอด ฯลฯ เชื่อว่าโรคเหล่านี้ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 5 หมื่นคนต่อปี

 

          ข้อมูลจากเว็บไซต์กรีนพีซ ระบุว่าปี 2561 ประเทศไทยถูกจัดว่ามีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 มากเป็นอันดับที่ 23 ของโลก และติดอันดับ 15 เมืองที่มีฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร, พื้นที่แม่ปะ จ.ตาก, พื้นที่ดินแดง กรุงเทพฯ

 

 

 

เจาะลึกมาตรฐาน"พีเอ็ม 2.5 ไทย"ทำไมไม่เท่าสากล?

 


          สำหรับจังหวัดที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นพิษ 2.5 ตลอดปีสูงสุด ได้แก่ สระบุรี (36 มก./ลบ.ม.) กรุงเทพมหานคร (31 มก./ลบ.ม.) โดยทั้งสองพื้นที่มีระดับค่ามลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ 3 เท่า


          ตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่าคนไทยกำลังเผชิญภัยคุกคามจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จนส่งผลต่อสุขภาพประมาณ 1.4 ล้านรายต่อปี หมายถึงคนเจ็บป่วยจากอาการทางระบบทางเดินหายใจและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากคิดเป็นจำนวนเงินมีมูลค่าสูงถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี ข้อมูลปี 2558 ระบุว่ามลพิษจากฝุ่นมหันตภัยนี้ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรใน 38,000 คน เนื่องจากโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และหืดหอบ ขณะที่ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตด้วยเหตุนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ล้านคน


          ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า การรณรงค์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับเพิ่มตัวเลขค่ามาตรฐานให้เท่ากับสากลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับตัวเลขสุขภาพหรือผู้ป่วยด้วย สืบเนื่องจากมาตรฐานที่เข้มงวด จะช่วยทำให้ทุกฝ่ายจริงจังในการช่วยกันลดปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ

 

 

 

เจาะลึกมาตรฐาน"พีเอ็ม 2.5 ไทย"ทำไมไม่เท่าสากล?

 


          “ต้องปรับให้เท่าสากล แต่ไม่ใช่ว่าปรับลดทีเดียวเลย อาจค่อยๆ ตั้งเป้าไว้ก่อน เช่น จาก 50 เป็น 35 แล้วค่อยเหลือ 25 เพราะต้องให้เวลาผู้ประกอบการหรือโรงงานไปเตรียมพร้อมในเรื่องอุปกรณ์และกระบวนการบำบัดมลพิษที่ปล่อยออกมาทางอากาศ เช่น การปรับวิธีกลั่นน้ำมันให้มีสารพิษผสมอยู่น้อยลง หรือให้แปลงเกษตรลดจำนวนการเผา หรือหาวิธีกำจัดซากวัชพืชแบบใหม่ กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาและการลงทุนพอสมควร ปรับไปใช้รถไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การทำแปลงเกษตรไร้ควันพิษ แต่ต้องมีกำหนดแผนเวลา ภายใน 1 ปี ลดครึ่งหนึ่ง หรือภายใน 3 ปี ให้เท่ากับสากล และควรมีระบบรายงานคุณภาพอากาศที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านโดยตรง” ตัวแทนกรีนพีซประเทศไทยกล่าวแนะนำ


          ปัจจุบันไทยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศระดับค่าพีเอ็ม 2.5 จำนวน 53 สถานี ตั้งอยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัด ส่วน “ญี่ปุ่น” พื้นที่น้อยกว่าไทย แต่มีมากกว่า 1,200 จุด สำหรับ “จีน” ให้ความสนใจกับปัญหานี้มาก สั่งให้ติดตั้งกว่า 6,500 เครื่องทั่วทุกมณฑล


          “คม ชัด ลึก” ติดต่อขอสัมภาษณ์ไปยัง “อดีตผู้บริหารระดับสูงกรมควบคุมมลพิษ” หนึ่งในผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวกับการตั้งมาตรฐานค่าพีเอ็ม 2.5 และการสั่งซื้อเครื่องตรวจวัด ได้รับคำอธิบายว่า


          ในช่วง 6-7 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมุ่งแก้ปัญหาความหนาแน่นของฝุ่นขนาดพีเอ็ม 10 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองจากโรงงานและการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาในที่โล่ง ส่วนค่าพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นฝุ่นขนาดเล็กกว่านั้น ช่วงปี 2556 เพิ่งเริ่มสั่งซื้อเครื่องตรวจวัดได้ 3 เครื่องเท่านั้น ในปี 2558 มีประมาณ 10 กว่าเครื่อง เนื่องจากการกำหนดค่ามาตรฐานต้องพิจารณาจากสถานการณ์จริงว่า ประเทศไทยทำได้แค่ไหน หากต้องการเปลี่ยนเป็นตัวเลขที่น้อยลงให้เท่ากับสากล ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ โรงงานพร้อมลงทุนเพื่อปรับระบบการกรองควันพิษที่ปล่อยออกมาหรือไม่ โรงงานกลั่นน้ำมันต้องลดเวลาการผลิตหรือไม่ เพื่อให้ค่าฝุ่นควันในอากาศมีน้อยลง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น โรงงานในมาบตาพุด แม้ว่าแต่ละโรงงานจะปล่อยฝุ่นพิษออกมาไม่เกินที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าทุกโรงงานปล่อยออกมาพร้อมๆ กัน ก็มีฝุ่นในอากาศเยอะมาก หรือปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี


          “ตอนนี้เอาแค่ทำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ได้เสียก่อนดีไหม เพราะโรงงานยังปล่อยควันพิษออกมาเกินกำหนด การเผาพืชไร่เกษตรก็เพิ่มมากขึ้น ลักษณะของแปลงเกษตรกลายเป็นขนาดใหญ่เป็นเกษตรพันธสัญญา ปลูกข้าวโพดเหมือนๆ กัน แตกต่างจากแต่ก่อนที่ชาวบ้านอยู่กระจายๆ ควันพิษจากการเผาไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียว อีสานตอนนี้เจอปัญหาเผาซางอ้อย ส่วนภาคเหนือเผาซาง รถไฟฟ้าก็ยังไม่แพร่หลาย ระบบขนส่งมวลชนก็ไม่มี อุปสรรคสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ กรมควบคุมมลพิษที่เป็นคนไปตรวจโรงงานนั้น ไม่มีอำนาจในการสั่งลงโทษ ต้องขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมไปจัดการ”


          อดีตผู้บริหารข้างต้น เปิดเผยความในใจให้ฟังต่อว่า ในช่วงการทำงานตรวจวัดฝุ่นควันจากโรงงานที่เป็นแหล่งสำคัญในการปล่อยมลพิษทางอากาศนั้น ส่วนตัวรู้สึกอึดอัดใจมาก เพราะหลังจากส่งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษไปตรวจวัดจนพบความผิดปกติได้ เมื่อทำเรื่องไปอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็จะมีการส่งคนของเขาไปตรวจซ้ำ ปรากฏว่าผลที่ออกมา ส่วนใหญ่สรุปผลว่าไม่ผิดกฎหมาย แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง หรือการร่วมกันทุจริตคอร์รัปชั่นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ประกอบการหรือนายทุนเจ้าของโรงงานต่างๆ


          ดังนั้น จึงอยากให้เอ็นจีโอหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงตัวเลขมาตรฐานอาจไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา ถ้าอนาคตตัวเลขฝุ่นควันพิษของไทยดีขึ้น จนใกล้เคียงกับตัวเลขที่กำหนดไว้ ค่อยไปขอปรับตัวเลขให้เท่าเทียมกับมาตรฐานสากล


          สรุปคือ แค่มาตรฐานพีเอ็ม 2.5 ที่ตั้งไว้ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 และราย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 25 (มก./ลบ.ม.) ปัจจุบันไทยยังทำไม่ได้เลย


          หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเห็นปัญหาและรีบแก้ไขให้ตรงจุด โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ “ซูเอี๋ย” กับโรงงานหรือกลุ่มได้ประโยชน์จากควันพิษที่เกิดขึ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพของชาวบ้านที่หายใจเข้าๆ ออกๆ ตลอด 24 ชั่วโมง อย่าปล่อยให้คนไทยในอนาคตต้องใส่หน้ากากนอน


          “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีเคยลั่นวาจาออก “คำสั่ง” ให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยกันแก้ไข หากปัญหาซับซ้อนเกินกำลังของจังหวัด ก็รีบประสานไปที่ส่วนกลาง รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่


          แต่ดูเหมือนว่า จะไม่มีหน่วยงานไหน สนใจทำตาม “คำสั่ง” ท่านผู้นำ!?!....


          10 พื้นที่ของไทย ฝุ่นพิษปกคลุมมากสุด !
          เว็บไซต์ www.greenpeace.org ระบุข้อมูลปี 2561 พื้นที่เมือง 10 อันดับเผชิญกับมลพิษพีเอ็ม 2.5 มากที่สุด
          (1) ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
          (2) ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก
          (3) ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
          (4) ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
          (5) ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
          (6) ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
          (7) ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี
          (8) ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ
          (9) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
          (10) ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ