คอลัมนิสต์

สนับสนุนให้ล่า (เสือดำ) แต่ไม่ได้ครอบครองซาก?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ล่าความจรืง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          คดีล่าเสือดำมีคำถามให้สังคมคาใจจนได้...


          แม้การพิพากษาลงโทษจำคุก 16 เดือนกับ “เจ้าสัวเปรมชัย” โดยไม่รอลงอาญา ดูจะทำให้หลายฝ่ายพึงพอใจในผลคำตัดสินในช่วงแรกๆ ที่มีข่าวออกมา แต่เมื่อข้อมูลเริ่มปรากฏมากขึ้น ก็เริ่มมีคำถามและข้อสังเกต

 

 

          เพราะศาลตัดสินคุณเปรมชัย ว่ามีความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีโทษจำคุก 8 เดือน ซึ่งโดยนัยน่าจะหมายถึงสนับสนุนให้ล่าเสือดำ แต่กลับยกฟ้องในข้อหาร่วมกันมีซากเสือดำไว้ในครอบครอง ขณะที่ลูกน้องอีก 3 คนมีความผิดข้อหานี้

 


          ขณะที่ความผิดฐานมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น คุณเปรมชัยมีความผิดเฉพาะการครอบครองซากไก่ฟ้าหลังเทา มีโทษจำคุก 2 เดือน


          จุดนี้ทำให้เกิดปัญหาว่าคุณเปรมชัยสนับสนุนให้ล่าเสือดำ จึงมีความผิด แต่กลับไม่ผิดครอบครองซากเสือดำ ส่วนลูกน้องอีก 3 คน มีเพียง 1 คนที่ผิดล่าเสือดำ แต่อีก 2 คนกลับโดนโทษจำคุกฐานร่วมกันครอบครองซากเสือดำ


          หรือว่าคุณเปรมชัยผิดฐานสนับสนุนให้ล่าไก่ฟ้าหลังเทา ไม่ได้ผิดฐานสนับสนุนให้ล่าเสือดำ จุดนี้ต้องรอดูคำพิพากษาฉบับเต็มอีกครั้ง

 

          แต่ข้อมูลที่พึงทราบก็คือสถานะการเป็น “ผู้สนับสนุน” ตามประมวลกฎหมายอาญา รับโทษเพียง 1 ใน 3 ของความผิดนั้น หากเป็นผู้ก่อ ผู้ใช้ ผู้จ้างวาน จึงจะรับโทษเท่า “ตัวการ”


          แปลกไหมอีก 3 คนเป็นลูกน้องคุณเปรมชัย แต่คุณเปรมชัยสนับสนุนให้ไปล่าสัตว์ ไม่ได้ใช้ หรือจ้างวานให้ไปล่า ทั้งหมดนี้คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากอัยการและตำรวจ


          คุณผู้อ่านที่ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้นจะทราบดีว่าเป็นคดีที่ถูกสังคมจับตามากที่สุดคดีหนึ่ง เพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนร่ำรวย มีสถานะทางสังคมสูง และการทำงานของกระบวนการยุติธรรมลำดับต้น โดยเฉพาะตำรวจ ถูกมองอย่างไม่ไว้ใจ




          ตลอดอายุของรัฐบาลคสช. มีความพยายามปฏิรูปตำรวจ แต่ก็ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะช่วง 3 ปีแรกแทบไม่แตะงานปฏิรูปตำรวจเลย มีแต่ออกคำสั่ง คสช.ทำให้โครงสร้างการบังคับบัญชามีลักษณะคล้ายทหาร ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ก็ใช้ “ทหาร” เป็นประธานคณะปฏิรูป และเน้นไปที่โครงสร้างกับการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลัก


          ทั้งๆ ที่งานตำรวจและการปฏิรูปตำรวจ หากต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงแล้ว ต้องเอาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นและจังหวัดเป็นตัวตั้ง เพราะงานตำรวจมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชน บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนได้


          แต่การบริหารงานตำรวจไทยเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง บังคับบัญชาจาก “บนลงล่าง” ในรูปแบบพีระมิด ทั้งที่การบริหารงานตำรวจที่ถูกต้องควรเน้นไปที่การบริหารแบบ “ล่างขึ้นบน” โดยผู้บังคับบัญชาควรรับฟังปัญหาที่ตำรวจสายตรวจ สายสืบ และพนักงานสอบสวนประสบมา แล้วช่วยสนับสนุนด้านการวางนโยบายแก้ไข การฝึกฝนอบรม และการเสริมความพร้อม ตลอดจนให้อุปกรณ์ในการทำงานเพื่อช่วยให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่แบบมืออาชีพ


          ขณะที่ประเภทของอาชญากรรมก็มีหลายประเภท ที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุดคือ “คดีมโนสาเร่” เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่เกิดมากที่สุดและรบกวนความสงบสุขของประชาชนมากที่สุด เช่น การเปิดดนตรีหรือจัดงานเสียงดังรบกวนชาวบ้าน จอดรถไม่เป็นที่ ฯลฯ แต่คดีประเภทนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากตำรวจ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเรื้อรัง และมองตำรวจในแง่ไม่ดี


          นอกจากนั้นยังมีอาชญากรรมเฉพาะ และอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นกรณีพิเศษ แน่นอนว่า “คดีล่าสัตว์ป่า” ก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงต้องสนับสนุนให้ตำรวจมีองค์ความรู้และเครื่องมืออันทันสมัย ตลอดจนช่องทางการเชื่อมประสานกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การทำสำนวนคดีมีความแน่นหนา เอาผิดผู้กระทำผิดได้ ลดความสงสัยและความคาใจของสังคม


          ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง ไล่ดูหน้าตาผู้สมัครระดับแกนนำพรรค ก็พบมีอดีตตำรวจอยู่หลายคน เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตรองผู้การกองปราบ และอดีตอธิบดีดีเอสไอ เป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ นอกจากนั้นก็มี ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ เป็นนายทะเบียนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ส่วนคนในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ก็เช่น แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด


          แต่นโยบายการปฏิรูปตำรวจที่แต่ละพรรคนำเสนอและส่งให้ กกต. ก็ไม่ค่อยมีของพรรคไหนที่ละเอียด ลงลึก และมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาใกล้ตัวประชาชน และสังคมไทยคาดหวังอย่างมาก เท่าที่ไล่ดูก็มีนโยบายของพรรคประชาชาติที่มีความละเอียดและดูจะเข้าใจปัญหามากที่สุด

 


          5 ปีของคสช.งานปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร คงต้องรอรัฐบาลเลือกตั้งว่าจะสานงานนี้ต่อ หรือจะปล่อยให้มีคดีดังที่เต็มไปด้วยประเด็นคาใจเหมือนเดิม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ