คอลัมนิสต์

รักษาโรคทางอินเทอร์เน็ต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน [email protected]

 

 

          โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหลือเชื่อ อะไรๆ ที่คิดว่าจะไม่เกิดขึ้นแต่ก็มีขึ้นแล้ว

          จดหมายจาก ‘หมอไพรวัลย์’ ต่อไปนี้นำเสนอข่าวดีจาก กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าจะจับมือกระทรวงสาธารณสุข ช่วยดูแลรักษาสุขภาพ รักษาโรคที่เรียกว่า ‘โครงการเทเลเฮลธ์’ ซึ่งได้ให้รายละเอียดมาน่าสนใจมาก

 

 

          ขอเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการรักษาโรคทางอินเทอร์เน็ตที่จะเข้าใจง่ายกว่า และนี่เป็นโครงการเริ่มต้นที่ดีและจะช่วยคนในชนบทหรือต่างจังหวัดได้มีโอกาสเท่าเทียมกัน

          ปัญหามีอยู่ว่าทำอย่างไรจะให้ประชาชนเข้าใจและใช้บริการตามเป้าหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องช่วยเหลือเต็มที่เต็มกำลังด้วย
อ๊อด เทอร์โบ



 โครงการเทเลเฮลธ์
 เรียนคุณอ๊อด เทอร์โบ

          ผมมีข่าวดีข่าวน่าสนใจและร่วมสนับสนุนมาแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับโครงการเทเลเฮลธ์ หรือมีบางคนเรียกว่าการรักษาโรคทางอินเทอร์เน็ตหรือบางคนเรียกแบบฟันธงไปเลยว่าหมอมือถือ

          ถ้าโครงการนี้ทำได้ดังวัตถุประสงค์ตรงตามเป้าหมายก็จะมีประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการต้องเสียเงิน ใช้เวลามาหาหมอตามโรงพยาบาลซึ่งสรุปพอเข้าใจง่ายๆ ว่า

          คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ลงนามความร่วมมือกันกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท (เทเลเฮลธ์)

          เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ชนบทและช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล
   
          เบื้องต้นจะให้คำปรึกษาและรักษาเบื้องต้นใน 4 โรค คือ ความดัน เบาหวาน ตา และผิวหนัง ซึ่งการรักษาดังกล่าวจะช่วยลดความแออัดของจำนวนคนไข้ที่จะเดินทางมาโรงพยาบาล รวมถึงช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางได้ด้วย


  
          6 เดือนนับจากนี้จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อทดลองระบบต่างๆ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา

          โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นำร่อง 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลจังหวัด 8 แห่ง

          ในอนาคตเมื่อผลประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ โดยสถานที่นำร่องดังกล่าวมีการวางสายไฟเบอร์ออปติกเข้าถึงเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นที่เรียบร้อย

          หากโครงการเทเลเฮลธ์ประสบความสำเร็จและเปิดให้บริการครบทุก รพ.สต.ในชนบท คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้าจะช่วยประหยัดงบสาธารณสุขของประเทศได้ปีละ 30,000-40,000 ล้านบาท

          ผมจึงขอร่วมสนับสนุนและแจ้งมาให้ทราบและทุกอย่างจะต้องไปพร้อมๆ กันและรัฐบาลใหม่จะสนใจทำต่อไหมครับ ?
หมอไพรวัลย์



 ข้ามทางรถไฟต้องระวัง
 เรียน คุณอ๊อด เทอร์โบ

          ผมมีเรื่องน่าตกใจและเศร้าสลดใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และน่ากลัวสยองขวัญมาก

          นั่นคือมีรถยนต์-รถจักรยานยนต์ถูกชนยับเยินขณะข้ามทางรถไฟอย่างล่าสุดที่ อ.ตาคลี นครสวรรค์ มีรถกระบะข้ามทางรถไฟแล้วโดนรถไฟชนแหลก มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

          กรณีนี้ทางรฟท.เคยมีบทเรียนมาแล้วแต่ไม่การปรับปรุงอย่างที่เกิดเหตุดังกล่าวไม่มีแผงกั้นและสัญญาณไฟซึ่งจะต้องจัดการตรวจดูจุดข้างทางรถไฟทั่วประเทศไทยด่วน แม้จะเป็นวัวหายล้อมคอกแต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เกิดขึ้นอีก

          ส่วนผู้ขับขี่ต้องระมัดระวังอันตรายให้ตัวเองอย่าข้ามโดยฝ่าฝืนสัญญาณหรือคิดว่าจะข้ามไปได้ทัน หรือข้ามโดยกระชั้นชิด

          ด้วยความปรารถนาดีจึงขอเตือนมาอย่าประมาทเป็นอันขาดครับ
โสภณ (ตาคลี)



ตอบคุณ ‘โสภณ’ ตาคลี
          เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่มีการแจ้งมาว่าใครผิดใครถูก แต่สิ่งสำคัญสุดก็คือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องดูแลและตรวจสอบจุดที่มีถนนข้ามทางรถไฟโดยด่วน

          ขณะที่ไทยกำลังมีแผนสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟรางคู่แต่จะต้องอย่ามองข้ามจุดข้ามทางรถไฟด้วยเพราะที่สังเกตเห็นคือในบริเวณต่างจังหวัดที่ห่างไกล จะใช้พนักงานคอยเลื่อนรั้วที่มีล้อกั้นถนนจุดตัดข้ามราง ซึ่งล้าสมัยมากและถ้าเกิดพนักงานเผลอหลับหรือไม่ระแวดระวังเวลารถไฟมาจะทำอย่างไร

          ผมจึงขอร่วมเรียกร้องให้รฟท.คำนึงถึงอันตรายและแม้ว่า รฟท.จะไม่รับผิดชอบแต่ก็ต้องช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย ในทางหนึ่งด้วย
อ๊อด เทอร์โบ


logoline

ข่าวที่น่าสนใจ