คอลัมนิสต์

พิษร้อนพรรคการเมืองแอบปล่อยผี "โฉนดที่ดิน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ



 
          ทุกครั้งที่มีการส่งทีมสำรวจข้อมูลไปจับเข่าคุยกับ “ชาวบ้าน” ถามว่าปัญหาหนักอกหนักใจที่ทำให้เดือดร้อนมากที่สุดคืออะไร หนึ่งในคำตอบที่รัฐบาลทุกยุคสมัยได้รับตรงกันคือ “ปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย” ทำให้พรรคการเมืองที่กำลังจะลงสู่สนามแข่งขันหาเสียงเลือกตั้ง ต้องพยายามหยิบยกเรื่องแจก “โฉนดที่ดิน” มาเป็นไฮไลท์เรียกคะแนนนิยม

 

 

          ข้อมูลเบื้องต้นจากกรมที่ดินระบุว่า ในจำนวนที่ดินทั้งหมดประมาณ 320 ล้านไร่นั้น มีการแบ่งให้ 4 หน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ได้แก่
          1.กรมป่าไม้ ดูแลพื้นที่ป่าสงวนประมาณ 145 ล้านไร่ (45%) 
          2.กรมที่ดินดูแล 130 ล้านไร่ (40%)
          3. “ส.ป.ก.” หรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดูแล 35-40 ล้านไร่ (11%)
          4.กรมธนารักษ์ ดูแลที่ดินราชพัสดุพื้นที่ 10 ล้านไร่ (3%)


          ดูเหมือนว่าทั้ง 4 หน่วยงานนั้น “ที่ดิน” ในความรับผิดชอบของ “ส.ป.ก.” จะเนื้อหอมมีคนสนใจอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากสุด โดยเฉพาะพรรคการเมืองกำลังเอาไปใช้เป็นนโยบายเพิ่มคะแนนเสียงเลือกตั้ง

 


          พรรคไหนบ้างที่สนใจเรียกคะแนนเสียงด้วยนโยบายแจกที่ดิน ?
          ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินสายเป็นประธานในพิธีมอบคืนโฉนดที่ดินและทรัพย์สินคืนประชาชน โดย “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน” คืนโฉนดที่ดินทั่วทั้งประเทศไปประมาณเกือบ 2,000 ฉบับ มูลค่ารวมกว่า 2,500 ล้านบาท ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ได้ใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก ถึงขนาดพรรคพลังประชารัฐเอาไปเป็นแนวทางปูพรมหาเสียงในนโยบายของพรรค ที่เปิดตัวในชื่อ นโยบายเกี่ยวกับการแจกที่ดิน “โฉนดทองคำ”

 

 

พิษร้อนพรรคการเมืองแอบปล่อยผี "โฉนดที่ดิน"

 


          “ธนกร วังบุญคงชนะ” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ “โฉนดทองคำ” ว่าเป็นนโยบายที่ได้หลังลงพื้นที่รับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกรหลายจังหวัด ส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยเปลี่ยน “ส.ป.ก.” เป็นโฉนดที่ดิน และจากการสำรวจปัจจุบันพบการถือครองเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 4.8 ล้านครอบครัว กว่า 30 ล้านไร่ แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนหรือทำธุรกรรมต่างๆ ได้ มีเพียงค้ำประกันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้ทำนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด โดยจำกัดสิทธิเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น เชื่อว่านโยบายนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่พี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้น




          ทั้งนี้ รายละเอียดนโยบาย “โฉนดทองคำ” จำนวนกว่า 30 ล้านไร่ ของพรรคพลังประชารัฐยังไม่ชัดเจนมากนัก น่าจะออกมาในรูปแบบการปรับเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็น “ใบสลักสิทธิ์” เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปี 2518 ที่ระบุไว้ว่า ส.ป.ก. เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ต้องมีฐานะยากจน

 

 

พิษร้อนพรรคการเมืองแอบปล่อยผี "โฉนดที่ดิน"

 

 


          พรรคพลังประชารัฐเสนอให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ใหม่เพื่อให้สามารถนำที่ดินไปทำโรงงาน เขตอุตสาหกรรม เพื่อการพาณิชย์ ท่องเที่ยว หรือรีสอร์ทสุขภาพ เน้นให้นำไปใช้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0


          “สุชาติ ตันเจริญ” ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ อธิบายให้สื่อมวลชนฟังว่า ตอนนี้ไทยมีคนจน 2.8 ล้านครอบครัวที่ได้สิทธิ์ในการเป็นคนจนแบบถาวร เพียงแก้กฎหมายไม่กี่บรรทัดด้วยการให้เปลี่ยนมือที่ดินได้ ไม่ใช่เฉพาะทายาทเท่านั้น แต่ต้องออกแบบใหม่ให้ใบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เปลี่ยนเป็นใบสลักสิทธิ์ นำไปซื้อ ขาย โอน เช่า ต้องเสียภาษี ค่าธรรมเนียม ใช้หลักการใกล้เคียงกับกรมธนารักษ์ และกรมที่ดิน จากที่ดินผืนเดิมที่มีมูลค่าราคาเพียงไม่กี่หมื่นบาท ต่อไปก็จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในทันที เป็น 10-30 เท่า หากทำครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ดิน 30 ล้านไร่จะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 10 ล้านล้านบาท ประชาชนจะมีโอกาสเป็นเศรษฐีมีเงินมีรายได้หลายแสน หรือหลายล้านบาทต่อคนต่อครอบครัว ประชาชนสามารถเปลี่ยนจากการทำนาทำไร่ขาดทุนซ้ำซาก ยากจนถาวร มาเป็นการทำรีสอร์ทรองรับนักท่องเที่ยว สร้างตึกแถวค้าขาย ฯลฯ


          การวาดฝันนำทรัพยากร “ที่ดิน” มาเป็นนโยบายหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่พรรคเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” ก็เคยเสนอมาก่อนหน้านี้แล้วในชื่อนโยบายว่า “โฉนดสีฟ้า”

 

 

 

พิษร้อนพรรคการเมืองแอบปล่อยผี "โฉนดที่ดิน"

 


          ช่วงปลายปี 2561 “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายเศรษฐกิจยกระดับความเป็นอยู่คนไทย 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการโฉนดสีฟ้า” หรือการจัดทำในรูปแบบ “พ.ร.บ.โฉนดชุมชน” เพื่อให้สิทธิในการจัดการที่ดินเป็นของชุมชน ยกระดับเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐโดยกู้ผ่านธนาคารและตกทอดถึงลูกหลานได้ รวมถึงการเปิด “ธนาคารที่ดิน” ที่มีจุดประสงค์ในการเพิ่มที่ดินทำกินให้คนไทยและสะสางปัญหาโฉนดที่ดินซึ่งค้างคามายาวนาน รวมถึงเอกสารที่ดินอื่นๆ


          หลักการ “นโยบายโฉนดสีฟ้า” มี 3 ข้อด้วยกันคือ 1.ยกระดับโฉนดชุมชนเพื่อความมั่นคงของเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน 2.ยกระดับ ส.ป.ก. เพิ่มความมั่นคง และโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกร 3.ยกระดับกระบวนการแปลงเอกสารครอบครองที่ดินชนิดต่างๆ ให้เป็นโฉนดที่ดินโดยเร็ว


          นอกจากพรรคใหญ่แล้ว พรรคทางเลือก หรือ พรรคเล็กไฟแรง ก็แอบเตรียมเปิดตัวนโยบายเกี่ยวกับ “ที่ดิน” เช่นกัน เช่น “พรรคอนาคตใหม่” ประกาศเบื้องต้นว่าต้องการปฏิรูปการใช้ที่ดิน ด้วยวิธีแก้กฎหมายการจัดการที่ดินซึ่งซับซ้อนอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับและหลายหน่วยงาน พรรคจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินแล้วนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น


          ส่วน “พรรคสามัญชน” ที่เกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรมผู้ทำงานในพื้นที่ภาคส่วนต่างๆ ของไทย ระดับ “นักจิตอาสารุ่นเดอะ” หรือเอ็นจีโอที่เข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับเด็กๆ หรือชาวบ้านมาหลายสิบปี มีนโยบายจัดการที่ดินแบบเน้นหลักประชาธิปไตยฐานราก สร้างความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรที่ดิน อาจเป็นนโยบายในรูปแบบการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินป่าไม้ ที่ดินรัฐ ฯลฯ


          พรรคสามัญชนเน้นย้ำถึงการกระจายการถือครองที่ดิน ต้องให้เกษตรกรทุกครอบครัวเข้าถึงที่ดินทำกินอย่างน้อย 15 ไร่ต่อครอบครัว


          สำหรับ “พรรคพลังสังคม” ที่มีผู้นำพรรคชื่อ “วิฑูรย์ ชลายนนาวิน” อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ อ้างถึงความเชี่ยวชาญด้านแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ พร้อมเดินหน้าชูนโยบาย “โฉนดใบเดียว” แก้ปัญหาที่ดินทำกิน หวังมัดใจคนรากหญ้าแต่ยังไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจะมีการแปลงในรูปแบบใด รู้แต่เพียงว่ามีความข้องเกี่ยวกับการนำที่ดิน ส.ป.ก.มาแจกจ่ายเช่นกัน


          เช่นเดียวกับ “พรรครักท้องถิ่นไทย” เปิดตัวชูนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตร และสัญญาว่าจะมีนโยบายออกโฉนดที่ดินแทนเอกสารสิทธิ “ส.ป.ก.” เพื่อให้ประชาชนรากหญ้ามีที่ดินทำกินและสามารถนำที่ดินไปจำนองหรือค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้จากนโยบายที่ดินข้างต้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เกือบทุกพรรคล้วนแล้วแต่ต้องการข้องเกี่ยวกับ “ที่ดิน ส.ป.ก.” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เสมือนเป็นเค้กก้อนโตอันแสนโอชะ !


          แต่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาท้วงติงว่า ผืนดิน ส.ป.ก.ไม่ได้ปลดล็อกง่ายๆ ใครต้องการเข้ามาแบ่งเค้กคงต้องใช้พละกำลังมากหน่อย !?!


          เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 "กฤษฎา บุญราช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางหรือนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรด้วยการสัญญาว่า จะเปลี่ยนเอกสารสิทธิที่ดินส.ป.ก.4-01 กว่า 35 ล้านไร่ ให้เป็นกรรมสิทธิ์สามารถซื้อขายเปลี่ยนเจ้าของได้นั้น หากว่ากันตามหลักกฎหมาย “ส.ป.ก.” ยังทำไม่ได้แน่นอน เพราะกำหนดล็อกพื้นที่จัดสรรเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินเท่านั้น เมื่อมอบให้แล้วจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ ยกเว้นเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท


          “ที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 30 ล้านไร่ จัดสรรให้เกษตรกร 7–8 ล้านครัวเรือน ถ้ามีพรรคใดจะทำเรื่องนี้ ยืนยันตอนนี้ได้เลยว่ากฎหมายยังไม่เปลี่ยน และไม่เปิดช่อง” รมว.เกษตรฯ กล่าว


          การที่พรรคการเมืองกำลังหาเสียงด้วยนโยบายขายที่ดิน ส.ป.ก. 30 ล้านไร่นั้น ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะหากย้อนหลังไป “คดีแจกที่ดินอื้อฉาว ส.ป.ก.” เคยทำให้รัฐบาลถึงกับต้อง “ประกาศยุบสภา” มาแล้ว


          ย้อนไปปี 2538 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ สมัย ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีมีการแจกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01 โดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าของโครงการ แต่ปรากฏว่าการแจกที่ดินไม่ได้ทำเพื่อเกษตรกรอย่างเดียว แต่ประกาศให้ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน จนโดนฝ่ายค้านนำมาขุดคุ้ยข้อมูลและนำอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเหตุให้พรรคพลังธรรมถอนตัวจากรัฐบาลและยุบสภาในที่สุด


          เนื่องจากคำพูดของผู้มีฉายา “ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ที่ว่า “การแจก ส.ป.ก.ก็เหมือนการสอบชิงทุน คนรวย คนจน ย่อมมีสิทธิเท่ากัน”


          สุดท้ายคำพูดนี้เหมือนฝันร้าย เสียดแทงหัวใจพรรคประชาธิปัตย์จนถึงปัจจุบัน หากมีใครเอ่ยถึงนโยบายที่ดิน ส.ป.ก.


          “วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข” เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงแผนปีงบประมาณ 2562 ที่ตั้งเป้าจัดสรรที่ดินเพื่อให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์เพิ่มอีก 63,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ รวมทั้งดำเนินภารกิจในการตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดิน เพื่อได้รับทราบข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้ดำเนินการจัดสรรไปแล้ว จำนวน 35 ล้านไร่ เกษตรกร 2.8 ล้านครัวเรือน ว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง คือ ทำการเกษตร และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยสั่งการให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ เร่งดำเนินการตรวจสอบ


          “อุบล อยู่หว้า” ผู้คลุกคลีกับปัญหาที่ดินของเกษตรกรมาหลายสิบปี กล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายโฉนดทองคำและโฉนดสีฟ้าของพรรคการเมืองว่า เป็น “ความปรารถนาของนายทุน” ที่จะเอาที่ดินสวยๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยมาเป็นของตน โดยผ่านการให้สิทธิซื้อขายแก่ชาวบ้านก่อน แล้วค่อยไปฮุบรวมขอซื้อมาตอนหลัง
  “ขนาดตอนนี้กฎหมายบังคับห้ามซื้อขาย หรือกำหนดให้การซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโมฆะ พวกนี้ยังแอบไปทำสัญญาเงินกู้กับชาวบ้าน เพื่อให้ตัวเองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เหมือนกับเป็นการซื้อขายแบบปากเปล่า รู้ๆ กันกับพวกนายทุน หรือนักธุรกิจอยากได้ที่ดิน ส.ป.ก. เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สวยงาม อยู่ใกล้ป่าสงวน ใกล้แม่น้ำ ทะเล ภูเขา วิวสวยๆ ทั้งนั้น ที่นักการเมืองบางคนมาบอกว่า เป็นพื้นที่แหล่งเสื่อมโทรม ก็เป็นข้ออ้างน่ารังเกียจมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ พื้นที่รอบทุ่งดอกระเจียว จ.ชัยภูมิ ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งนั้น ถึงได้ยังคงความสวยของธรรมชาติไว้ได้ ถ้าพรรคการเมืองไหนอยากปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรจริง ต้องเน้นเอา ส.ป.ก.มาเป็นโฉนดชุมชน ให้ชาวบ้านดูแลกันเอง”


           ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรข้างต้นอธิบายต่อว่า โฉนดชุมชน คือวิธีการจริงใจที่สุดที่นำ ส.ป.ก.มาจัดสรรให้ชุมชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หรืออาจซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้เฉพาะคนที่อยู่ในชุมชนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้คนอื่นมายึดถือครอง ที่ผ่านมามีการออกระเบียบเกี่ยวกับโฉนดชุมชนบ้าง แต่ไม่ได้ตั้งใจทำกันอย่างจริงจัง แค่ไปตั้งสำนักงานโฉนดชุมชน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินหรือทำเกษตรของชาวบ้านอย่างแท้จริง พร้อมกล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า


          "ถ้าพรรคการเมืองอยากปฏิรูปที่ดินเพื่อชาวบ้าน ต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการแจก ส.ป.ก. หรือไปให้สิทธิซื้อขายเปลี่ยนมือได้ เพราะจะทำให้เกิดการฮุบที่ป่าธรรมชาติสวยงามมากขึ้น หรือฮุบที่ทำแปลงเกษตร ความเหลื่อมล้ำเรื่องในการครอบครองที่ดินของคนไทยเป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องมานานกว่า 300 ปีแล้ว วิธีแก้ต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชน ไม่ใช่สิทธิปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะอ้างเป็นชาวบ้าน นายทุนหรือเกษตรกร ตอนนี้อยากแนะนำให้พรรคการเมืองทั้งหลายมาช่วยกันคิดว่า ช่วยกันเสนอว่าจะมีนโยบายโฉนดชุมชนที่ได้ผลกว่าที่ผ่านมาอย่างไร"


          คำแนะนำที่คมคายจากตัวแทนเกษตรกรที่คลุกคลีกับปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านมาทั่วประเทศไทย คงทำให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองหลายคนหยุดคิด หยุดฝันว่าจะ “ฮุบผืนดินสวยๆ” ผ่านคำกล่าวอ้างว่า เพื่อยกระดับฐานะเกษตรกร


          เชื่อว่าทั้งนโยบาย “โฉนดทองคำ” และ “โฉนดสีฟ้า” หากไม่ฟังเสียงประชาชนทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ไปฟังแค่เสียงชาวบ้านหรือหัวคะแนนเสียงไม่กี่กลุ่ม

 

          สุดท้ายจะกลายเป็น “นโยบายแจกที่ดินอัปยศ” ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยประเทศไทยอีกครั้ง...
 

          "ส.ป.ก.4-01" หมายถึง
          เอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ใน เขตปฏิรูปที่ดิน ตาม “พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518” โดยเขตปฏิรูปที่ดินหมายถึง ที่ดินที่เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาก่อน หรือเป็นที่ดินป่าเสื่อมโทรม หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ไม่รวมถึงป่าในเขตอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ หรือเขตต้นน้ำลำธาร
 
 
          หลักการสำคัญ "ที่ดิน ส.ป.ก.4-01" 
          1) ที่ดินในเขตปฏิรูปใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำประโยชน์อย่างอื่น
          2) ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จะต้องมีฐานะยากจน
          3) ไม่อนุญาตให้ซื้อขายที่ดิน ถือเป็นโมฆะ
          4) สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามีภรรยา บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา และหลาน สามารถเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อเกษตรกรรม
          5) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01
          6) รัฐสามารถเรียกคืนที่ดินได้หากตรวจสอบพบว่าประชาชนมิได้ใช้ทำการเกษตร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ