คอลัมนิสต์

อย่าให้ กกต.เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  รู้ลึกกับจุฬาฯ


 

          กระแสโจมตีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะคลายความรุนแรงลง เนื่องจากความกังขาและไม่มั่นใจในมาตรฐานการดำเนินงานของหน่วยงานที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง ตามที่มีข่าวปรากฏออกมา

 

 

          ในบรรดาประเด็นที่สาธารณชนตั้งคำถามกับ กกต.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ ตัวเลขของบัตรเลือกตั้งและผู้มาใช้สิทธิที่รายงานไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง การประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งในครั้งแรกเพียงร้อยละ 95 ก่อนจะประกาศเต็มร้อยในหลายวันต่อมา รวมถึงการสั่งไม่นับคะแนนบัตรกว่า 1,500 ใบที่ถูกส่งมาจากการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น


          รศ.ตระกูล มีชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ความผิดพลาดของ กกต.ชุดนี้ เป็นสิ่งที่ “ไม่น่าจะเกิดขึ้นมากขนาดนี้” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่เอาใจใส่ที่จะติดตาม การปล่อยปละละเลย จนปัญหาบานปลายทำให้คนเสื่อมศรัทธาในตัว กกต.


          “ตัวคณะกรรมการเองก็อาจจะมีปัญหาในความพร้อม เพราะทั้ง 7 ท่าน มีเพียงท่านเดียวเท่านั้นที่เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ท่านอื่นอาจจะไม่มีเวลาศึกษาเตรียมตัว ประกอบกับขาดประสบการณ์จริงเลยทำให้พลาด ตัวเลขาธิการ ก็อาจจะขาดประสบการณ์ในการจัดการ แต่ผมก็ไม่คิดว่ามันจะผิดพลาดมากถึงขนาดนี้”


          อาจารย์ตระกูลชี้ว่า เหตุการณ์การนำส่งบัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์ล่าช้า จนนำส่งไม่ทัน ทำให้ต้องประกาศในเวลาต่อมาว่าบัตรกว่า 1,500 ใบ เป็นบัตรเสีย ยิ่งสะท้อนว่า กกต.ประมาทเลินเล่อ และปัดความรับผิดชอบอย่างรุนแรง




          “เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะสิทธิของประชาชน เสียงทุกเสียงของประชาชนที่อยู่ในบัตรเลือกตั้งมีความสำคัญยิ่งยวด คุณจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ ทำไมถึงไม่จัดการ”


          นอกจากนี้ ขั้นตอนการนับผลคะแนนเลือกตั้งเองก็มีข้อกังขาอย่างยิ่ง เนื่องจากกรรมการในหน่วยเลือกตั้งกว่า 90,000 หน่วยทั่วประเทศไทยจะต้องกรอกแบบฟอร์มรายงาน ส.5/16 หลังการนับคะแนน แล้วจึงใช้คะแนนดังกล่าวรายงานผลไปยังส่วนกลาง ดังนั้นไม่ควรที่จะต้องใช้เวลานานเป็นวันๆ ในการนับคะแนน
“เจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำหน่วย พอเขาขานคะแนนเสร็จก็จะบันทึกลงแบบฟอร์ม ส.5/16 หรือ ส.5/18 เช็กกันหลายคนมาก นับเสร็จก็รายงานได้ การคีย์ข้อมูลเพื่อรายงานผลต่อส่วนกลางก็ไม่น่าจะใช้เวลานาน แต่กลายเป็นว่ารายงานผลได้แค่ 95 เปอร์เซ็นต์ในวันเดียว แถมไม่รายงานให้จบ ทั้งๆ ที่ยังไม่จบต้องไม่หยุดนับ” อาจารย์ตระกูลกล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาทาง กกต.เคยซักซ้อมเตรียมการหรือไม่ อย่างไร


          ขณะเดียวกัน กกต.ก็ควรสืบไปยังต้นตอปัญหา เพื่อดูว่าสาเหตุของปัญหาการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่จุดไหน หากเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้ในปี 2562 หรือระบบจัดสรรปันส่วนผสมมีปัญหา ทำให้มีบัตรเสียมากกว่า 5 ล้านใบ ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขต่อไป


          อาจารย์ตระกูลชี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ กกต.เกิดวิกฤติศรัทธาจากประชาชน และไม่ควรมีทีท่ากล่าวอ้างหรือกล่าวโทษแก่ผู้ที่ตั้งคำถาม เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวที่ปรากฏมาจนถึง ณ บัดนี้ ทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สุจริต


          “ผมขอย้ำว่า กกต.ต้องทำตัวให้เป็น กกต. ต้องยึดมั่นในความบริสุทธิ์ของการเลือกตั้ง ตัดสินต้องไม่เข้าข้างฝ่ายใด ต้องรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ทำให้เกิดวิกฤติ อย่าให้ประชาชนมองว่าเขาไม่เชื่อใจคุณ และการเลือกตั้งไม่ชอบธรรม”


          หมายความว่า จนถึงตอนนี้ หาก กกต.ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาและชี้แจงความผิดพลาดให้ประชาชนรับรู้ได้ ประชาชนจะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม ส่งผลต่อผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลและกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง


          อาจารย์ตระกูลระบุอีกว่า กกต.ควรแสดงความรับผิดชอบทางคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้เกิดกระแสเชิงบวก อย่างน้อยที่สุดก็ควรเปิดเผยคะแนนดิบของหน่วยเลือกตั้งเขตทุกเขตในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบและตั้งคำถาม มีความโปร่งใสในข้อมูล


          “แถลงการณ์ที่ออกมาจนถึงตอนนี้ก็ไม่เคลียร์ หัวเรือใหญ่ตอบคำถามไม่ได้ ยิ่งสร้างความไม่เชื่อมั่นแก่ประชาชน ถ้าเคลียร์ตรงนี้ไม่ได้ จะไม่จบ แล้วอาจจะลามเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอื่นๆ ที่จะตามมา”


          “ที่สำคัญคือ กกต.มีสำนึกไหมว่าบัตรเลือกตั้งทุกใบของประชาชนนั้นมีค่า” อาจารย์ตระกูลกล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหมาย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ