คอลัมนิสต์

มองปรากฏการณ์ 24 มีนาฯการเมืองสองขั้ว-ยอมเสี่ยงได้เสีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พรทิพย์ ทองดี



 
          พลิกทุกโพลล์กับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และกำลังเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้ว่า หลังจากพ้นก้าวแรกสู่ความเป็นประชาธิปไตย ก้าวต่อไปเราจะเดินต่อกันในท่าไหน จากสถานการณ์ที่เรากำลังร่วมกันเผชิญ ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองอย่าง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มองว่าภาพรวมจากการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่ผ่านมา ได้เกิดการพลิกล็อกขึ้น 2 ส่วนด้วยกันคือ จำนวน ส.ส.ที่ลดลงค่อนข้างฮวบฮาบของพรรคประชาธิปัตย์ และจำนวน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ตอนแรกคาดการณ์ว่า “พรรคอนาคตใหม่จะได้อยู่ที่ประมาณ 40 หรือ 50 ที่นั่ง แต่เอาเข้าจริงกลับขึ้นมาถึง 80 กว่า” จึงมีสิ่งที่เรียกว่า การพลิกล็อก เกิดขึ้นมา

 

 

          แต่โดยภาพรวมถือว่าไม่ผิดจากที่คาดไว้มากนัก จากตอนแรกที่คาดว่าพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มของพรรคเพื่อไทยจะมีความสูสี ซึ่งผลก็ออกมาค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีพรรคที่อยู่ตรงกลางพร้อมที่จะเคลื่อนไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แล้วหาก “พิจารณาจากเรื่อง “การแบ่งขั้ว” ทางการเมือง จะพบว่า เป็นเสมือนการแข่งฟันดาบระหว่างสองค่าย ที่ทั้งสองต่างก็แย่งชิงกัน” ในกรณีของ เพื่อไทย กับ พลังประชารัฐ ที่มีการขับเคี่ยวกันมาโดยตลอด ส่วนทางด้านพรรคอนาคตใหม่ ที่ถึงแม้จะมีแนวทางอุดมการณ์ต่างๆ คล้ายกับทางพรรคเพื่อไทย แต่พรรคนี้กลับมีจุดที่แตกต่างจากทั้งสองพรรคการเมืองข้างต้นอยู่ จึงทำให้พรรคโดดเด่น และสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งพรรคยังได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ค่อนข้างมาก จากระบบกติกาการคิดคำนวณคะแนนเฉลี่ย รวมถึงกระแสนิยมจากการได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 18-25 ปี ที่มีจำนวนมากกว่า 7 ล้านคน


          รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นลูกค้าของพรรคอนาคตใหม่อย่างแน่นอน คิดว่าในเรื่องของโซเชียลมีเดีย “อนาคตใหม่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้เยอะมากเพราะ “ธนาธร” เป็นตัวบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อทางโซเชียลมีเดีย” รวมถึง “ความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองเก่าๆ” อันเป็นเหตุผลข้อหนึ่ง ที่ทำให้ธนาธรตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา ทั้งเชื่อว่ากรณีการยุบพรรคพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้คะแนนบางส่วนถูกเทมาทางนี้ และกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เราได้เห็นถึงความมาแรงของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้




          และการที่เพื่อไทยได้ ส.ส.เขตมาเป็นที่หนึ่ง แต่ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยนั้น มาจากการที่รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาแล้วว่าถ้าได้ ส.ส.เขตเยอะ จะได้บัญชีรายชื่อน้อย รวมถึงครั้งนี้เพื่อไทยได้ส่ง ส.ส.ลงแข่งไม่ครบทุกเขต จึงทำให้คะแนนที่ควรจะได้มาคิดสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์หายไป แม้ก่อนหน้านี้จะมีการแก้เกมโดยให้พรรคไทยรักษาชาติมาช่วยเติมเต็มส่วนนี้ให้ แต่ปัจจุบันไทยรักษาชาติก็ถูกยุบไปแล้ว ผลของการเลือกตั้งที่ออกมาจึงทำให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทยสอบตกยกพรรค

 

          ทั้งได้แสดงข้อคิดเห็นต่อ กรณีที่ “พรรคพลังประชารัฐคว้าแชมป์ ได้ ส.ส.เขตใน กรุงเทพฯ ไปมากที่สุด” ว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ชุมชนเมือง ที่มีชนชั้นกลางอาศัยอยู่มาก เพราะฉะนั้นในอดีตเราจะเห็นได้ชัดว่า ลักษณะของการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ จะเป็นเสียงสะท้อนจากชนชั้นกลาง และปัจจุบันก็มีชนชั้นกลางมากขึ้น เดิมทีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนของคนกรุงเทพฯ คือ พรรคประชาธิปัตย์ แต่ตอนนี้ได้ถูกแย่งไปโดยพรรคพลังประชารัฐ คิดว่า การที่คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์หายไปส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการแยกขั้ว และกลุ่มเป้าหมายของทั้งสองพรรคก็เป็นกลุ่มเดียวกัน ประชาชนคนกรุงจึงต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมกับการที่ “อภิสิทธิ์” ได้ออกมาโจมตี “พล.อ.ประยุทธ์” จึงทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความไม่พอใจในตัวอภิสิทธิ์ จากแรกที่คิดว่าจะเลือกประชาธิปัตย์ให้ไปรวมกับพลังประชารัฐ ก็กลายเป็นไปเลือกพลังประชารัฐแทน จึงทำให้เสียงของพลังประชารัฐที่ได้สูงขึ้น และคนอีกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เป็นฐานเสียงของเพื่อไทยในบางแห่ง ก็มีความต้องการความเปลี่ยนแปลง คือไม่ต้องการทั้งพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย แล้วได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ตรงส่วนนี้ก็ได้กลายไปเป็นตัวที่สามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ได้เช่นกัน


          ส่วนทางด้านของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า มองว่า เสียงของความเห็นด้วยเห็นต่างของการเมืองทั้งสองขั้วนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก ถ้ารวมตัวเลขของฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาล กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ก็จะเห็นว่ามีตัวเลขที่พอๆ กัน การเลือกตั้งครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “ขั้ว” ทางการเมือง เหมือนกับครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ที่มีอยู่ 2 ขั้วใหญ่ๆ แข่งกันชัดเจนคือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ประชาธิปัตย์มีภูมิใจไทยเป็นพันธมิตรในครั้งที่แล้ว แต่รอบนี้ภายใต้ขั้วที่แบ่งเป็น 2 ขั้ว ได้มีความแปลกใหม่เกิดขึ้น เพราะมีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายพรรค เช่น ในปัจจุบัน “ฝั่งที่ไม่เอารัฐบาล” ก็คือ เพื่อไทย อนาคตใหม่ เพื่อชาติ เสรีรวมไทย เป็นต้น ซึ่งมีแนวทางอุดมการณ์อยู่ในขั้วเดียวกัน กับอีกฝั่งที่มี “การแบ่งกันเป็นพลังประชารัฐ กับประชาธิปัตย์ขึ้นมา” แต่ฐานเสียงที่จะสนับสนุนทั้งสองพรรคนี้ก็คือ กลุ่มเดียวกัน ส่วนทางด้าน “ภูมิใจไทย” รอบนี้ก็วางตัวเป็นพรรคกลางๆ ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกับฝั่งใดชัดเจน

 

          การที่คะแนนของพลังประชารัฐนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ก็เพราะว่า ขั้วที่แบ่งกันเป็น พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ประชาชนได้ตัดสินใจว่า ถ้าจะสนับสนุนแนวทางแบบ “ลุงตู่” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ จะต้องมุ่งไปที่พรรคพลังประชารัฐ ไม่อย่างนั้นฝั่งเพื่อไทย ฝั่งประชาธิปไตยก็จะชนะ เพราะการเลือกประชาธิปัตย์ ไม่ได้การันตีว่าเขาจะได้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้เกิดการกระจุกตัวมากหน่อยในฝั่งนี้


          ส่วนทางด้านเพื่อไทย และฝั่งประชาธิปไตย การที่พรรคเพื่อไทยเล่นเกมแตกแบงก์นั้น ทำให้พรรคของเขามีขนาดย่อลง "ด้วยจำนวนเขตที่ส่งลงไปแค่ 250 เขต ในขณะที่กระแสนั้นมาทางอนาคตใหม่ บวกกับการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ จึงมีคะแนนของขั้วจัดตั้งดั้งเดิมที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2554 ในเขตที่เพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร ไปบวกกับคะแนนกระแสของอนาคตใหม่ เราก็เลยเห็นถึงปรากฏการณ์ของสองแรงบวก ที่ทำให้อนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงมาเป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าลองเอาตัวเลขของทั้งสองฝั่งมาบวกกัน เราก็จะได้ตัวเลขของการเลือกตั้งปี 2554


          การที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส.ในกรุงเทพฯ เลย ก็คงเป็นบทเรียนราคาแพง กับการเลือกยุทธศาสตร์ที่เสี่ยงของพรรคประชาธิปัตย์เอง แต่ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่มาจากการที่เขารู้ถึงกระแส ที่เขาได้ประเมินแล้วว่า เขาต้องเล่นแบบนี้ เพื่อหวังผลได้เสีย ถ้าได้ก็คือ ได้เลย สามารถรักษาฐานเสียงไว้ได้ แต่ถ้าเสียก็คือ เสียเลย แบบที่กำลังเป็น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ