คอลัมนิสต์

หลังเลือกตั้ง 24 มีนารัฐบาลข้างน้อยไต่เส้นด้าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... พรทิพย์ ทองดี

 


 
          นับถอยหลังเข้าสู่วันเลือกตั้ง อีก 2 วันก็จะถึงวันสำคัญของประเทศ “เลือกตั้ง 24 มีนาคม” หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานถึง 8 ปี การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะพาประเทศไทยก้าวเดินไปในทิศทางใด

 

 

          เมื่อประชาชนได้เข้าสู่กระบวนการที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม กับการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา สำหรับคนที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ ก่อนประชาชนอีกกลุ่มจะตบเท้าเข้าคูหาไปหย่อนบัตรกันในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น ในวันนี้นักวิชาการได้มองถึงทิศทางการเมืองไทยหลังเลือกตั้งกันอย่างไร 


          รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า การที่ “พรรคเพื่อไทย” จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น “พรรคจะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย”  เพราะจากกติกาที่มีอยู่ พรรคเพื่อไทยจะต้องได้ที่นั่งส.ส.มากกว่าครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโอกาสก็มีอยู่แต่เป็นไปได้ยาก  

 

          ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถึงแม้นายอภิสิทธิ์จะออกมาปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ แต่คาดว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นจะอยู่สายเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ “ประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อ พรรคได้คะแนนมาเป็นที่สอง คือเป็นที่หนึ่งในฝ่ายของรัฐบาล” แต่ว่าทางด้านของพรรคพลังประชารัฐจะยอมหรือ ถ้าประชาธิปัตย์จะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอนว่าถ้าเอาตามคำพูดก็เป็นไปไม่ได้แล้ว แต่ถ้าตามยุทธศาสตร์ทางการเมือง ที่สามารถเกิดการพลิกแพลงได้เสมออะไรก็คงจะเกิดขึ้นได้

 

 

          เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯ แน่ 95% แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเลขในสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพราะถ้าพรรคพลังประชารัฐมีเสียงต่ำกว่า 275 หรือต่ำกว่าครึ่ง จะมีอุปสรรคเกิดขึ้นมากในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เริ่มต้นในการเสนอนโยบาย การบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องโดนคัดค้านตลอดเวลา และถ้าอยู่ยาวไปหน่อย ก็ต้องรอการลงมติไม่ไว้วางใจแล้วโหวตกัน “ตราบใดที่คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ แล้ว มีเสียงในสภาไม่ถึง 275 คุณประยุทธ์ก็อยู่ไม่ได้ ถึงมีอยู่ 251 ก็ไม่มีเสถียรภาพ เพราะต้องมีงูเห่าแน่ๆ” ในสภาผู้แทนราษฎร ส.ว.อาจช่วยให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ไม่สามารถทำให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ ถ้ามีเสียงต่ำกว่า 275 ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องยาก ทุกพรรคการเมืองต่างรู้ตัวว่า ลงตัวไม่ได้ เว้นแต่ฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันแล้วได้เกิน 250 ก็จะมีพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. 30 หรือ 40 เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งตอนแรกอาจจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่ในที่สุดถ้าเห็นตัวเลขก็จะหันมาทางนี้ 



          และแม้จะมีกระแสความกังวลถึงเรื่องเดดล็อกทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ “รศ.อัษฎางค์” คิดว่า ไม่น่าเกิด “ถ้าทุกฝ่ายรักประเทศกันจริง ไม่ใช่รักประชาชนจนน้ำลายไหล” เพราะอยากเห็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่ไม่มีคนเห็นแก่ตัว “ถ้าหากรู้ว่าตนเองไม่ได้แล้วดันทุรังอยู่ไปมันก็ไม่ถูกต้อง เสียงของประชาชนเป็นตัวตัดสินอยู่แล้วว่าเขาเอาเราหรือไม่เอาเรา” เลยคิดว่าไม่น่าจะเกิดเดดล็อกทางการเมืองขึ้น ถ้ามีสปิริตทางการเมืองกันจริงๆ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าหลังจากผ่านการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมไป ประชาชนเขาจะเอาใคร ใครเป็นเสียงส่วนใหญ่ ก็ควรจะมอบให้คนคนนั้นเขาไป แต่ถ้ามีการใช้เล่ห์เหลี่ยม ก็อาจจะเกิดเดดล็อกขึ้นได้เหมือนกัน แต่ควรจะเกิดน้อยมากถ้าเราพิจารณาถึงสปิริตทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และได้ระบุด้วยว่า ตัวแปรสำคัญทางการเมืองครั้งนี้คือ พรรคภูมิใจไทย แต่โอกาสที่พรรคขนาดกลาง จะได้เป็นนายกฯ นั้นคงยาก


          ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมือง ได้สะท้อนมุมมองทิศทางด้านเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งไว้ว่า


          หากพิจารณาจากแนวนโยบายของพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่า ผลข้อแรกที่จะเกิดขึ้น คงไม่เชิงเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ถ้าดูจากปัจจัยของแนวนโยบายที่ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากนัก กับข้อที่สอง คือ จะเห็นว่ามีแนวนโยบายประชานิยมค่อนข้างมาก เมื่อออกมาเป็นแบบนี้ “จะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่ระยะสั้น แต่ไม่เชิงเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน”  ตัวที่จะมาช่วยเศรษฐกิจเพื่อชดเชยกับเรื่องของภาคต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุดจะมาในเรื่องแนวนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องจับตาดู เช่น แนวนโยบายที่กระตุ้นเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานจะทำได้มากมายขนาดไหน และจะมีการกระตุ้นในเรื่องของนโยบายประชานิยม ซึ่งก็มีขอบเขตจำกัดเรื่องงบประมาณอย่างไร


          โดยปัจจัยที่จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจดีขึ้นหลังเลือกตั้ง ปัจจัยอันแรก คือ เรื่องเสถียรภาพ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ที่อาจจะยังมีไม่มากนัก ตรงนี้อาจจะมีผลในแง่บวก ในสองเรื่องคือ ตลาดหุ้น เมื่อนักลงทุนรู้สึกว่าไม่มีการเกิด Disruption ทางการเมือง แม้เศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งจะมีแรงกระเพื่อมต่อไปได้บ้าง แต่ที่สุดแล้วถ้ารัฐบาลยังคงมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง ตัวนี้จะเป็นผลบวกในตลาดหุ้น เรื่องที่สอง คือ ถ้ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพ เราดูได้จากแนวนโยบายว่า มีการส่งเสริมเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางเอกชนแล้วก็ต่างประเทศจ้องอยู่ว่าเราจะกระทบหรือไม่ ตนคิดว่าถ้าตัวนี้เป็นบวกขึ้นมา คนก็จะมีจิตวิทยาคิดว่าให้ดำเนินไป ส่วนจะเป็นผลบวกมากหรือบวกน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อรัฐบาลเข้ามาแล้ว จะรักษาเสถียรภาพไว้อย่างที่เขาคาดการณ์ไว้ในตอนต้นหรือไม่ 


          ปัจจัยที่สอง คือ จะดูว่ามีการชะลอตัวลงในเรื่องของการกระตุ้นสาธารณูปโภคพื้นฐานหรือไม่ และคิดว่าตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดเรื่องของคนที่เข้ามาลงทุน ที่เขากำลังมองจากนี้ไป 4-5 ปีข้างหน้า โครงสร้างการลงทุนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะขึ้นอยู่กับว่า ผลของการเลือกตั้งนั้น จะทำให้เขามีความมั่นใจ จากการมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งทางการเมืองหรือไม่ แต่ถ้ามีผลปรากฏออกมาว่า มีปัญหาเรื่องเดดล็อก หรือมีประเด็นปัญหาที่ดูท่าทางแล้ว จะมีเสถียรภาพได้ลำบาก ผลของการเลือกตั้งแทนที่จะเป็นบวกกลับจะเป็นลบไปในแง่จิตวิทยา


          เพราะพอเกิดเดดล็อก “จะเกิดประเด็นปัญหาว่า รัฐบาลจะมีความสามารถในการที่จะสร้างสรรค์ เสถียรภาพ ขนาดไหน” เดดล็อกตรงนี้อาจจะหมายความว่า 

 

          หนึ่ง ปัญหาก็คือ อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ว่าไม่สามารถมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะฉะนั้นพอไม่ได้เสียงข้างมาก ก็จะมีปัญหาที่ปกครองได้ แต่ออกกฎหมายไม่ได้ ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่กระทบในแง่ลบ ซึ่งตรงส่วนนี้ยังไม่ใช่ผลจากเดดล็อกทางการเมือง 


          กับอันที่สอง ในแง่ของเดดล็อกทางการเมือง เช่น การที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าจะไม่เข้าร่วมกับใครเลย ในกรณีนี้อาจเกรงกันว่าจะเกิดเดดล็อกทางการเมือง แต่คิดว่าจริงๆ แล้วตัวเดดล็อกนี้สามารถคลายได้ คิดว่าที่ร้ายแรงที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือเป็นรัฐบาลที่ตั้งรัฐบาลได้ เพราะเสียงข้างมาก แต่ว่าในแง่การออกกฎหมายต้องพึ่งพาอีกพรรคหนึ่ง จึงขอเรียกตรงส่วนนี้ว่าเป็นเดดล็อกทางการเมือง แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเดดล็อกเสียทีเดียว เพราะเชื่อว่า “เดดล็อกที่จะเกิดขึ้น ไม่ถึงกับมีการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้” 


          ในกรณีนี้คิดว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพรรคเพื่อไทยและพรรคที่เป็นพันธมิตร อีกฝ่ายคือพรรคพลังประชารัฐ และก็จะมีพรรคประชาธิปัตย์ ที่วางตัวมาอยู่ตรงกลาง พรรคที่เป็นกลางอีกประเภทหนึ่ง ก็คือ พรรคที่สามารถเข้าได้กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็มีหลายพรรค เช่น พรรคชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ เชื่อว่า “ลักษณะการจัดตั้งของรัฐบาล จะมีเดดล็อกได้กรณีอย่างเดียวคือ กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก” ซึ่งยังคิดว่า “การที่จะเกิดเดดล็อกถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้นั้น จะไม่เกิดในความเห็นผม” ยังเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด ความต้องการเสียงเพียง 126 เสียง ในการจัดตั้งรัฐบาลไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ที่เป็นห่วงคือ รัฐบาลจะบริหารได้ไหม ถ้าหากว่าไม่ได้คะแนนเสียงรวมกันแบบมีเอกภาพ 


          ทั้งได้คาดคะเนถึงทิศทางการเมืองหลังเลือกตั้งด้วยว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล “หมายความว่าพรรคเพื่อไทยต้องเก่งมาก ที่สามารถชนะและได้ ส.ส.มากถึง 376 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย หรือไม่ก็เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ได้รับแรงสนับสนุนจากส.ว.” คิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยขึ้นมาได้ในลักษณะนี้ “ในระยะแรกทางพรรคเพื่อไทยก็คงดำเนินการหลายอย่างในเรื่องที่เคยได้ทำมาแล้ว เกี่ยวกับนโยบายทางด้านรากหญ้า แต่เอาเข้าจริงๆ มีข้อจำกัดอยู่ในแง่ของงบประมาณ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการกำหนดเลยว่าคุณจะหาตรงไหน” ข้อจำกัดตรงนี้จะทำให้ใช้จ่ายอะไรได้ยากขึ้น และเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญคือ “จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับระบบต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่แรงกระเพื่อมทางการเมืองที่สูงขึ้น ที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” และถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ก็คิดว่าคงไม่มีอะไรต่างกับพรรคเพื่อไทย ถึงแม้แนวนโยบายจะต่างกันบ้าง ส่วนในแง่ของการเมืองตรงนี้ก็สำคัญว่า พรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องเก่งเหมือนกับเพื่อไทยที่ต้องหาให้ได้ 376 คน หรือพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับความร่วมมือจากวุฒิสภา มองว่า “เสถียรภาพของคุณอภิสิทธ์เอง ต้องพึ่งพาทางด้านนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบริหาร” ในแง่นี้จะมีประเด็นปัญหาตั้งแต่ตอนต้นเลย ในเรื่องของการจัดตังรัฐบาล แต่ถ้าเป็นพรรคพลังประชารัฐจะเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกของคนส่วนหนึ่ง “ต้องยอมรับว่าคนชนชั้นกลางจะรู้สึกว่ามันมีเสถียรภาพ เพราะว่าภายใต้รัฐบาลนี้ สามารถมั่นใจในเรื่องของวุฒิสภาได้ อย่างน้อยที่สุดเราต้องยอมรับว่า จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่สถาบันทหารก็ยังเป็นสถาบันที่มีองค์ประกอบที่การเมืองจะต้องคำนึงถึง อันที่สามหมายความว่าแนวโน้มนโยบายต่างๆ เหล่านี้พอจะเห็นได้ชัดจากความต่อเนื่องจากที่ทำเอาไว้”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ