คอลัมนิสต์

เอาใจช่วย'การบินไทย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน [email protected]

 

 

          ‘ดับเครื่องชน’ ขอเป็นสื่อกลางนำเสนอจดหมายจากคุณ ‘ไพศาล’ วิภาวดี ร้องเรียนผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ได้ตรวจสอบความจริงเกี่ยวกับการซื้อเครื่องบินของ ‘การบินไทย’ สายการบินแห่งชาติ

 

          ในอดีตการบินไทยมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มจนเป็นสาเหตุให้การบินไทยขาดทุนและหากไม่ปรับปรุงการบริหารงานก็จะถึงขั้นล้มละลายเหมือนแจแปนแอร์ไลน์

          เครื่องบินบางรุ่นที่เข้าประจำการในการบินไทย ไม่เหมาะสมกับเส้นทางบิน ค่าซ่อมบำรุงสูง กินน้ำมัน และขายต่อไม่ได้ ต้องจอดตากแดดฝนที่ดอนเมืองและอู่ตะเภา อีกไม่นานก็จะเป็นเศษเหล็ก

          ที่ผ่านมาการบินไทยเหมือนขุมทองที่ผู้มีอำนาจและนักการเมืองบางคนส่งคนของตัวไปแสวงหาผลประโยชน์ ไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี

          ผู้บริหารระดับสูงขาดความรู้ความสามารถในธุรกิจการบิน ซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้การบินไทยมีปัญหาไม่เหมือนสายการบินเอกชนที่กำไรมหาศาล

          ถึงเวลาแล้วที่จะปรับปรุงตรวจสอบเพื่อให้ ‘การบินไทย’ เป็นสายการบินแห่งชาติเป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยตลอดไป
อ๊อด เทอร์โบ


 เครื่อง ‘การบินไทย’ เป็นเศษเหล็ก
 เรียน คุณอ๊อด เทอร์โบ

          ผมทำงานอยู่การบินไทยมานานและแม้จะเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังมีความรักผูกพันและห่วงใยสายการบินแห่งชาติของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการซื้อเครื่องบิน ซึ่งหวั่นใจว่าจะเกิดความผิดพลาดเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

          อะไรคือความผิดพลาดในอดีต ?

          บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ นร 1102/8853 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ได้เสนอให้บริษัทการบินไทยทบทวนโครงการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 จำนวน 3 ลำ ซึ่งรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจในช่วงเลานั้นไม่ฟังคำทักท้วงจากสภาพัฒน์ ตรงกันข้ามกลับเห็นชอบตามมติคณะกรรมการบริษัทฯ ในช่วงนั้น ให้ซื้อ A340-500 (ปัจจุบันหยุดผลิตไปแล้ว) เพิ่มจาก 3 ลำ เป็น 4 ลำ และซื้อ A340-600 (ปัจจุบันหยุดผลิตไปแล้ว) เพิ่มจาก 5 ลำ เป็น 6 ลำ

          ในเวลาเดียวกันได้เห็นชอบให้บริษัทจัดหา เครื่องบินแบบ A380 จำนวน 6 ลำ รวมเป็นเงินลงทุนประมาณแสนกว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทั้ง A340-500/600 ยังจอดตากแดดตากฝน เพื่อรอการขายอยู่ที่สนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภา เป็นเวลาหลายปีแล้ว ยังไม่สามารถขายได้ เพราะเป็นเครื่องบินที่ไม่มีใครต้องการในตลาดการบิน

          เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 แอร์บัส ได้ประกาศหยุดผลิตเครื่องบินแบบ A380 ภายในปี 2021 สิงคโปร์แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแรก ที่ส่งคืนเครื่องบิน A380 แก่ผู้ให้เช่าและผู้ให้เช่าเริ่มถอดชิ้นส่วนของเครื่องบินดังกล่าวขายเป็นอะไหล่ เพราะไม่สามารถหาผู้เช่าต่อได้ เครื่องบิน A380 ของการบินไทยคงจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันในอนาคต

          การบินไทยได้รับมอบเครื่องบิน A380 เมื่อปี 2555 และตามนโยบายค่าเสื่อมที่ 20 ปี ทำให้คงต้องใช้งานเครื่องบิน A380 ไปจนถึงปี 2575 และหวังว่าคงจะไม่นำ A380 ทั้ง 6 ลำ ไปจอดเป็นเศษเหล็กเพื่อรอการขายเหมือน A340-500/600

          โครงการต่างๆ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และหนึ่งในโครงการนี้คือ ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ที่บริษัท การบินไทยฯ จะร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องบินคือ บริษัทแอร์บัส จัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่เรียกว่า MRO (Maintenance Repair and Overhaul)

          ข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับธุรกิจการบินแจ้งว่า ราคาหุ้นของศูนย์ซ่อมสิงคโปร์ ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือ เทมาเส็ก ราคาของหุ้นดังกล่าวลดลงกว่า 30% เหตุเพราะเครื่องบินรุ่นใหม่ ถูกออกแบบมาเพื่อลดต้นทุนการซ่อมบำรุง ดังนั้นงานซ่อมบำรุงจึงลดลงมาทำให้รายได้จากการให้บริการนี้ลดลงตามไปด้วย

          ทางแอร์บัสยังไม่ได้ใส่เงินลงทุนในโครงการนี้ เนื่องจากยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาและยังไม่มีข้อยุติว่าจะมี 2 ศูนย์ซ่อม แข่งขันซึ่งกันและกัน หรือจะมีแค่ศูนย์ซ่อมแค่บริษัทเดียว ซึ่งจะกระทบกระเทือน

          ฝ่ายซ่อมบำรุงของบริษัท การบินไทย ซึ่งอาจจะเหมือนถูกบอนไซไปโดยปริยาย และหรือการที่แอร์บัสชะลอการลงทุนเพื่อรอดูการตัดสินใจในการจัดซื้อเครื่องบินรอบใหม่ว่าจะซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสจำนวนกี่ลำ

          เครื่องมือหลักในการดำเนินธุรกิจการบินคือ “เครื่องบิน” แต่การจะสร้างผลกำไรได้นั้น ต้องบริหารจัดการเครื่องบินให้ได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นเครื่องบินที่จัดซื้อเข้ามาจะต้องตอบโจทย์การให้บริการที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นขนาดเครื่องบิน สมรรถนะของเครื่องบิน การซ่อมบำรุงและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการเพื่อจะนำไปใช้ให้เหมาะสมกับเส้นทางการบิน

          การจัดซื้อเครื่องบินต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี นับจากสั่งซื้อจากผู้ผลิต จึงจะส่งมอบเครื่องบินได้ เพราะผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายใหญ่ในโลกนี้มีแค่ 2 รายเท่านั้น

          ข่าวล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562 ระบุว่า การบินไทยเร่งเสนอแผนการจัดซื้อเครื่องบินฝูงใหม่จำนวน 38 ลำ

          ความผิดพลาดในการจัดซื้อเครื่องบินในอดีต เป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้บริหารการบินไทยต้องตระหนักและพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะจัดซื้อเครื่องบินในครั้งต่อไป 
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ผู้บริหารการบินไทยในยุคนี้มีความรู้ความสามารถและความรักในสายการบินแห่งชาติ ตลอดจนปรารถนาดีอยากให้บริษัทกลับมาเติบโตมีผลกำไรและรุ่งเรืองเหมือนในอดีต จึงขอเอาใจช่วยผู้บริหารการบินไทยในการพิจารณาเลือกแบบของเครื่องบินและเครื่องยนต์โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมือง

          นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นใน ‘การบินไทย’ แดนสนธยา
ไพศาล (วิภาวดี)


logoline

ข่าวที่น่าสนใจ