คอลัมนิสต์

"3 ก๊ก 1 กั๊ก" เดดล็อกหลังเลือกตั้ง 62

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต้องบอกเลยว่าเลือกตั้งงวดนี้มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ และวัดใจนักเลือกตั้งชนิดลุ้นกันนั่งไม่ติด

          สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 การวิเคราะห์การเมืองหลังเลือกตั้งกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม ตั้งแต่หัวไร่ปลายนายันล็อบบี้เลาจน์ในโรงแรมหรูระยับ 

          จากการประเมินผลสำรวจของสำนักโพลล์ต่างๆ รวมถึงบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบางแห่ง พบว่าจำนวนส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อจำของพรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส.รวม 130-150 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 90-100 คน, พรรคพลังประชารัฐ 80-90 คน, พรรคภูมิใจไทย 38 คน, พรรคอนาคตใหม่ 30 คน, พรรคเสรีรวมไทย 15-20 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 10-15 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 20 คน, พรรคชาติพัฒนา 15 คน, พรรคประชาชาติ 12 คน, พรรคเพื่อชาติ 10 คน และที่เหลือกระจายไปยังพรรคอื่นๆ

 

ก๊กทักษิณ-ฝ่ายค้าน

          ทุกสำนักโพลล์ทุกสำนักข่าว เชื่อว่า พรรคเพื่อไทย” จะได้เสียงจำนวนมากที่สุด แต่ก็ประสบปัญหาในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ “พรรคไทยรักษาชาติ” ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปแล้ว

          แผนเพื่อไทยโกยส.ส.เขต และไทยรักษาชาติเก็บแต้มสะสมบัญชีรายชื่อต้องสะดุด ความหวังที่เหลือของฝ่ายชินวัตร จึงต้องอาศัยพรรคเพื่อชาติ, พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย กวาดแต้มให้ได้มากที่สุด

 

"3 ก๊ก 1 กั๊ก"  เดดล็อกหลังเลือกตั้ง 62

 

          สถานการณ์การเลือกตั้ง 2562 ต่างจาการเลือกตั้ง 2554 ไม่อาจจุดกระแส “นารีขี่ม้าขาว” ได้ เพราะภาพลักษณ์ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” เป็นนักการเมืองหน้าเก่า บอบช้ำ ไม่สดใหม่เหมือนตอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสนาม

          อีกประการหนึ่ง “พลังคนเสื้อแดง” อ่อนแรง และถูกแยกสลาย ไม่คึกคักและเข้มข้นเหมือนปี 2554 รูปธรรมแห่งพรรคเพื่อชาติให้คำตอบได้ดีว่า รากหญ้าเสื้อแดงไม่เหมือนเก่า

 

ก๊กประยุทธ์-รัฐบาล

 

          นักวิเคราะห์การเมืองรุ่นเก๋าสรุปว่า พรรคพลังประชารัฐ” ในชั่วโมงนี้ยิ่งกว่าพรรคสามัคคีธรรม เพราะมีมุ้งย่อยอยู่ในพรรคนี้ประมาณ 10 กลุ่ม แต่ในความหลากหลายก็กลายเป็นจุดแข็งของพรรค เพราะมุ้งเหล่านี้มีนักเลือกตั้งมืออาชีพเป็นแม่ทัพ ซึ่งชำนาญการเลือกตั้งในพื้นที่ชนบท

          นักเลือกตั้งอย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, วิรัช รัตนเศรษฐ, อนุชา นาคาศัย และอีกหลายคน ผ่านสนามรบเลือกตั้งมาโชกโชน รู้ดีว่ากติกาเลือกตั้ง “บัตรเดียว” และทุกแต้มถูกนับรวมหมด ทำให้มืออาชีพมีวิธีการ “เก็บแต้ม” เป็นระยะๆ โดยไม่รอนาทีสุดท้าย

 

"3 ก๊ก 1 กั๊ก"  เดดล็อกหลังเลือกตั้ง 62

 

          สังเกตได้จากการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีเวทีปราศรัยมากที่สุด และระดมคนได้เวทีละ 1-2 หมื่นคน โดยเฉพาะในพื้นที่อีสาน

           สำหรับแนวร่วมที่ประกาศชัดว่าหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกสองพรรคคือ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา แม้หัวหน้าพรรคหรือผู้ชี้นำพรรค มิได้ลั่นคำว่าหนุนลุงตู่ แต่วงในก็รู้กันดีว่าพวกเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ รวมถึงพรรคพลังท้องถิ่นไท นำโดย ชัชวาลล์ คงอุดม

 

ก๊กปชป.-ชิงตั้งรัฐบาล

          เกมไม่เอาลุงตู่ของ “พรรคประชาธิปัตย์” นั้น มุ่งหวังที่จะดึงการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบทักษิณและไม่ปลื้มลุงตู่ เลยขอเป็น “ทางเลือกใหม่” ในโค้งสุดท้าย

การเลือกตั้งปีนี้ พรรค ปชป.ประสบปัญหาใหญ่ ถูกมองว่าเป็น “พรรคเครื่องเคียง” จึงไม่มี “สปอนเซอร์” รายใหญ่ให้การหนุนช่วย บวกกับขาด “แม่บ้านใจถึง” แบบสุเทพ เทือกสุบรรณ พลอยทำให้ขุนพลในสนามรบทำงานลำบาก

 

"3 ก๊ก 1 กั๊ก"  เดดล็อกหลังเลือกตั้ง 62

 

          ด้วยเหตุนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงตั้งโต๊ะแถลงไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ กระชากเรตติ้งให้ ปชป.มีราคา และดึงแต้มในกรุงเทพฯ และภาคใต้ ไม่ให้ไหลไปที่พรรคอนาคตใหม่

 

 

ก๊กสายกั๊ก-อนุทิน

          ว่ากันตามจริง “เนวิน ชิดชอบ” ผู้มีบารมีเหนือพรรคภูมิใจไทย มีสัญญาใจกับกลุ่มบูรพาพยัคฆ์มาแต่สมัยตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์

          มาถึงเลือกตั้ง 2562 พรรคภูมิใจไทยยุค “อนุทิน ชาญวีรกูล” มีการรีแบรนด์ภูมิใจไทยให้เป็น “พรรคไม่มีสี” หรือสลัดภาพ "พรรคทรยศนายใหญ่” หวังซื้อใจคนอีสานและเหนือ

 

"3 ก๊ก 1 กั๊ก"  เดดล็อกหลังเลือกตั้ง 62

 

          ฉะนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงเป็น “ขั้วกั๊ก” ที่รอวันจับมือได้ทั้งสองก๊กเพื่อไทยและก๊กประยุทธ์ ขณะเดียวกัน “เนวิน” ผู้มากด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่เครือข่าย “กลุ่ม 16” รวมเสียงพลิกเกมเป็น “ขั้วทางเลือก”

         ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมก่อนวันหย่อนบัตรโดยภาพรวม “3 ก๊ก 1 กั๊ก” เชื่อว่าหลังเลือกตั้งฝุ่นตลบแน่ และอาจเข้าสู่สถานการณ์ “เดดล็อกทางการเมือง” เนื่องจากไม่มี “ขั้วไหน” ได้เสียงข้างมากโดยเด็ดขาด

        ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดว่าต้องเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายในกี่วัน กี่เดือน ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้เลือกภายใน 30 วัน นับแต่ประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ต่อได้แบบไม่มีกำหนด แถมยังมี ม.44 อยู่ในมือ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ