คอลัมนิสต์

เครือข่ายชุมชนผนึกลดโลกร้อนหลังกระทบสุขภาพ-ภาคผลิต!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความพิเศษ

 

 

          นับเป็นปรากฏการณ์หลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 15 แห่ง ประกาศรับมือ “สภาวะโลกร้อน” เป็นวาระเร่งด่วน หลังพบชุมชนเจอทั้งร้อนยาวนาน หนาวหดสั้น ฝนหนัก พายุรุนแรง สร้างผลกระทบต่อภาคการผลิตและสุขภาพ เร่งสร้างศูนย์เรียนรู้ตำบลลดโลกร้อน หวังลดความเสียหาย คาดอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีกว่า 300 ตำบลร่วมขับเคลื่อนลดโลกร้อน

 

 

          ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบน เทศบาลตำบลหงาว อ.เทิง จ.เชียงราย ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน โดยภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ 8 แห่ง อาทิ อบต.สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ, อบต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี, อบต.เก่าย่าดี อ.แก่งคร้อ จ.ชัยภูมิ, อบต.บ้านหยวก อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี, ทต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่, อบต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, และทต.หงาว อ.เทิง จ.เชียงราย รวมทั้งภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ที่ขับเคลื่อนมาแล้วก่อนหน้านี้อีก 7 แห่งเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 


          “สมพร ใช้บางยาง” ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นำสมาชิกเครือข่ายประกาศความมุ่งมั่นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน โดยย้ำถึงผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อน ดังสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสว่าบางตอนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2532 ว่า “สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น” รวมถึงพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในหลายโอกาสซึ่งทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย




          เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่จึงรวมพลังทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการรับมือภาวะโลกร้อน ด้วยความสอดคล้องกับวาระของโลก คือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ (Sustainable Development Goals – SDGs) 17 เป้าหมาย ในด้านสิ่งแวดล้อม 7 เป้าหมาย เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน 3 ประการ ได้แก่ 


          1.ร่วมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้การรับมือภาวะโลกร้อนระดับพื้นที่อันสอดคล้องกับภูมิสังคมและขับเคลื่อนโดยทุนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น โดยร่วมมือกับสถาบันวิชาการ และคณะผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการ 


          2.รวมพลังชุมชนท้องถิ่นเพื่อการรับมือสภาวะโลกร้อน โดยให้ความสำคัญกับการน้อมนำศาสตร์พระราชา และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นปฏิบัติการชุมชนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 


          3.ต่อยอดขยายผลปฏิบัติการระดับพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อนระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำการเผยแพร่ความรู้และปฏิบัติการชุมชนให้แก่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่


          “ดวงพร เฮงบุณยพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า 15 พื้นที่ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้เรื่องโลกร้อนเป็นวาระของประชาชนในตำบลนั้น เนื่องจากภาวะโลกร้อนกำลังสร้างผลกระทบต่อท้องถิ่น จะเห็นได้จากฤดูร้อนยาวนานขึ้น ฤดูหนาวสั้นลง ภาวะแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งรุนแรงขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศย่อมผลกระทบต่อภาคการผลิต การสาธารสุขก็กระทบตามมา 


          ดังนั้นถ้าไม่ทำเรื่องลดโลกร้อนหรือจัดการน้ำ ชุมชนท้องถิ่นย่อมอยู่อย่างลำบาก นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร เพราะทรัพยากรจะลดน้อยลง ขณะเดียวกันโรคที่เคยควบคุมได้ เช่น อหิวาตกโรค ก็จะควบคุมไม่ได้ ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกมีการคาดการณ์ว่าระหว่างปี ค.ศ.2030-2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปี เนื่องจากโรคที่มาพร้อมกับโลกร้อน การขาดสารอาหาร ท้องร่วง และความเครียดจากความร้อน


          “การตั้งรับของชุมชนท้องถิ่นจะบรรเทาความรุนแรงลงได้จาก 10 ส่วน อาจได้รับผลกระทบแค่ 6 ส่วน หรือถ้าตั้งรับดีก็อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่านั้น จึงขอให้กำลังใจทั้ง 15 ตำบลในการที่จะทำให้เรื่องโลกร้อนเป็นวาระของประชาชนในตำบลของตัวเองโดยเร็ว” ผู้อำนวยการสำนัก 3 กล่าว 


          เมื่อท้องถิ่นทั้ง อบต.และเทศบาล ทั้ง 15 แห่งเริ่มขยับตัวแล้ว พร้อมทั้งวางเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอีกอย่างน้อย 20 แห่ง จึงเชื่อว่าในอีก 2 ปีต่อจากนี้จะมีชุมชนท้องถิ่นประมาณ 300 แห่งร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องลดภาวะโลกร้อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ