คอลัมนิสต์

เช็กก่อนเชื่อ..วิกฤติข่าวปลอมระบาดโซเชียล!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

สายตรวจระวังภัย..ฉบับวันที่ 29 มี.ค. 62
 

          จะว่าไปแล้วโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อสังคมยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เพราะอยู่ที่ไหนก็ดูได้เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งทุกวันนี้ก็ครอบคลุมทุกพื้นที่ อยู่หัวไร่ปลายนาก็ดูได้แบบสบายๆ 

 

 

          แต่ความสะดวกสบายของเทคโนโลยีก็มักจะมาพร้อมเรื่องร้ายๆ ได้เสมอ เพราะยังมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีหาผลประโยชน์หรือสร้างความวุ่นวายก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังขึ้นในสังคม ยิ่งแล้วเป็นช่วงสถานการณ์สำคัญ หรือมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ประเทศชาติ ซึ่งกำลังอยู่ในความสนใจของผู้คน เนื่องจากทุกวันนี้มีเว็บไซต์ที่ลง “ข่าวปลอม” หรือ “เฟคนิวส์ (Fake News)” อยู่ค่อนข้างมาก และมีการแชร์ไปบนโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” ที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด 


          หลายคนอาจสามารถแยกแยะด้วยตัวเองได้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม ถึงกระนั้นยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยยังไม่สามารถแยกแยะได้ หรืออาจแยกแยะได้ไม่ค่อยดีนัก ยิ่งแล้วเป็นช่วงความร้อนแรงทางการเมืองของไทยตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนเลือกตั้งเสร็จสิ้น ยังมีการปล่อยข่าวปลอมมาระบาดบนโซเชียลมีเดียอยู่ตลอด โจมตีคนโน้น ป้ายสีคนนี้ แอบอ้างสื่อหลักก็มี ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวาย อาจเสียหายจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ 


          เฉกเช่นข่าวปลอมที่เกิดขึ้นล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข่าว “ปลด กกต.” ทำให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.บก.ปอท. ในฐานะโฆษก บก.ปอท. ออกมาอธิบายว่า ทางศูนย์เฝ้าระวังโซเชียล บก.ปอท.ตรวจสอบพบเป็นสำนักที่ตั้งขึ้นมาเพื่อนำเสนอข่าวปลอมที่เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ 2-3 วัน โดยแรกเริ่มจะเสนอข่าวที่มีอยู่ในโซเชียลทั่วๆ ไป ก่อนจะสร้างหรือผลิตข่าวปลอมออกมาให้คนหลงเชื่อแล้วแชร์ข่าวปลอมออกไปในสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และไลน์




          นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตำรวจ ปอท.ออกมาชี้แจง และย้ำเตือนเรื่องข่าวปลอมที่แพร่ระบาด หากแต่ออกมาเตือนอยู่เป็นระยะและต่อเนื่อง นั่นแสดงให้เห็นว่าข่าวปลอมที่ระบาดบนโลกออนไลน์เข้าขั้น “วิกฤติ” ซึ่งนอกจากการเฝ้าระวังสืบสวนจับกุม ก็ยังแนะนำว่าประชาชนควรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง ด้วยการตรวจสอบกับสำนักข่าวที่มีมาตรฐาน หรือ เว็บไซต์ของทางรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณา วิเคราะห์แยกแยะให้ดีก่อนว่าเรื่องหรือข่าวเหล่านั้นเป็นความจริง หรือน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดก่อนจะส่งหรือแชร์ต่อให้คนอื่น มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีอัตราโทษสูง ทั้งจำทั้งปรับ


          สำหรับวิธีสังเกตข่าวปลอมด้วยตัวเองสามารถทำได้ง่ายๆ คือ 1.ดูชื่อเว็บไซต์ เป็นเว็บไซต์หรือสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงหรือไม่ แต่ก็ต้องระวังเว็บไซต์ที่ตั้งใจใช้ชื่อลอกเลียนแบบให้คล้ายกับสำนักข่าวชื่อดังด้วยซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นชื่อเดียวกันได้ 2.พิจารณาความสมเหตุสมผล ควรอ่านเนื้อหาให้ครบถ้วน อย่าอ่านแค่พาดหัว จากนั้นใช้ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์พิจารณาเนื้อหาของข่าวนั้นๆ 3.ตรวจสอบแหล่งที่มา โดยตรวจสอบดูว่าข่าวดังกล่าวนั้นมีต้นตอมาจากแหล่งไหน รวมทั้งเปรียบเทียบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ซึ่งอาจมีทั้งแหล่งข่าวในประเทศและต่างประเทศเพื่อดูว่าเนื้อหาตรงกันและถูกต้องหรือไม่ มีการบิดเบือนหรือเปล่า แหล่งที่มาของข่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงใด และ 4.มีภาพประกอบยังเชื่อไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นตัวช่วยยืนยันว่าจะเป็นข่าวจริงเสมอไป ต่อให้เป็นภาพจริง หรือตัดต่อ ก็อาจเป็นภาพของข่าวอื่นที่ถูกนำมาใช้บิดเบือนประกอบข่าวปลอมได้เช่นกัน


          เสรีภาพในการติดตามหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและรับผิดชอบต่อสังคม เพราะข่าวปลอมที่ระบาดล่าสุดจะยังไม่ใช่เรื่องสุดท้ายอย่างแน่นอน..!!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ